15 มิ.ย. 2020 เวลา 01:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เทคนิคผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่ ไม่ตัดกล้ามเนื้อ
อาการปวดสะโพกเรื้อรัง ข้อสะโพกเสื่อม ส่งผลกระทบต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การการเดิน การขึ้นลงบันได การลุกนั่ง ไปจนถึงการนอนหลับพักผ่อน หากรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ แล้วยังไม่ดีขึ้น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม คือวิธีการรักษาที่ช่วยให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากความปลอดภัยในการผ่าตัด ผลการรักษาที่ช่วยให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนปกติแล้ว ในปัจจุบันยังสามารถพัฒนาการผ่าตัดไม่ให้มีการตัดกล้ามเนื้อ เหมือนเทคนิคในอดีต ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นสภาพร่างกายได้เร็วมากขึ้น กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติมากขึ้น
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่ แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ (Direct Anterior Approach Total Hip Replacement) เป็นการผ่าตัดเข้าระหว่างกล้ามเนื้อ Tensor Fascia Lata และ Sartorius ทางด้านหน้าของข้อสะโพก โดยแพทย์จะทำการแหวกระหว่างกล้ามเนื้อสองมัด เพื่อเข้าถึงข้อสะโพกที่มีพยาธิสภาพ จึงไม่มีการตัดกล้ามเนื้อใด ๆ ทำให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น เจ็บปวดน้อย หลังผ่าตัดสามารถเดินได้โดยไม่มีการเอียงของลำตัว (Limping) เนื่องจากการบาดเจ็บหรืออ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้รับการผ่าตัดกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น ลดความเสี่ยงของข้อสะโพกเทียมหลุดหลังผ่าตัด เนื่องจากกล้ามเนื้อด้านหลังไม่ได้ถูกตัด และด้วยเทคนิคการผ่าเข้าทางด้านหน้าช่วยให้แพทย์ผู้ผ่าตัดมองเห็น และวัดความยาวขาได้ในขณะผ่าตัด จึงช่วยเพิ่มความแม่นยำในการควบคุมความยาวของขาให้เท่ากัน เหนือกว่าวิธีเดิมที่นอนตะแคง ซึ่งการวัดมีความคลาดเคลื่อน เมื่อร่วมกับการใช้ C-arm X-ray ยิ่งช่วยให้การหาตำแหน่งข้อเทียมทำได้ถูกต้องกว่าวิธีเดิมในอดีต
การผ่าตัดข้อสะโพกเทียมแนวใหม่ ไม่ตัดกล้ามเนื้อที่โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต มีขั้นตอนดังนี้
1.ผู้ป่วยจะเข้ารับการตรวจ และให้คำปรึกษาโดยศัลยแพทย์ข้อสะโพกผู้ทำการผ่าตัด ทีมงาน ข้อมูลเกี่ยวกับโรค การรักษาการผ่าตัด ข้อเทียมที่ใช้* การดูแลในโรงพยาบาล การดูแล และเตรียมที่บ้านในภายหลังออกจากโรงพยาบาล
2.ผู้ป่วยจะได้รับเข้าทำการตรวจประเมินสุขภาพและเตรียมความพร้อมร่างกาย โดยอายุรแพทย์ และวิสัญญีแพทย์ ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำโดยทีมสหสาขาวิชาชีพให้ความรู้เป็นรายบุคคลก่อนการผ่าตัด การดูแลหลังผ่าตัด ข้อควรระวัง
3.ศัลยแพทย์ข้อสะโพกจะนำภาพถ่ายรังสีทำการตรวจวัดเพื่อวางแผนผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม เพื่อให้ได้ขนาดและตำแหน่งข้อสะโพกเทียมได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ในขณะผ่าตัด
4.ในวันผ่าตัดผู้เข้ารับการผ่าตัดจะงดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ได้รับสารน้ำทางเส้นเลือด ในการระงับความรู้สึกผู้ป่วยสามารถปรึกษาวิสัญญีแพทย์ในการเลือกใช้การวิธีการระงับความรู้สึกผ่านทางไขสันหลัง หรือการดมยาสลบ โดยระยะเวลาในห้องผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 2.5-3 ชั่วโมงในกรณีเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมข้างเดียว และ 4-5 ชั่วโมงในกรณีเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม 2 ข้าง และระยะเวลาสังเกตอาการที่ห้องพักฟื้นอีก 3 ชั่วโมงจึงกลับสู่ห้องพักผู้ป่วย โดยระหว่างขั้นตอนการผ่าตัด ศัลยแพทย์ข้อสะโพกจะนำเครื่องเอกซเรย์ C-Arm มาตรวจเป็นระยะเพื่อให้มั่นใจว่าข้อสะโพกเทียมอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดเพื่อให้ความยาวขาเท่ากัน
5.หลังการผ่าตัดผู้เข้ารับการผ่าตัดที่สามารถเคลื่อนไหว ลุก นั่งบนเตียงได้ โดยการผ่าตัดข้อสะโพกเทียมวิธีใหม่ ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะไม่รู้สึกปวดบริเวณที่ผ่าตัด หรือปวดน้อยมาก แต่เพื่อย้ำความมั่นใจให้กับผู้ป่วย ทางโรงพยาบาลจะมีการให้ยาระงับอาการปวดซึ่งผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถควบคุมในการให้ยาตัวนี้ได้เอง (PCA Patient Control Analgesia)
6.หลังการผ่าตัดภายใน 8-24 ชั่วโมง ศัลยแพทย์ข้อสะโพกที่ทำการผ่าตัด จะร่วมกับแพทย์กายภาพ ในการเริ่มให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดลุก นั่ง ยืน และเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยเดินที่เหมาะสม
7.ในผู้เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม 2 ข้าง หรือผู้ที่มีลักษณะการเดินยังไม่สมดุลหลังผ่าตัด แพทย์กายภาพจะปรับความสมดุลของการเดินด้วยเครื่อง Alter G เพื่อให้การเดินกลับมาสมดุล เดินเป็นปกติเร็วที่สุด
8.ระยะเวลารักษาหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแนวใหม่ แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต โดยทั่วไปใช้ระยะเวลาประมาณ 3-5 วัน ทั้งนี้ขึ้นกับอายุ และสุขภาพของผู้เข้ารับการผ่าตัด โดยอาจใช้ระยะเวลาสั้นหรือยาวนานกว่านั้น โดยถือความปลอดภัยของผู้เข้ารับการผ่าตัดเป็นสำคัญ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา