4 ก.ค. 2020 เวลา 05:43 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไมราคาหุ้นกับเศรษฐกิจถึงดูไม่สอดคล้องกัน? เรื่องนี้ George Soros
มีคำตอบ
หลายคนคงสงสัยว่าในช่วงที่เกิดวิกฤต COVID-19 นั้น ทำไมตลาดหุ้นในหลายๆประเทศ รวมถึง SET Index ของประเทศไทยเองถึงพลิกฟื้นกลับไปอย่างรวดเร็วก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นเสียอีก
แถมไตรมาส 2 ที่น่าจะโดนหนักที่สุด งบก็ยังไม่ออกมาให้เห็นว่าสาหัสขนาดไหน เศรษฐกิจจะไปต่อได้หรือไม่ก็ไม่รู้ แต่หุ้นฟื้นกลับไปจนน่าแปลกใจเหมือนแทบไม่อะไรขึ้นซะอย่างนั้น
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สามารถอธิบายได้โดยทฤษฎีของ George Soros
George Soros เป็นชาวฮังกาเรียน เชื้อสายยิว ที่อพยพออกจากประเทศตั้งแต่ยังเด็กจากการที่นาซีเยอรมันบุกยึดประเทศฮังการี เพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ และย้ายไปยังสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา
เขาได้ก่อตั้งกองทุน Quantum Fund และทำผลตอบแทนได้เฉลี่ย 32% ต่อปีจนได้รับการยกย่องให้เป็น "พ่อมดทางการเงิน"
สำหรับคนไทยเรามักจะจดจำ George Soros ในแง่ที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะวิกฤตค้มยำกุ้งเมื่อปี พ.ศ.2540 เกิดขึ้นเพราะชายผู้นี้เข้ามาถล่มค่าเงินบาทจนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องตัดสินใจลอยตัวค่าเงิน และส่งให้ Soros อุ้มกำไรกลับไปถึงประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ
แต่ในแง่ของการลงทุน ผมเชื่อว่ามีบางส่วนที่เราสาารถเรียนรู้จากเขาได้
ทฤษฎีของ George Soros ที่จะมาอธิบายความไม่สมดุลของราคาหุ้นกับเศรษฐกิจมีชื่อว่า "ทฤษฎีการสะท้อนกลับ (Reflexivity Theory)"
ทฤษฎีดังกล่าวได้เปรียบเทียบว่า ตลาดหุ้นเป็นเสมือนภาพสะท้อนล่วงหน้าของเศรษฐกิจ ดังรูป
จะเห็นตลาดหุ้นขึ้นไปทำจุดสูงสุดก่อนที่ภาพเศรษฐกิจจริงจะขึ้นไปทำจุดสูงสุด และเช่นเดียวกันตลาดหุ้นลงไปทำจุดต่ำสุดก่อนที่ภาพเศรษฐกิจจริงจะลงไปทำจุดต่ำสุด
ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ราคาตลาดจะขึ้นลงตามความคิดและอารมณ์ของผู้ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในตลาด ณ เวลานั้น โดยนักลงทุนจะมีการคิดและคาดการณ์ไปล่วงหน้าแล้วว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว หรือมีแนวโน้มที่จะชะลอตัว
ถ้านักลงทุนคิดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับไปได้ในอนาคต นักลงทุนเหล่านั้นก็จะทำการเข้าซื้อหุ้น และ ถ้านักลงทุนคิดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงในอนาคต นักลงทุนก็จะทำการขายหุ้น จึงทำให้ราคาหุ้นเป็นภาพสะท้อนล่วงหน้าของเศรษฐกิจ
มาลองดูจากเหตุการณ์จริงกันบ้าง นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีหุ้น Dow Jones กับอัตราการว่างงานของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงมิถุนายน ค.ศ.2020
จะเห็นว่าตลาดหุ้นทำจุดต่ำสุดก่อนที่อัตราการจ้างงานจะทำจุดต่ำสุดในเวลาต่อมาตามทฤษฎี Reflexivity
แล้วเรื่องนี้สอนอะไรกับเราบ้าง?
ในช่วงวิกฤต ถ้าเกิดเรารอให้ทุกอย่างคลี่คลายแล้วจึงค่อยซื้อหุ้นแปลว่าเราจะพลาดของถูกไปหรือเรียกอีกอย่างว่า "ตกรถ" นั่นเอง
แต่ถ้าถามว่าจุดต่ำสุดอยู่ที่ตรงไหนคงจะไม่มีใครตอบได้ วิธีที่ดีที่สุดคงจะเป็นการซื้อถัวเฉลี่ย ถ้าคุณมั่นใจว่าหุ้นที่คุณประเมินอยู่ต่ำกว่ามูลค่าพอสมควรแล้ว ต่อให้หุ้นลงไปอีก 20-30% หรือ 50% คุณก็แค่ต้องซื้อเพิ่มไปเรื่อยๆตามแผนการที่วางเอาไว้ ถึงจะไม่ได้ซื้อที่จุดต่ำสุดแต่คุณก็ได้ของถูกและไม่"ตกรถ"จริงมั้ยล่ะครับ^ ^
The Owner ลงทุนหุ้นอย่างเจ้าของกิจการ
สนับสนุนให้ทุกท่านลงทุนอย่าง รู้จริง ปลอดภัย และ ยั่งยืน
โฆษณา