14 มิ.ย. 2020 เวลา 01:53
ยุทธศาสตร์ที่เรียบง่ายคือยุทธศาสตร์ที่ทรงพลัง
ในยามองค์กรมีวิกฤต ทรัพยากรอะไรก็ร่อยหรอและมีจำกัด จะทำการหลายอย่างให้เหมือนคู่แข่งที่แข็งแรงนั้นไม่มีทางทำได้ การกำหนดเป้าหมายให้ทั้งองค์กรเล็ง (focus) แล้วทุ่มทรัพยากรที่มีไปกับเรื่องที่สำคัญไม่กี่อย่างนั้น เป็นวิถีที่ผู้นำฝ่าวิกฤตจำเป็นต้องทำ แต่ที่ต้องทำไปคู่กับเรื่อง priority ไม่กี่อย่างที่สำคัญนั้น ก็คือการสื่อสารจนทั้งองค์กรเข้าใจและจำขึ้นใจ รู้ว่าตื่นมาต้องคิดต้องทำไม่กี่อย่างนี้เท่านั้น หายใจเข้า หายใจออกเป็นเรื่องนี้ ไม่ต้องคิดเรื่องอื่น พลังการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์จึงจะมา
ตอนที่ สตีฟ จ๊อบส์ ถูกตามกลับ apple ในปี 1997 ในตอนนั้น apple กำลังจะล้มละลาย และพ่ายแพ้สงครามต่อไมโครซอฟท์แบบขาดลอย จ๊อบส์นั่งพูดคุยกับผู้บริหารแล้วพบว่า apple ในตอนนั้นมีผลิตภัณฑ์เยอะจนงง ผลิตภัณฑ์เดียวก็มีหลายแบบ ไม่มีใครจำได้ครบ ไม่มีใครรู้ว่าผลิตอันนี้เพื่อลูกค้าแบบไหน ทรัพยากรของบริษัทก็ถูกกระจายไปโดยไม่มีประสิทธิภาพ สตีฟ จ๊อบส์ เลยลดจำนวน sku ลง 70% และวาด chart ง่ายๆ ให้ทุกคนเข้าใจว่าจะเน้นแค่สี่ผลิตภัณฑ์เท่านั้น คือ ทำคอมพ์แบบตั้งโต๊ะกับแบบ laptop โดยเน้นตลาด consumer และตลาดองค์กร แค่นั้น
“ การตัดสินใจว่าจะไม่ทำอะไรนั้น สำคัญพอๆกับการตัดสินใจว่าจะทำอะไร “ จ๊อบส์ให้สัมภาษณ์ในหนังสือชีวประวัติตอนพูดถึงเรื่องนี้ หลังจากทุกคนในองค์กรเข้าใจสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะเดินไปข้างหน้าอย่างง่ายๆ พลังทุกอย่างก็ถูกเค้นไปที่สี่อย่างนี้ นวัตกรรมต่างๆก็เริ่มเคลื่อน และในที่สุด apple ก็หลุดจากบริษัทที่เกือบจะล้มละลายได้..
ตอนที่ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยม microsoft ที่สำนักงานใหญ่กับคณะของธนาคารเมื่อห้าปีก่อน ก็ได้พบกับเรื่องราวคล้ายๆกันของซีอีโอที่กำลังปลุกยักษ์โบราณให้ขึ้นมาต่อสู้กับโลกเทคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วให้ได้ คุณสัตยา ในตอนนั้นเล่าให้ฟังถึงการที่ microsoft จะต้องเลิกทำอะไรหลายๆอย่างและต้องเน้นในสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นอนาคตแค่สองอย่างเท่านั้นเพื่อปรับ microsoft ที่เดินอย่างสะเปะสะปะ ทำมันทุกอย่างแต่กำลังแพ้สงครามในแทบทุกสงครามที่ลงไปเล่น
ตอนที่ผมไปเยี่ยม microsoft นั้น เป็นช่วงที่บริษัทกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น กำลังใจและผลประกอบการดีขึ้นมาก พนักงานที่ได้พบได้คุยก็ดูฮึกเหิม ผ่านไปห้าปีก็เห็นได้ว่าสิ่งที่คุณสัตยากำหนดและทำเป็นยุทธศาสตร์นั้นได้ผล เอาจริงๆแล้ววันที่ผมไปเยี่ยมในตอนนั้นก็รู้แล้วว่าคงได้ผลแน่ๆ เพราะนอกจากพนักงานจะดูฮึกเหิม เชื่อมั่นแล้ว ทุกคนที่ผมเจอพูดสองคำเหมือนกันหมดในทุก meeting เป็นสองคำที่อยู่ในใจที่คุณสัตยาฝังไว้ทุกระดับชั้น เป็นยุทธศาสตร์ที่ microsoft เลิกทำแทบทุกอย่างแล้วมาใช้พลังทั้งหมดกับสองคำนี้ และเป็นสิ่งที่ทำให้หลังจากนั้น microsoft ผงาดขึ้นมาเป็นยักษ์ในโลกเทคได้อีกครั้ง
ทุกคนในวันนั้นพูดสองคำเหมือนกันว่า mobile first cloud first…. พูดตั้งแต่ meeting แรกจน meeting สุดท้าย และพูดทุกคนที่เราคุยด้วยในวันนั้น
…….
คุณซิกเว่ เบรกเก้ อดีตเจ้านายผมที่ดีแทค ตอนที่ไปเป็นซีอีโอบริษัทยูนินอร์ที่อินเดียเพื่อหาความท้าทายใหม่ตามนิสัยของเขา ก็ได้เจอความท้าทายขั้นสุดยอดจริงๆ เพราะต้องไปตั้งและบริหารบริษัทมือถือน้องเล็กที่ขาดแคลนทรัพยากรแทบทุกอย่างเมื่อเทียบกับคู่แข่งเดิม เทคโนโลยีก็แย่กว่าคนอื่น (ตอนนั้นเป็นช่วง 3g ใครๆมีหมดแต่บริษัทนี้มีแค่ 2g อยู่) เครือข่ายก็แย่กว่าเจ้าหลักแปดเจ้าก่อนหน้าพอสมควร คนอื่นตั้งเสาครอบคลุมไปเยอะแล้ว ส่วนยูนินอร์นั้นมีอยู่เป็นหย่อมๆเท่านั้น แถมแบรนด์อะไรก็ใหม่ ฐานลูกค้าก็น้อย เป็นโจทย์ที่น่าถอดใจตั้งแต่ได้ยิน แต่ไม่ใช่สำหรับคนอย่างซิกเว่
ตอนที่เขาวางแผนสู้นั้น เขารู้ว่าในการที่จะไปต่อกรกับคู่แข่งระดับยักษ์นั้น จะไปทำบริการอะไรทันสมัยก็สู้เขาไม่ได้เพราะเครือข่ายยังล้าหลัง จะไปทำอะไรหลายอย่าง ทรัพยากรก็มีจำกัด ซิกเว่จึงกำหนดยุทธศาสตร์ง่ายๆสามข้อให้พนักงานเข้าใจถึงทิศทางว่ายูนินอร์จะเดินอย่างไรในสถานการณ์ที่ตกเป็นรองแบบนี้ ก็คือ best in basic, best in price, best in distribution
สามข้อง่ายๆเพื่อให้ทุกคนเข้าใจได้เลยว่า ตื่นเช้ามาไม่ต้องคิดเรื่อง innovation ไปสาย low cost ทำของพื้นฐานให้ดี ทำต้นทุนให้ตัวเบาจะได้ตั้งราคาบริการพื้นฐานถูกหน่อยได้ เจาะกลุ่มที่มีความต้องการพื้นฐานเป็น niche แล้วต้องขยันเดิน ขยันไปสร้างเครือข่ายการขายในที่ไกลๆที่รายใหญ่ไปไม่ถึง ทำตลาด local มากๆ เน้นสามข้อนี้เท่านั้น ไม่ต้องคิดเรื่องอื่น
ยูนินอร์ก็เลยสามารถลืมตาอ้าปากในตลาดอินเดียได้ดีในช่วงนั้น แต่เรื่องราวของประสิทธิภาพของความเข้าใจทิศทาง ซึ่งนำมาถึงความเข้าใจว่าพนักงานแต่ละคนต้องทำตัวอย่างไร พลังสูงสุดจึงจะเกิดขึ้นนั้น เป็นทีเด็ดของคุณซิกเว่ในเรื่องนี้แต่ไหนแต่ไร มีเรื่องที่เกิดขึ้นเรื่องหนึ่งยืนยันพลังตรงนั้นได้ดี เป็นเรื่องเล่าจากคนสนิทซิกเว่ที่เล่าให้ผมฟัง
เมื่อยูนินอร์เริ่มธุรกิจไปซักพัก ก็มีบอร์ดใหญ่จากนอร์เวมาเยี่ยม บอร์ดคนนี้ไม่ค่อยชอบคุณซิกเว่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอฟังการบรรยายถึงยุทธศาสตร์สามข้อ และผลการดำเนินการแล้ว บอร์ดก็ตระเวนไปพร้อมคุณซิกเว่ไปเยี่ยมร้านเล็กร้านน้อย ไปดูสภาพตลาดว่าเป็นอย่างไร
เมื่อเดินทางไปถึงเมืองเล็กมากๆเมืองหนึ่ง ในหมู่บ้านที่ไกลพอสมควร บอร์ดและคณะก็หยุดที่ร้านเพิงแห่งหนึ่ง เป็นร้านเล็กๆที่มีคนขายคนเดียว ดูโทรมๆและห่างไกลความเจริญมาก คนขายก็ไม่ใช่คนของยูนินอร์แต่เป็นดีลเลอร์เล็กๆที่รับของมาขายอีกทีเท่านั้น ในร้านนั้นก็ขายซิมการ์ดหลายยี่ห้อด้วย
บอรด์คนนั้นคงอยากแกล้งซิกเว่ให้ได้อาย หลังจากทักทายกันซักพัก บอร์ดก็ถามคนขายคนนั้นว่า รู้มั้ยว่ายุทธศาสตร์ของยูนินอร์คืออะไร…
คนขายมองหน้าบอร์ดแล้วตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “ yes sir! Best in basic best in price and best in distribution sir!”
เรียบง่ายแต่ทรงพลังแล้วฝังในใจทุกคน….. เป็นทีเด็ดหรือท่าไม้ตายของคุณซิกเว่เสมอในการกำหนดทิศทางชัดๆ ให้ทุกคนทุกระดับเข้าใจได้ง่ายๆ ทำให้ทรัพยากรหรือพลังที่มีไม่ได้มากนั้นถูกใช้ได้ตรงจุดและไปสุดเท่าที่แรงมีได้นะครับ
โฆษณา