13 มิ.ย. 2020 เวลา 01:21 • การศึกษา
หมอขอเล่าขอสัมภาษณ์ : พญ. พุทธพร สอนจันทร์ จะมาบอกเล่าประสบการณ์ การสมัครเรียนต่อเฉพาะทาง น้องๆที่อยากเป็นหมอเฉพาะทางทุกคน ห้ามพลาด !!!!!!!
วันนี้เป็นวันหยุดสบายๆ ผมจึงอยากจะขอพักเรื่องราวหนักๆ มาขอนำเสนอ บทสัมภาษณ์ เกี่ยวกับ ประสบการณ์ ช่วงสมัครเรียนต่อเฉพาะทาง ของ พี่ ''หมอเนม'' ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่ผมรู้จัก
ซึ่งพี่เนม กำลังจะเรียนต่อเฉพาะทาง ออโธปิดิกส์(กระดูก)
ซึ่ง การเรียนต่อเป็นหมอเฉพาะทางสาขาต่างๆนั้น เป็นความคาดหวังของ หมอส่วนใหญ่ในประเทศไทย หลักจากจบ
เเพทยศาสตร์บัณฑิต ซึ่งหนทางการสมัครเรียนต่อเฉพาะทางนั้นจะยากลำบากเเค่ไหน ติดตามจากประสบการณ์ ของพี่เนมได้ในบทความนี้ได้เลยครับ
หมอขอเล่า : ขอบคุณพี่เนมมากนะครับ ที่สละเวลามาให้สัมภาษณ์ ก่อนอื่น ขอให้พี่เนม ช่วยเเนะนำตัวหน่อยครับ
หมอเนม: ชื่อ พญ. พุทธพร สอนจันทร์ ชื่อเล่น เนม คะ่ จบแพทย์จุฬา – พระปกเกล้า จันทบุรี (เรียนชั้นปี 4-6 ที่จันทบุรี) โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท เป็นแพทย์จุฬา รุ่น 66 หลังจบมาไปใช้ทุนที่ จ.นครนายก (รพ.นครนายก 1 ปี, รพช.บ้านนา 1 ปีกว่า, รพช. องครักษ์ 1 ปีกว่า) ปัจจุบันกำลังจะไปเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ ที่ รพ.ตำรวจ
1
หมอขอเล่า: ขอให้พี่ช่วยเล่าถึงการสมัครเรียนต่อเฉพาะทาง ของพี่หน่อยครับว่ามีขั้นตอนคร่าวๆอย่างไรบ้างยากลำบากเเค่ไหน
1
หมอเนม: พี่เลือกที่จะเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางออร์โธปิดิกส์ หรือ แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ สั้นๆง่ายๆคือ สอบเข้าหมอว่ายากแล้ว หาทางเรียนเฉพาะทางยากกว่ามากนัก!!!
หมอเนม: การสมัครเรียนต่อเฉพาะทางหลักๆ แบ่งเป็น 3 ขั้น คือ ขอทุน หาที่เรียน และสมัครในเว็บส่วนกลาง
หมอเนม: ขั้นตอน ขอทุน  
เกริ่นก่อนว่า พี่เป็นแพทย์ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (ODOD) ถามว่าตอนลงมาโครงการนี้ รู้รายละเอียดแค่ไหน ตอบเลยว่ารู้แค่ว่า ใช้ทุน 12 ปี ลาไปเรียนได้ และมีทุนให้ตอนเรียนแพทยศาสตร์บัณฑิต ตอนเรียนก็ไม่ได้มีปัญหา มีก็ตอนทำงานและเรียนต่อนี่แหละ
หมอเนม : รายละเอียดเงื่อนไขมาเต็มสตรีมมาก ซึ่งในสาขาออร์โธปิดิกส์ ตามเงื่อนไขสัญญานั้น ต้องใช้ทุนอย่างน้อย 4 ปี ถึงจะมีสิทธิ์เรียนต่อสาขานี้เริ่มแรกของการขอทุนคือเราก็ต้องโทรไปถาม แต่ละ รพ ที่คาดว่าเค้าน่าจะเปิดสาขาที่เราสนใจ ซึ่งเราก็ต้องดูขนาด รพ ด้วยว่าสาขาไหนที่พอจะเปิดที่ไหนได้บ้าง ส่วนตัวเราเริ่มโทรตั้งแต่ ม.ค. ก.พ. เหมือนแบบหยั่งเชิง
และหยอดชื่อไว้ถ้าที่ รพ เค้ามีการประชุมว่าจะเปิดสาขาใด เค้าจะได้รู้ว่าสาขานี้ ถ้าเปิดน่าจะมีคนสมัครนะ เส้นทางการขอทุนส่วนใหญ่ priority จากการคัดเลือกมีหลายองค์ประกอบ เช่น ภูมิลำเนา โปรไฟล์ตอนใช้ทุน backup ซึ่ง รพ.ที่จะให้ทุนต้องประเมินคร่าวๆว่า คนที่เค้าให้ทุนต้องหาที่เรียนได้ เพื่อไม่ให้เสียเก้าอี้ในปีนั้นไป และคาดหวังว่าจะกลับมาใช้ทุนตามสัญญา
1
หมอเนม : ซึ่งสุดท้ายขั้นตอนการขอทุน ก็ผ่านไปแบบรู้ผลอยู่แล้ว เพราะแต่ละที่คือส่วนใหญ่ก็มีตัวอยู่ละ (อันนี้แล้วแต่สาขานะ ว่าเป็นสาขายอดนิยม หรือสาขาขาดแคลน อย่าง ortho ก็น่าจะจัดได้ว่าเป็นสาขายอดนิยม) —> จบด้วย ไม่ได้ทุนสักที่ เสียใจมาก เพราะก็มืดแปดด้านจริงๆไม่รู้จะมีโอกาส
ได้เรียนมั๊ยถ้าไม่มีทุน ตอนนั้นกดดันเครียดมาก ไม่รู้ว่าอนาคตตัวเองจะเป็นยังไง  .... แต่สุดท้ายก็ได้ทุนมาเรียนจนได้แต่
ได้รอบสุดท้ายจริงๆ
1
หมอเนม : ขั้นตอน หาที่เรียน
ที่ไหนๆเค้าก็อยากได้คนเก่ง เกรดงาม มีประสบการณ์โดยตรงทางออร์โธปิดิกส์ (จะมีพวกที่จบแพทย์มาแล้วไปใช้ทุนรพ.ใหญ่ๆทำงานสาขานี้อย่างเดียว)  จึงทำให้มีการสัมภาษณ์ก่อน ก่อนที่จะประกาศทุนซะอีก  ซึ่งตอนสัมภาษณ์ เราต้องตอบคำถามว่าเราจะได้ทุนมั๊ย ได้แน่มั๊ย
หมอเนม : พี่ไปสัมภาษณ์ กะเค้ามา สามที่ติดๆกัน  ผลคือ หลุดหมดเลย เสียใจมาก ร้องไห้อยู่สามวันสามคืน คิดต่างๆนานาๆ ว่าจะเอายังไงกับชีวิตดี แต่สุดท้ายโอกาสก็เป็นของเรา สุดท้ายก็ได้ที่เรียนต่อเฉพาะทางจนได้ !!!!
หมอเนม : ขั้นตอน สมัครในเว็บราชวิทยาลัย
เค้าจะให้เราเลือกได้ 5 อันดับ การสัมภาษณ์จะสัมภาษณ์เป็นรอบๆไป แต่ในความเป็นจริง มันจบตั้งแต่อันดับแรกละ เพราะทุกที่ เปิดสัมภาษณ์ ไปก่อนหมดแล้ว เก้าอี้นั่งเต็มหมดแล้ว แต่ก็จะมีบางสถาบันที่ทำตามส่วนกลาง คือ รอสัมภาษณ์ หลังสมัครในเว็บ ก็ต้องมาลุ้นกันอีกที ว่า เรามีแต้มบุญเยอะพอมั๊ย ซึ่งก็ต้องมานั่งพิจารณาเอาว่าที่ไหนเราพอลงได้ มีที่ไหนเหลือให้ลง โอกาสว่าจะได้สูงสุด สำคัญสุดคืออันดับแรก ต้องมั่นใจว่าได้แน่ๆ เพราะน้อยมากกกกที่จะสัมภาษณ์รอบ 2 สรุปการตัดสินใจเสี้ยวนาทีนั้นถูกต้อง เหมาะสมตามโอกาส ทำให้ได้ที่เรียนมา
 
หมอขอเล่า : ทำไมถึง อยากเรียน สาขา วิชา ออโธปิดิกส์ทั้งๆที่เป็นสาขาที่ไม่ค่อยมีผู้หญิงเรียน
หมอเนม : ต้องกล่าวย้อนไปถึงตั้งแต่ตอนเรียน anatomy ตอนชั้นปีที่ 2 ชอบเรียนกายวิภาค โดยตอนเรียนจะแบ่งนิสิตออกเป็นโต๊ะ  1 โต๊ะอาจารย์ใหญ่ 1 ท่าน ต่อนิสิต 6 คน ซึ่งเราจะต้องช่วยกันเรียนว่าอวัยวะแต่ละส่วนมีส่วนประกอบอะไรบ้าง กล้ามเนื้อกี่ชิ้น เอ็นกี่เส้น ซึ่งหน้าที่หลักของเราตอนนั้นคือทำหน้าที่ผ่า และแบ่งเพื่อหาอวัยวะตามหนังสือให้เห็นจริง ตั้งแต่เรียนกายวิภาค เริ่มมีความรู้สึกชอบ
 
หมอเนม : ต่อมาตอนเรียนชั้นคลินิก (ปี4-6) ที่ รพ.พระปกเกล้า จะต้องวนเรียนภาควิชาออร์โธปิดิกส์ ตอนเรียนชั้นปีที่ 5 ซึ่งตอนนั้นหลังจากได้ขึ้นเรียนภาควิชานี้ก็ชอบในทุกๆอย่างของวิชา ชอบหัตถการ ชอบใส่เฝือก ชอบเข้าเคสผ่าตัด อยู่เวรวันเว้นวัน แต่รู้สึกสนุก ไม่รู้สึกเหนื่อย รู้สึกอยากตื่นไปเรียนไปทำงาน  ผนวกกับ ในอดีตเหมือนจะมีความผูกพันกับหมอกระดูก เพราะเป็นเด็กซน ชอบมีเหตุการณ์ให้ต้องใส่เฝือกอยู่หลายครั้ง จนหมอเองทักว่าเจอกัน อีกแล้ว ถ้าเทียบกับความรักก็คงเหมือนรักแรกพบ
 
หมอขอเล่า : เคยท้อเเท้บ้างไหม มีวิธีสร้างกำลังใจให้ตัวเองอย่างไร
 
หมอเนม :  ตอนเรียนแพทย์ 6 ปี ทำงานใช้ทุน ไม่เคยท้อแท้เท่ากับการหาที่เรียนต่อเฉพาะทาง ช่วงที่เสียใจที่สุดก็ได้รับคำปรึกษาจากครอบครัว และผู้ใหญ่หลายๆท่าน ให้กำลังใจ หาแนวทางช่วยเหลือ แม้กระทั่งพาไปทำบุญไหว้พระ บนบานศาลกล่าว ทำให้ผ่านจุดที่เสียใจมาได้
1
หมอขอเล่า : มีอะไรฝากถึงน้องๆ ที่จะกำลังจะสมัครเรียนต่อเฉพาะทางหรือกำลังสมัครเรียนเเพทย์ไหมครับ
หมอเนม : สำหรับน้องที่กำลังเรียนหรือกำลังใช้ทุน พี่ว่าลองให้เวลาตัวเองคิดดูดีดี ว่าอนาคตข้างหน้า 10 ปี 20 ปี เราอยากเห็นตัวเองอยู่ตรงไหน ในลักษณะไหน หากไม่แน่ใจว่าอยากเรียนอะไรก็ค่อยๆคิด ลองลิสต์ๆมาว่าเราชอบทำงานลักษณะไหน ชอบใช้ชีวิตแบบไหน สาขาที่จะเรียนอาจจะชัดเจนขึ้น เพราะบางทีสาขาที่ชอบเรียนอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ของการใช้ชีวิตของน้องก็ได้
 
หมอเนม : แต่ละคนมีแต่ละเส้นทาง บางทีการเรียนต่อเฉพาะทางอาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของชีวิต มีพี่หมอหลายๆคนก็มีความสุขกับการเป็นแพทย์ทั่วไป ในรพ. ชุมชน  หรือ รพ.เอกชน มันอยู่ที่ว่าที่สุดแล้ว เป้าหมายของน้องคืออะไร
5
หมอขอเล่า : ผมขอขอบคุณพี่เนมมากนะครับที่ให้เกียรติสัมภาษณ์ในวันนี้
หมอเนม : ด้วยความยินดีเลยค่ะ
บทสัมภาษณ์นี้เป็นตัวอย่างได้ดีนะครับว่า ชีวิตการเรียนของเเพทย์นั้นค่อนข้างยาวนานขนาดหลังจากจบ เเพทยศาสตร์ บัณฑิตเเล้วก็ยังต้องมีเส้นทางในการเเข่งขันเรียนต่อ เฉพาะทางอีก !!!!
ผมเองก็รู้จักกับพี่เนมเป็นการส่วนตัว เเละ เห็นว่าพี่เค้าตั้งใจ
ในการที่จะเป็น หมอ กระดูก(ออร์โธปิดิกส์) จริงๆ เเม้ว่าพี่เค้าจะเจออุปสรรคหลายอย่างเเต่ก็ฝ่าฟันจนได้เรียนต่อเฉพาะทางเป็นผลสำเร็จนะครับ
ผมก็หวังว่าบทความนี้จะเป็น ตัวอย่าง เเละ เป็นกำลังใจให้น้องๆทุกคนที่กำลังจะสมัคร เรียนต่อ เฉพาะทาง หรือ กำลัง
จะสมัครเรียน เเพทย์ทุกคน หนทางข้างหน้าอาจจะยากลำบาก เเต่ถ้าเราตั้งใจเเน่วเเน่ สุดท้ายทุกอย่าง จะผ่านไปได้ด้วยดี
นะครับ
โฆษณา