14 มิ.ย. 2020 เวลา 02:29 • ปรัชญา
"มนุษย์ที่ยังไม่พัฒนา
กับ มนุษย์ที่พัฒนาแล้ว"
“มนุษย์ที่ยังไม่พัฒนา
จะมีความสุขจากสิ่งที่ชอบและชัง
ได้สุขจากสิ่งที่ชอบ
และ ทุกข์จากสิ่งที่ชัง
วนเวียนอยู่ในวังวน
แห่งความสุขและความทุกข์
แต่เมื่อไหร่เริ่มพัฒนา
จะได้ความสุขแบบอิสระทางปัญญา
รู้ เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง”
มนุษย์ที่พัฒนาแล้ว รู้จักสัมพันธ์
ทำให้ทั้ง ทรัพย์ภายนอก และ ทรัพย์ภายใน เป็นปัจจัยแก่กัน
"ถ้าคนเราปฏิบัติถูกต้อง ก็จะทำทรัพย์ให้เกิดขึ้นทั้งสองประการ คือทั้งทรัพย์ภายนอก และทรัพย์ภายใน และทรัพย์ทั้งภายนอกและภายในนี้ ก็มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
2
คนที่มีทรัพย์ภายใน คือ ความรู้ และความดี ก็สร้างทรัพย์ภายนอกให้เกิดขึ้น
คนที่มีทรัพย์ภายนอก เมื่อมีปัญญาและคุณธรรม คือมีความรู้และความดี ที่ทำให้รู้จักปฏิบัติต่อทรัพย์ได้ถูกต้อง ก็อาศัยทรัพย์ภายนอกนั้น สร้างอริยทรัพย์ คือทรัพย์ภายในขึ้นอีก เช่น ใช้ทรัพย์บำเพ็ญความเสียสละ ทำให้เกิดประโยชน์ สร้างสรรค์ทำความดี อาศัยทรัพย์นั้นเป็นปัจจัยเกื้อหนุนในการสร้างความดียิ่งๆ ขึ้นไป ดังที่กล่าวมาแล้ว ก็เกิดมีอริยทรัพย์ขึ้นมาเป็นคู่กัน
เพราะฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนาจึงให้ความสำคัญทั้งสองอย่าง คือ ทั้งทรัพย์ภายนอก และ ทรัพย์ภายใน แต่ท่านเน้นความสำคัญของทรัพย์ภายใน คือ "อริยทรัพย์"
คนเรานี้มีชีวิตที่เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง ทรัพย์ภายนอกเป็นวัตถุ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมสลายไป เป็นของกลางๆ จะทำให้เกิดคุณก็ได้ เกิดโทษก็ได้
เพราะฉะนั้น จึงจะต้องปฏิบัติต่อทรัพย์ให้ถูกต้อง คือ ทำให้เกิดผลในทางที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่า แต่การที่จะทำให้สำเร็จผลได้อย่างนี้ ก็คือการที่จะต้องมีทรัพย์ภายในขึ้นมาเป็นฐาน
เมื่อเรามีทรัพย์ภายใน คือ มีศรัทธา มีศีล มีหิริ มี โอตตัปปะ มีความรู้ มีความเสียสละมีน้ำใจ และมีปัญญาแล้ว ก็สามารถจะปฏิบัติต่อทรัพย์ภายนอกได้อย่างถูกต้อง และการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องนี้ ก็จะทำให้เกิดความเจริญงอกงามแก่ชีวิตทั้งตนเองและผู้อื่น คือทั้งส่วนบุคคลและแก่สังคม จนกระทั่งให้คุณค่าที่สูงสุด คือการเข้าถึงสิ่งที่ทางพระเรียกว่าโลกุตรธรรม
คนที่อยู่ในโลกนั้น เป็นธรรมดาว่า ถึงแม้มีทรัพย์แล้ว ก็จะต้องตกอยู่ในกระแสความผันผวนปรวนแปรของสิ่งทั้งหลายที่เป็นอนิจจัง
นั่นก็คือ การที่แสวงหาสร้างสมทรัพย์ขึ้นมาแล้ว ต่อมาทรัพย์นั้นก็อาจจะเสื่อมลงไป มีจำนวนลดน้อยลง แต่ถ้าเรามีอริยทรัพย์ เช่น มีความขยันหมั่นเพียร และมีความรู้ความสามารถ ก็ไม่เป็นไร เราก็สามารถจะรื้อฟื้นฐานะ สร้างสรรค์ทรัพย์ภายนอกขึ้นใหม่อีกได้"
สิ่งที่ใช้วัด...“ระดับการพัฒนาของคน”
“พุทธศาสนาย้ำเรื่องนี้ คือ หลัก“ความไม่ประมาท” ท่านเตือนว่า แม้แต่เป็นอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน หรือ พระสกิทาคามี จนถึงพระอนาคามี ตราบใดยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์แล้ว อย่านอนใจ อาจจะประมาทได้ตลอดเวลา มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่จะไม่ประมาทได้อย่างแท้จริง เพราะคนเรานี้ เวลามีความสุข อย่างหนึ่ง ยามประสบความสำเร็จ อย่างหนึ่ง หรือคราวที่เกิดความรู้สึกภูมิใจว่าเรานี้ดีแล้ว อย่างหนึ่ง สามตัวนี้มักล่อให้หย่อน หรือไม่ก็หยุดเลย พูดสั้นๆ ว่า ตกหลุมความประมาท
เมื่อประสบความสำเร็จหรือมีความสุขแล้วประมาทนั้นเห็นได้ชัด แต่คนที่มีความดี ถ้าเกิดความภูมิใจก็ต้องระวัง อย่างพระโสดาบัน ภูมิใจว่าเราได้บำเพ็ญความดีสำเร็จมาถึงแค่นี้ พอเกิดความพอใจอย่างนี้ ก็ชักจะเฉื่อย ไม่เร่งรัด ไม่กระตือรือร้น พระพุทธเจ้าตรัสเตือนพระอริยบุคคลที่เป็นอย่างนี้ว่า เธอเป็น “ปมาทวิหารี” แปลว่า “ผู้อยู่ด้วยความประมาท” ฉะนั้น อย่าได้นอนใจ ชาวพุทธต้องเดินหน้าเสมอ
ตามที่พูดมาในที่นี้ เราสามารถแบ่งมนุษย์ได้เป็น ๔ ระดับ โดยวัดจาก “มาตรฐานปุถุชน” คือ
๑. มนุษย์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานปุถุชนสามัญ
คือ พวกที่เจอทุกข์ ก็ไม่ดิ้น ถูกภัยคุกคามก็ไม่ตื่นตัว ได้แต่ท้อแท้ ระทดระทวย จับเจ่า หรือไม่ก็นอนเฉื่อย เพราะติดยากล่อม เพลินไปเรื่อยๆ ส่วนในเวลาที่สุขสบายไม่ต้องพูดถึง ก็ยิ่งเพลิดเพลินหมกมุ่นมัวเมา เรียกว่า ทุกข์ก็ไม่ดิ้น สุขก็นอนซึม หรือทุกข์ก็ซม สุขก็ซึม
๒. มนุษย์ปุถุชนสามัญ
คือ พวกที่ว่าถูกทุกข์บีบคั้น หรือถูกภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย พอสบายก็ลงนอนเสวยสุขเฉื่อยลงไป
๓. มนุษย์ที่พัฒนาแล้ว
คือ พวกที่ว่าเมื่อถูกทุกข์บีบคั้น หรือถูกภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย แต่แม้จะสุขสบายแล้วก็ยังเพียรสร้างสรรค์ต่อไป ไม่หยุด พวกนี้นับว่าเข้าสู่ทางของอารยชนแล้ว
๔. มนุษย์ที่ประเสริฐที่สุด
คือ ยามทุกข์บีบคั้น หรือภัยคุกคาม ก็ไม่พลอยทุกข์ จิตใจยังปลอดโปร่งผ่องใสอยู่ได้ แล้วก็ขวนขวายทำสิ่งที่ควรทำต่อไป หมายความว่า ในด้านการกระทำ ก็มีความเพียรพยายามสร้างสรรค์ และในด้านจิตใจ ก็มีความสุข ไม่ถูกทุกข์ครอบงำด้วย และแม้จะสุขแล้วก็ยังขวนขวายสร้างสรรค์ต่อไป
คนเราที่พัฒนาแล้ว โดยมากก็ยังได้แค่ขั้นที่ ๓ คือ ถูกทุกข์บีบคั้น หรือภัยคุกคามก็ขวนขวายจริง แต่จิตใจไม่สบาย กระวนกระวาย ทุรนทุราย แม้ว่าจะไม่ประมาทก็จริง แต่ยังมีความเดือดร้อนใจ มีความเครียดในใจ ดังจะเห็นกันมากในปัจจุบันนี้ว่า ผู้ที่ขยันหมั่นเพียรจำนวนมากมีความทุกข์ในใจด้วย เป็นคนขยันจริง แต่เร่าร้อน เครียด ซึ่งแสดงว่า ยังพัฒนาไม่ถึงที่สุด
ฉะนั้น คนในสมัยปัจจุบันนี้ ที่ว่าเป็นคนขยันหมั่นเพียร แต่จิตใจมีความเครียดมีความทุกข์นั้น จะต้องได้รับการแก้ไขให้พัฒนาต่อไปอีก ให้เป็นคนชนิดที่ว่า ทั้งๆ ที่ทุกข์ภัยบีบคั้นคุกคาม จิตใจก็ยังดีงามสุขสบายปลอดโปร่ง พร้อมกันนั้นก็เพียรพยายามสร้างสรรค์ต่อไป แม้ถึงยามสุขสบายก็ไม่หยุดหรือผัดเพี้ยน
จะต้องระลึกไว้ว่า คนที่พัฒนาแล้วนั้น เขาจะเป็นอยู่หรือทำการอะไร ก็ไม่ได้ขึ้นต่อความสุขความทุกข์ แต่เขาขึ้นต่อปัญญา ปัญญาเป็นตัวรู้ว่าอะไรควรทำ หรือไม่ควรทำ และสติก็คอยบอกหรือคอยเตือน ให้เว้นสิ่งที่ควรเว้น และให้ทำสิ่งที่ควรทำตามที่รู้ด้วยปัญญานั้น นี่แหละ เป็นหลักสำหรับวินิจฉัยระดับการพัฒนาของคน”
สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ.
การให้ธรรมทานชนะซึ่งการให้ทั้งปวง
ขออนุโมทนา🙏
.
cr: สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : ธรรมนิพนธ์
ท. ส. ปญฺญาวุฑฺโฒ ( รวบรวม)
โฆษณา