10 มิ.ย. 2020 เวลา 05:30 • ข่าว
*ทำไมเป็นหนี้สามหมื่นกว่าบาทแล้วถึงถูกยึดที่ดินได้* ? (เวอชั่นบ้าน ๆ ไม่เน้นโชวพาวศัพท์แสงรุงรัง)
1. ก่อนอื่นต้องระลึกไว้ในใจว่า เป็นหนี้ ก็ต้องคืนเขา
2. ตามข่าว ซื้อโทรศัพท์เขามา ผู้ซื้อก็มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องจ่ายตังค่าเครื่องโทรศัพท์ จะจ่ายทีเดียวหรือผ่อนจ่ายเป็นงวด ๆ ก็แล้วแต่จะตกลงกัน
3. เมื่อไม่จ่าย เจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องศาล เพื่อบังคับให้ลูกหนี้จ่าย ไม่สามารถไปยืนโหวกเหวกหน้าบ้านลูกหนี้ หรือใช้กำลังบีบบังคับให้ชำระหนี้ได้
4. ถ้าลูกหนี้ไปศาล อาจจะมีการตกลงกัน เพื่อผ่อนชำระ หรือลดยอดหนี้ แล้วแต่ความเมตตาของเจ้าหนี้ (กำ kee ดีกว่ากำ tod 💩)
5. ถ้าลูกหนี้ไม่ไปศาล โดยเหตุว่าไม่รู้ว่าโดนฟ้อง หรือรู้แล้วไม่ไป (หมายศาลส่งไปตามทะเบียนบ้าน มีผู้รับ กฎหมายถือว่ารู้แล้ว อ้างไม่ได้) ศาลก็จะให้ลูกหนี้ แพ้ฟาวล์ (เรียกว่า ขาดนัด) เพราะ ไม่มาสนามแข่ง (ไม่แข่งยิ่งแพ้)
6. เมื่อลูกหนี้แพ้ เจ้าหนี้ก็จะเริ่มกระบวนการเอาตังคืน ซึ่งเรียกว่า "การบังคับคดี"
7. เจ้าหนี้จะบุกเข้าไปบ้านลูกหนี้ ขนข้าวของของลูกหนี้ขึ้นรถกลับบ้านเลย ไม่ได้ ต้องมอบหมายให้ เจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นคนไปยึดทรัพย์ ซึ่งกฎหมายจะมีกำหนดอีกว่า ทรัพย์ใดยึดได้ หรือยึดไม่ได้ ส่วนนอกเหนือจากนั้น เจ้าหนี้สามารถยึดได้ตามใจชอบ จนครบจำนวนหนี้ รวมดอกเบี้ย
8. และเมื่อยึดแล้วไม่ใช่จะสามารถนำไปเป็นของตัวเองได้เลย ต้องนำมาเข้ากระบวนการประมูล ประกาศให้คนทั่วไปเข้ามาสู้ราคา ใครให้ราคาสูงสุดก็ได้ไป (เรียกว่าการ "ขายทอดตลาด") แล้วเจ้าหนี้ก็ค่อยเอาเงินที่ได้ไปเข้ากระเป๋า ส่วนที่เกินจำนวนหนี้ก็ต้องคืนให้ลูกหนี้
8. ข้อเท็จจริงตามข่าว (ไม่ทราบข้อเท็จจริงในคำฟ้อง) เจ้าหนี้เลือกที่จะยึดที่ดิน 4 ไร่ ซึ่งสุดท้ายขายได้ 5 แสน หักกับหนี้สามหมื่นกว่า รวมดอกเบี้ย ค่าขึ้นศาล ค่าทนาย แล้วเหลือ 4 แสน ก็จำต้องคืนให้ลูกหนี้ (ไปกดเว็บกรมธนารักษ์ดูราคาประเมินกันเอาเองว่าราคาที่ดินเหมาะสมมั้ย แต่ระลึกไว้ว่าราคาประเมินก็เป็นเพีงแค่ "การประเมิน" ไม่ได้บังคับผู้คนว่าต้องซื้อขายกันราคาเท่านั้นเท่านี้)
9. บางคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมไม่เลือกยึดทรัพย์อื่น ๆ ที่ราคาใกล้เคียงกับหนี้สามหมื่น ทำไมไปยึดที่ดิน อำมหิตจัง อันนี้ตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้เห็นสำนวน อาจจะเป็นเพราะว่าจากการไล่เสาะแสวงหาข้าวของของลูกหนี้ (เรียกว่า "สืบทรัพย์") ไม่พบว่าลูกนหี้มีทรัพย์สินอื่นใดอีก นอกจากที่ดินแปลงนี้ ก็ต้องยึดมันอันนี้แหละนะ เจ้าหนี้ก็ต้องกินต้องใช้ ไม่ได้ อิ่มทิพย์ 😙
10. จริง ๆ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 300 ก็เขียนไว้ว่า ถ้าจำเป็นต้องยึดทรัพย์ที่ราคาสูงกว่าจำนวนหนี้ อาจแบ่งยึดออกมาขายทอดตลาดให้พอดีกับจำนวนหนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องยึดทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้เป็นบทบังคับ จะทำหรือไม่ทำก็ได้ ยิ่งกรณีนี้ ลูกหนี้ไม่มาติดตาม ก็เสียสิทธิที่จะโต้แย้งการยึด ไปโดยปริยาย เนื่องจากการบังคับคดีสิ้นสุดแล้ว
11. ทางออกของ อดีตลูกหนี้ (เพราะหนี้หมดแล้ว) ก็คือการเจรจากับเจ้าของที่ดินคนใหม่ เพื่อขอซื้อที่ดินคืน ในราคาที่พอใจ หรือขอความเมตตาเช่าเขาอยู่เพื่อทำมาหากินต่อไป
12. การบังคับคดียังมีรายละเอียดอีกมากมาย แต่ขอนำมากล่าวถึงเฉพาะที่เกี่ยวกับเคสนี้ ทางที่ดีอย่าไปเป็นหนี้เขา หรือถ้ามีความเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินก็ต้องมั่นใจว่าเราจะเอาเงินที่กู้มาไปทำให้มันงอกเงยมากพอที่จะเลี้ยงตนเองและใช้คืนเขาได้
ขออวยพรให้ทุกคนไม่เป็นหนี้ และ Covid 19 สวัสดี
อ. ประพฤติ ฉัตรประภาชัย
น.บ. (ธรรมศาสตร์) , เนติบัณฑิตไทย, LL.M. (Cornell)
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
อนุกรรมการฯ ด้านกฎหมายและสัญญาสัมปทาน กสทช.
ที่ปรึกษา ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
ที่ปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกา
Praphrut & Partners Law Firm
ลิ้งข่าวประกอบ https://mgronline.com/live/detail/9630000059827
โฆษณา