11 มิ.ย. 2020 เวลา 13:24 • ท่องเที่ยว
มัตสึอุระ…เมืองประมงและเกษตรที่ผลิตไฟฟ้าเลี้ยงฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่น
เมื่อปี 2016 เราได้มีโอกาสติดสอยห้อยตามที่ทำงานไปดูโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น ซึ่งพอพูดถึงเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น น้อยคนจะรู้จักอำเภอมัตสึอุระ ในจังหวัดนางาซากิ ด้วยจำนวนประชากรเพียง 23,000 คน ทำให้ที่นี่เป็นเพียงอำเภอขนาดย่อม ทางตะวันตกเฉียงเหนือของภูมิภาคคิวชู แต่อำเภอเล็กๆ นี้เองที่เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่หล่อเลี้ยงฝั่งตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น
ผู้เขียนที่โรงไฟฟ้ามัตสึอุระของ J-Power ในวันฝนตกวันหนึ่ง เมื่อปี 2016
การอยู่อาศัยในเมืองเล็ก ทำให้การชมสวนอยู่กับวิถีธรรมชาติเป็นความบันเทิงเพียงไม่กี่อย่างที่หาได้ในอำเภอมัตสึอุระ จากจุดสูงสุดของสวนสาธารณะฟุโรซาน ที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชน มองลงไปไกลลิบๆ จะเห็นโรงไฟฟ้าอยู่ 2 โรง ชื่อโรงไฟฟ้ามัตสึอุระทั้งคู่ ทางขวาเป็นของบริษัทเจพาวเวอร์ (J-Power) และทางซ้ายเป็นของบริษัทคิวชู อิเล็กทริค (Kyushu Electric) รวมกำลังผลิตของทั้งสองโรงไฟฟ้า ทำให้ ณ ปี 2019 อำเภอมัตสึอุระจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าถึงประมาณ 3,700 เมกะวัตต์ โดยทั้งหมดใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง
ไกลลิบ ๆ จะเห็นปล่องของโรงไฟฟ้า 2 แห่ง
เนื่องจากการทำประมงเป็นอาชีพหลักของชาวเมือง ห่างจากโรงไฟฟ้าประมาณ 3 กิโลเมตรเป็นต้นไป จะมีกระชังปลากระจายตัวอยู่ เลี้ยงปลาจำพวก ปลาฮามาจิ ปลาไท ปลาฮิระสึ ปลาคิราเหมะ (ปลาแบน) รวมถึงขนาดใหญ่อย่างปลามากุโร่ ปลาเลี้ยงในกระชังเมื่อโตเต็มที่จะถูกนำมาพักในคลังปลาที่มีอ่างน้ำขนาดใหญ่เรียงรายแบ่งตามชนิดของปลา เรือที่ออกไปจับปลานั้น มีขนาดใหญ่มาก และจะมีอ่างน้ำใหญ่พร้อมออกซิเจนบนเรือ ทำให้ปลาถูกลำเลียงจากกระชังมายังคลังปลาโดยที่ยังมีชีวิตอยู่ คงความสดของปลาให้พร้อมส่งขายทั้งปลีกและส่ง
สหกรณ์ปลาของชุมชน
แม้จะทำประมงเป็นอาชีพหลัก แต่ชาวเมืองมัตสึอุระก็ยังไม่วายนั่งตกปลาเป็นงานอดิเรก โดยมีวิวโรงไฟฟ้าอยู่เบื้องหน้า เขาบอกว่า ตกปลาไปให้แม่บ้านทำอาหาร พวกปลาอาจิ ปลาทู เคยตกได้ตัวยาวที่สุด 30-40 เซนติเมตร วันนี้เป็นวันธรรมดา คนจึงน้อย ถ้าเป็นวันหยุดนี่แทบไม่มีที่นั่งเลย
พ่อบ้านชาวญี่ปุ่นมาตกปลากลับไปให้แม่บ้านทำอาหาร
นอกจากทำประมง การเกษตรก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพของชาวมัตสึอุระ นาข้าวและสวนผักสามารถพบเห็นได้ทั่วไปรวมถึงบริเวณข้างโรงไฟฟ้ามัตซึอุระ ที่นี่จะทำนาปีละครั้ง เพราะหน้าหนาวอากาศเย็นเกินไป ต้องสลับไปปลูกพืชอย่างอื่นแทน โดยแปลงผักดูด้วยสายตาคร่าวๆ จะเห็นต้นกะหล่ำ ต้นหอม พริกหวาน เผือก ซึ่งล้วนเป็นวัตถุดิบหลักของอาหารรสมือแม่
สวนของประชาชนที่อยู่ไม่ไกลจากโรงไฟฟ้า
นาข้าวข้าง ๆ โรงไฟฟ้า
โรงไฟฟ้ามัตสึอุระ ของบริษัท J-Power
ในการมาเยือนมัตสึอุระในครั้งนี้ เราได้มีโอกาสเยี่ยมชมโรงไฟฟ้ามัตสึอุระ บริษัท J-Power จำนวน 2 ชุด กำลังผลิตชุดละ 1,000 เมกะวัตต์ ชุดแรกเริ่มเดินเครื่องปี 1990 ใช้เทคโนโลยีสะอาดแบบ Super Critical ชุด 2 เริ่มเดินเครื่องปี 1997 ใช้เทคโนโลยีสะอาดแบบ Ultra Supercritical โรงไฟฟ้านี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ได้จากการถมทะเล ส่วนหนึ่งใช้ขี้เถ้าจากถ่านหินซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตไฟฟ้า มาเป็นวัสดุในการถมทะเลด้วย
โรงไฟฟ้ามัตสึอุระของ J-Power ใช้ถ่านหินนำเข้าจากประเทศออสเตรเลียและอินโดนีเซีย โดยมีเรือขนาด 130,000 ตัน ขนถ่านหินมาเทียบท่าที่โรงไฟฟ้าครั้งละ 2 ลำ แต่เรือไม่ได้มาทุกวัน จะสำรองถ่านหินที่ลานกองถ่านหินแบบเปิดให้เพียงพอใช้ได้คราวละ 20 วัน ถึงหนึ่งเดือน โดยรอบลานกองถ่านหินจะมีกำแพงกันลม ความสูง 18 เมตร และจะกองถ่านหินให้สูงที่ 16 เมตร แต่ในวันที่ลมแรง ก็จะเกลี่ยกองถ่านหินให้สูงเพียง 12 เมตร และฉีดพรมน้ำอยู่เสมอเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่น
ลานกองถ่านหินที่นำเข้ามาจากออสเตรเลียและอินโดนีเซีย
ถ่านหินเมื่อนำไปผลิตไฟฟ้าแล้ว จะมีผลพลอยได้เกิดเป็นขี้เถ้า ที่นอกจากจะเอาไปถมทะเลเพื่อเพิ่มพื้นที่ทำประโยชน์ ขี้เถ้าลอย (Fly Ash) ยังมีบริษัทซีเมนต์ในฮ่องกงและเกาหลีใต้รับซื้อไปผสมกับซีเมนต์ทำวัสดุก่อสร้าง โดยส่งเรือมารับถึงที่ด้วย
สำหรับมลสารจากโรงไฟฟ้า จะได้รับการบำบัดจนคุณภาพสิ่งแวดล้อมดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ก่อนระบายออกสู่บรรยากาศผ่านปล่องความสูง 200 เมตร ส่วนน้ำที่ใช้ในโรงไฟฟ้า ก็จะถูกบำบัดและรอให้อุณหภูมิเหมาะสมก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติเช่นกัน หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า มีปลาจำนวนมากแหวกว่ายอยู่ภายในบ่อพักน้ำจากโรงไฟฟ้าด้วย
บ่อพักน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว
เมื่อมีการบริหารจัดการที่ดี โรงไฟฟ้าก็ไม่ใช่สิ่งน่ากลัวนะคะ ^^
โฆษณา