11 มิ.ย. 2020 เวลา 09:43 • สุขภาพ
เกลื้อน !!
เกลื้อน (Pityriasis versicolor หรือ Tinea versicolor)
เป็นโรคเชื้อราของผิวหนังชั้นตื้น เกิดจากเชื้อรา Malassezia furfur ซึ่งพบได้ตามผิวหนังของคนทั่วไปเชื้อราชนิดนี้พบได้บ่อยในบริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมันมาก เช่น หน้า ต้นคอ หน้าอก และหลัง เป็นต้น
ลักษณะของผื่นในโรคเกลื้อนจะพบเป็นวงเล็กๆ ขนาดตั้งแต่ 1 มิลลิเมตรรอบรูขุมขนจนถึงรวมกันเป็นปื้นใหญ่ อาจมีสีซีดจางกว่าผิวหนังปกติข้างเคียง (hypopigmentation) หรือมีสีเข้มกว่าสีผิวหนังปกติข้างเคียง (hyperpigmentation) ก็ได้ แต่ในคนไทยมักพบเป็นแบบมีสีซีดจาง โดยรอยโรคจะมีเศษขุยละเอียดหรือสะเก็ดของผิวหนังที่แห้งซึ่งสามารถขูดออกมาได้ ในคนที่มีผิวมันอาจไม่พบขุยหรือเศษของผิวหนังอาจพบเพียงรอยด่างตามผิวหนัง โรคนี้ไม่มีอันตรายร้ายแรงเพียงแต่ส่งผลเสียถึงเรื่องความสวยงามและก่อให้เกิดความรำคาญได้เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการคันเวลาเหงื่อออกและมักเป็นโรคเรื้อรังแม้ว่าจะรักษาหายแล้วแต่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้
1
🌟🌟 กลาก กับ เกลื้อน ไม่เหมือนกัน 🌟🌟
คนทั่วไปมักสับสนระหว่างกลากกับเกลื้อนแต่ลักษณะของทั้งสองโรคนี้ต่างกัน วิธีสังเกตอย่างง่าย คือ กลากจะมีลักษณะเป็นผื่นสีแดง มีขอบเขตชัดเจน มีรูปร่างเป็นวงกลมหรือวงแหวน ขอบภายนอกมักมีสีเข้มกว่าผิวหนังด้านใน ถ้าลุกลามขยายออกมากขึ้นจะเห็นผื่นรูปวงแหวนมีขอบเขตชัดเจนยิ่งขึ้น อาจจะพบขุย สะเก็ดลอกบาง ๆ ที่ขอบวงแหวนได้ด้วย
ปัจจัยที่ส่งเสริมการเกิดเกลื้อน
1
1. ช่วงอายุ ช่วงวัยรุ่นจะพบได้บ่อยเพราะเป็นวัยที่ต่อมไขมันทำงานมากและมีการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกาย
2. พันธุกรรม เช่น คนมีอัตราการหลุดลอกออกของผิวหนังช้ากว่าปกติหรือคนที่มีผิวมันจะมีโอกาสเป็นเกลื้อนได้มากกว่าคนทั่วไป
3. ผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานที่ร้อนอบอ้าว มีเหงื่อออกมาก 🥵
4. สภาวะทุพโภชนาการ การขาดอาหารทำให้กลไกด้านภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์
5. ภาวะอื่นๆ เช่น ภาวะเครียด,การใช้ยาต้านแบคทีเรียชนิดกว้างเป็นเวลานาน,คนที่ติดเชื้อ HIV เป็นต้น
💊 วิธีการป้องกันการเป็นเกลื้อนและการรักษา 💊
1. รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล แม้ว่าเกลื้อนจะไม่ติดต่อแต่การรักษาความสะอาดก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ดังนั้น ควรอาบน้ำ ชำระร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้เหงื่อไคลหมักหมม ส่วนเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ควรจะซักและนำออกผึ่งแดดให้แห้งก่อนนำมาใช้อีกครั้ง
1
2. การใช้ยารักษา
💊 ยาทาภายนอก เช่น
- Selenium sulfide ใช้ฟอกตัว ทิ้งไว้ประมาณ 15-30 นาทีแล้วล้างออก โดยให้ใช้เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ระวังอาจเกิดอาการแสบหรือผิวหนังลอกหากทิ้งไว้นานเกินไป
- ยาทาที่มี imidazole derivatives ผสมในรูปแบบต่างๆ เช่น bifonazole, clotrimazole, econazole, miconazole, terbinafine, sertaconazole ใช้ทาบริเวณใบหน้าหรือข้อพับต่างๆ
💊 ยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทาน จะใช้เฉพาะในรายที่เป็นมาก และควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เช่น
- Ketoconazole
- Itraconazole
อ้างอิง
ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร. ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน Dermatology 2010.พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพมหานคร: โฮลิสติก พับลิชชิ่ง; 2548.
1
โฆษณา