15 มิ.ย. 2020 เวลา 06:54
หมอขอเล่าขอสัมภาษณ์ : อาจารย์มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ชาวไทยที่จะมาเล่าถึงสถานการณ์ ของประเทศสหรัฐอเมริกา ณ ปัจจุบัน !!!
https://www.thaipbsworld.com/chavalit-on-military-and-charter-amendment/
ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนก่อน ถ้ามีใครกล่าวถึง ประเทศ สหรัฐอเมริกา ทุกคนก็คงจะคิดถึงประเทศมหาอำนาจ อันดับ หนึ่งของโลก เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีเเละเงินตรา
เเละ ก็คงคิดไม่ออกว่ามีเหตุการณ์อะไรที่สั่นคลอนความมั่นคงเเละสามารถทำร้าย ชีวิตเเละทรัพย์สินของชาวอเมริกานับล้านๆคนเพียงระยะเวลาไม่กี่เดือน
https://www.amazon.com/Donald-Trump-President-America-Thumbs/dp/B07BZ6WF5Y
เเต่พอเกิดการระบาดของ covid-19 ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็สั่นสะเทือนความเชื่อข้างต้น ประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อเป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่างรวดเร็วเเละไม่มีท่าทีที่จะลดลง
เเละต่อมาประเทศ สหรัฐอเมริกาก็ยังเกิดการประท้วงลุกลามทั่วประเทศ จากเหตุการณ์ของ George floyd ซึ่งก็มีการทำลายทรัพย์สินสาธารณะเเละภาพที่ออกมาตามสื่อก็ดูรุนเเรงเเละไม่น่าจะมีการยุติง่ายๆ
https://www.abc.net.au/news/2020-05-30/protests-against-george-floyd-death-police-custody-spread-us/12303700
ซึ่งพอเสพข่าวตามสื่อทั้งหมด ผมก็เกิดคำถามขึ้นในใจว่า
" เกิดอะไรขึ้นกับสหรัฐอเมริกา" เเละมีข้อกังขาในใจว่า สื่อต่างๆอาจจะเสนอข่าวดูเเง่ร้ายเกินไปรึเปล่า ???
โชคดีที่ช่วงนี้ผมได้ พูดคุยกับ อาจารย์ท่านนึงซึ่งเป็น อาจารย์ ประจำมหาวิทยาลัยที่ สหรัฐอเมริกา เเละใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกามากว่า 20 ปี ผมจึงได้ขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆใน สหรัฐอเมริกา ณ ปัจจุบัน
ซึ่งในบทสัมภาษณ์ นี้จะมีการเเสดงความเห็นที่ค่อนข้างตรงไปตรงมาในหลายๆประเด็น ผมจึงขออนุญาติ ปกปิดชื่อ จริง ของผู้ถูกสัมภาษณ์ เเต่จะใช้ชื่อเเทนว่า ดร. รัญชนา นะครับ
หมอขอเล่า : ผมรู้สึกเป็นเกียรติเเละขอบคุณ อาจารย์มากครับที่ได้ให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ก่อนอื่นขอให้ อาจารย์เเนะนำตัวเองหน่อยครับ
ดร. รัญชนา : สวัสดีค่ะ ดิฉัน ดร. รัญชนา จบปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้น ได้ศึกษาต่อปริญญาโทและปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา ตอนนี้อยู่อเมริกามา 21 ปีแล้วค่ะ ปัจจุบันทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สอนนักศึกษาปริญญาตรีและโทในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย
หมอขอเล่า : ขอให้อาจารย์ช่วยเล่าถึง สถานการณ์การระบาดของ covid-19ในสหรัฐอเมริกาตั้งเเต่เรึ่มจนถึงปัจจุบัน ในมุมมองของผู้ที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกา
ดร. รัญชนา : เริ่มกันที่ตอนมีข่าว Coronavirus ระบาดในช่วงแรกที่ประเทศจีนตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ที่อเมริกาก็มีข่าวออกมาบ้าง แต่ก็ไม่มีใครคิดอะไร เพราะเคยมีโรคระบาดในลักษณะนี้มาก่อน เช่น โรคซาร์ส์ที่ประเทศจีนเช่นกัน หรือ อีโบล่าในแอฟริกา แต่ก็ไม่เคยมาถึงอเมริกา จากนั้นอย่างที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์แย่ลง มีการแพร่กระจายในวงกว้างไม่ใช่ในจีนเท่านั้น แต่ได้ระบาดไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชีย และยุโรป องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งชื่อ coronavirus สายพันธุ์ใหม่นี้ว่า COVID-19
ดร. รัญชนา : ในที่สุดก็เริ่มมีการติดเชื้อในอเมริกา ที่นี่ก็เริ่มมีการเสนอข่าวมากขึ้น จนกระทั่งปลายเดือนกุมภาพันธ์ ณ จุดนั้นเรียกว่ายังไม่มีมาตรการอะไรประกาศออกมาเลย ประชาชนได้แต่ตามข่าว ยังใช้ชีวิตประจำวันกันตามปกติ ไปทำงาน ไปโรงเรียน เข้ายิม และกิจกรรมอื่นๆ ไม่มีใครสนใจกักตุนข้าวของ เพราะคงคิดว่าถ้ารัฐบาลยังไม่มีคำสั่งอะไรมาก็แปลว่าคงไม่มีอะไร แถมประธานาธิบดียังออกมาให้ความมั่นใจอีกว่าในไม่กี่วันจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงเป็นศูนย์
ดร.รัญชนา : ไม่น่าเชื่อจริงๆ ที่ประธานาธิบดีประกาศในวันนั้นว่า จากผู้ติดเชื้อ 15 คน ตัวเลขจะลดลงเป็น 0…และแล้วในวันนี้ ไม่ถึง 4 เดือนต่อมา มีจำนวนผู้ติดเชื้อในอเมริกา 2 ล้านกว่าคน! เป็นเรื่องที่น่าเศร้าจริงๆ
https://www.cnn.com/2020/04/28/politics/fact-check-trump-remarks-april-28/index.html
ดร. รัญชนา : แต่ใครจะคาดคิดว่าในช่วงแรกนั้น รัฐบาลได้รับการเตือนจากผู้เชี่ยวชาญของตัวเองถึงการระบาดของ COVID-19 ที่จะเกิดขึ้นในอเมริกามาโดยตลอด แต่ไม่ได้มีปฏิบัติการหรือการแจ้งเตือนประชาชน อาจจะเป็นเพราะหลายๆอย่าง กลัวผู้คนตื่นตระหนก กลัวกระทบเศรษฐกิจที่กำลังไปได้สวยมาก หุ้นอยู่ในช่วงขึ้นสูงสุด หรือคิดว่าจะควบคุมโรคได้เองโดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร
ดร. รัญชนา : จากนั้นเหตุการณ์ก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ชนิดที่เรียกว่าประชาชนทั่วไปตั้งตัวไม่ทันจริงๆ จากคิดว่าไม่มีอะไรเมื่อไม่กี่วันก่อน จำนวนผู้ติดเชื้อกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายรัฐ ในต้นเดือนมีนาคม รัฐบาลประกาศมาตรการณ์ต่างๆที่จะควบคุมการระบาด ก่อนอื่นจะขออธิบายตรงนี้นิดนึงว่าสหรัฐอเมริกาประกอบด้วย 50 รัฐ แต่ละรัฐมีระบบการปกครอง การออกกฎเกณฑ์เป็นของตนเอง ซึ่งก็จะได้แนวปฏิบัติมาจากรัฐบาลกลางที่มีผู้นำคือประธานาธิบดี ผู้ว่าการรัฐซึ่งเป็นหัวหน้าของรัฐจะนำแนวทางจากส่วนกลางมาออกเป็นมาตรการให้ประชาชนในรัฐตัวเองปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้นถึงแม้จะเป็นประเทศเดียวกัน แต่มาตรการปฏิบัติและรายละเอียดอาจต่างกัน เช่นที่เราอยู่ใน California ผู้ว่าการรัฐถือว่าตื่นตัวเร็ว เพราะได้ออกกฎ lockdown ใน California ให้ประชาชนอยู่บ้าน ตั้งแต่สถานการณ์ใน California ยังไม่เลวร้ายเท่าไร ยังมีผู้ป่วยจำนวนไม่มากในกลางเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ New York เพิ่งจะประกาศ Lockdown เช่นกัน ซึ่งตอนนั้น ตัวเลขผู้ป่วยใน New York สูงกว่าใน California มากมาย แต่เพิ่งจะมาปิดพร้อมกัน ตรงนี้เราอยู่ใน
California ก็รู้สึกว่าผู้ว่าการรัฐทำถูกต้อง ที่ดำเนินการตั้งแต่แรกๆ
ดร. รัญชนา : ในช่วงก่อนที่จะมีการ Lockdown เกิดขึ้น ถึงแม้ประชาชนจะไม่มีการซื้อข้าวของทั่วไปกักตุนในวงกว้าง แต่ของบางอย่างก็ได้ขาดตลาด หาซื้อไม่ได้ไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว ตัวอย่างเช่น Hand Sanitizer, Wipes หรือแม้แต่ Face Masks ซึ่งในช่วงแรกยังไม่มีใครใส่ แต่กลับหมดเกลี้ยงชั้น ถ้าหาซื้อ online ได้ก็คือราคาแพงกว่าปกติมาก คนซื้อตุนกันไว้ตั้งแต่ยังไม่เห็นใครใส่ คงเพราะเห็นประเทศในเอเชีย ใส่ออกไปไหนกันเป็นปกติ
ดร. รัญชนา : นับตั้งแต่ Lockdown วิถีชีวิตเปลี่ยนไปมาก ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็ว ไม่มีเวลาเตรียมตัวรับมือเลย ขณะที่ไปทำงาน ทางมหาวิทยาลัยประกาศให้การเรียนการสอน เปลี่ยนเป็นระบบ online ให้หมด โดยมีเวลาเตรียมตัวไม่ถึง 2 อาทิตย์ เด็กนักศึกษาที่อาศัยหอพักของมหาวิทยาลัยนี่ยิ่งหนักเลย เรียกว่าโดน kick out จากหอ ต้องเดินทางกลับไปบ้านพ่อแม่ เพราะมหาวิทยาลัยจะปิด มีสื่อนำเสนอข่าวจากมหาวิทยาลัยอื่นว่า บางคนเก็บของไม่ทัน ใส่กระเป๋าไม่พอไม่หมด ต้องเก็บของใส่ถุงขยะ ลากออกไปจากห้องกันเลยทีเดียว เป็นภาพที่โกลาหลมากๆ นักศึกษาส่วนใหญ่มาจากเมืองอื่น รัฐอื่น หรือหลายคนก็เป็นต่างชาติ ต้องหาเที่ยวบินกลับประเทศตัวเอง ซึ่งหายากหรือต้องรอรัฐบาลประเทศตัวเองจัดเที่ยวบินมารับ พอกลับไปก็ต้องไปโดนกักตัวอีก 2 อาทิตย์ก่อนจะกลับไปเจอครอบครัวได้
https://www.cnn.com/2020/03/13/us/coronavirus-dorms-closing-students-trnd/index.html
ดร. รัญชนา : ทั้งอาจารย์และนักเรียนก็เครียด เพราะต้องมาเรียนในรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน โรงเรียนทุกชั้นปิดหมด เปลี่ยนมาเรียนที่บ้านใช้ Zoom ประชาชนที่นี่ในช่วงนั้นก็ต้องปรับตัว Work From Home พ่อแม่ก็ต้อง Homeschool ลูกๆกันอีก บางกลุ่มอาชีพก็ยังจำเป็นต้องออกไปทำงาน หลายคนที่นายจ้างปิดกิจการไม่มีเงินจ้างก็ต้องตกงาน แต่รัฐบาลก็มีเงินช่วยคนกลุ่มนี้และบริษัทที่ต้องปิดไปอยู่บ้าง
ดร. รัญชนา : ช่วง lockdown ไม่ได้ออกจากบ้านเลย ยกเว้นไปซื้อกับข้าว ในละแวกที่อยู่ถือว่าผู้คนมีความตื่นตัวดีมาก พอรัฐบาลประกาศให้ใส่หน้ากาก เวลาออกนอกบ้านทุกคนใส่หน้ากาก และระมัดระวังตัว practice social distancing ด้วยการพยายามไม่อยู่ใกล้ๆกัน จากวิสัยทัศน์ของผู้ว่าการ California ที่เห็นความสำคัญของการป้องกันการระบาดของ Covid-19 นี้ เป็นตัวอย่างทำให้ผู้คนในรัฐส่วนใหญ่ตื่นตัว ร้านค้าและประชาชนปฏิบัติตาม guideline ต่างๆ ส่งผลให้ California ไม่ระบาดหนักในช่วงแรก โดยทางรัฐใช้เวลาช่วงที่ประชาชนอยู่บ้านนี้ ให้โรงพยาบาลเตรียมความพร้อมไว้ ดังนั้นในตอนที่ lockdown แทบไม่ต้องคิดว่าจะไปหาหมอ ไม่ว่าหมอด้านไหนก็ตาม ถ้าไม่ได้จำเป็นเร่งด่วน เพราะถึงมีนัดไว้ เค้าก็จะโทรมาขอให้เลื่อนไปก่อน เพราะ PPE หรืออุปกรณ์ป้องกันของบุคลากรทางแพทย์ไม่เพียงพอ เรื่องหาหมอที่นี่ ต่อให้ก่อน Covid-19 ก็ยุ่งยาก ต้องนัดล่วงหน้ากันเป็นหลายๆ เดือน ระบบ healthcare ที่นี่ มีปัญหามาก่อนแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องของอเมริกาเลยทีเดียว
ดร. รัญชนา : เปิดประเทศ
หลังจาก lockdown มาเกือบสามเดือน รัฐบาลก็ประกาศให้รัฐต่างๆ ค่อยๆเริ่มเปิดได้ ที่ให้เปิดไม่ใช่เพราะสถานการณ์ดีขึ้นเท่าไร จะว่าไปก็ยังขึ้นๆลงๆ ดูแล้วจะแย่ลงด้วยซ้ำ แต่ด้วยประธานาธิบดีเกรงว่าปิดนานจะกระทบเศรษฐกิจ บวกกับเข้าหน้าร้อนที่นี่ ผู้คนก็อยากจะไปใช้ชีวิตข้างนอกบ้านหลังจากอยู่บ้านมานาน แต่ถึงจะออกนอกบ้าน ไปร้านอาหาร ร้านทำผม หรือบางที่โรงหนังก็เริ่มเปิดแล้ว การปฏิบัติตัวก็ยังห่างไกลจากก่อน Covid มาก ทั้งใส่หน้ากาก social distancing วัดอุณหภูมิ และอื่นๆอีก บางรัฐ ถ้ามาตรการไม่เข้มข้น พอเปิดรัฐก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้น อย่างเช่นตอนนี้ Florida, Arizona ตัวเลขสูงขึ้นติดต่อมาหลายวัน เกรงกันว่าจะมีการระบาดกลับมาอีก ยังไม่มีใครบอกได้แน่นอนว่าจะมีวัคซีนภายในปีนี้หรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ออกมาเตือน second wave เรียกว่าความหวาดกลัวก็ยังมีกันอยู่โดยทั่วไป สถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไป แต่ก่อนจะมีวัคซีนออกมา ทุกคนก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับ New Normal นี้
https://abcnews.go.com/Health/cdc-recommends-face-masks-asks-americans-evaluate-risk/story?id=71222285
หมอขอเล่า : อาจารย์คิดว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกา รับมือกับ covid-19 เป็นอย่างไร โดยภาพรวมคนที่สหรัฐอเมริกา พอใจหรือไม่
ดร. รัญชนา : พอใจกับการรับมือของรัฐบาลมั๊ย
ถ้าตอบกันแบบ Yes or No ก็คือ ไม่ !!!!
ดร. รัญชนา : จะพอใจได้อย่างไรในเมื่อประเทศนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก มีความเจริญทั้งด้านเทคโนโลยีและการรักษาพยาบาลที่ทันสมัย แต่กลับไม่มีมาตรการป้องกันที่ทันการณ์ กลายเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดในโลก ทั้งๆที่มีผู้เชี่ยวชาญเตือนรัฐบาลและมีเวลาดูสถานการณ์อยู่เป็นเดือนๆ ปัญหานี้ยังถือเป็นปัญหาลูกโซ่ที่เกี่ยวโยงกับปัญหาของระบบ healthcare ที่นี่ที่มีมาแต่ก่อนอยู่แล้ว ซึ่งก็คือหมอขาดแคลน ค่ารักษาพยาบาลสูงเว่อร์
ดร. รัญชนา : ถ้ารัฐบาลเตือนประชาชน ให้ใส่หน้ากากเร็วกว่านี้ ก็น่าจะช่วยลดการระบาดได้ดีขึ้นเหมือนในประเทศเอเชีย แต่ในช่วงแรกกลับประกาศตรงกันข้าม แจ้งประชาชนทั่วไปไม่ให้สวมหน้ากากเพราะไม่ช่วยป้องกัน แถมยังบอกอีกว่า บุคลากรทางแพทย์เท่านั้นที่สมควรใส่หน้ากากไว้ป้องกันตัวเอง ถ้าคนทั่วไปใส่จะทำให้บุคลากรทางแพทย์ไม่มีใช้ ตรงนี้ทำให้ผู้คนสับสนมาก ว่าตกลงหน้ากากมัน work หรือ ไม่ work กันแน่ คนทั่วไปใส่แล้วไม่ work ต้องให้บุคคลากรทางการแพทย์ใส่ถึงจะ work? ฟังแล้วขัดมากๆ ทั้งๆ ที่ความจริงคือ ใส่ย่อมดีกว่าไม่ใส่แน่นอนสำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่หมอหรือพยาบาล
ดร. รัญชนา : แต่ที่ต้องประกาศอย่างนั้น เพราะหน้ากากไม่พอในโรงพยาบาล ไม่มีการเก็บสำรองอุปกรณ์การแพทย์ไว้ในยามฉุกเฉินระดับประเทศ เนื่องจากไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน ประชาชนก็เชื่อฟัง ไม่มีใครใส่หน้ากากเวลาออกนอกบ้าน แม้กระทั่งในโรงพยาบาลคนไข้อื่น คนทำงานในนั้นก็ไม่ใส่หน้ากาก จนกระทั่งระบาดหนัก และมาเปลี่ยนนโยบายเป็นให้ทุกคนใส่หน้ากากเวลาออกไปในสถานที่สาธารณะ อีกทั้งปัญหาชุดตรวจการติดเชื้อที่ไม่เพียงพอในตอนแรก คนไข้จะได้รับการตรวจก็ต่อเมื่อมีอาการหนักเท่านั้น ผิดหลักที่ว่า ประชาชนควรได้รับการตรวจให้มากที่สุดเพื่อจะได้รับการรักษาและป้องกันการแพร่กระจาย ตอนนี้มีชุดตรวจเพียงพอให้กับประชาชนทั่วไปในวงกว้างแล้ว แต่ปัญหาคือถ้าเป็นก็ไม่ใช่ว่าจะได้ไปนอนรพ. หรือได้รับการรักษาหรือดูอาการจากหมอในทันที สิ่งแรกที่ให้ทำคือ ให้กักตัวเองอยู่บ้าน ถ้าเป็นหนักค่อยเข้าห้องฉุกเฉิน คือต้องรอให้เป็นหนักก่อนถึงจะได้รับการรักษา มาตรการต่างๆ เหมือนพลาดไปทุกขั้นตอน
หมอขอเล่า : เเละอีกประเด็นนึงที่ผู้คนสนใจ หลังจากมี เหตุการณ์ George floyd ภาพออกมาทางสื่อ ค่อนข้างดูรุนเเรงเเละเกิดความวุ่นวายในสังคมอาจารย์ คิดยังไง กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ดร. รัญชนา : เหตุการณ์ขัดแย้งเรื่องการกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุของตำรวจผิวขาวกับผู้ต้องหาผิวดำนั้นมีมานานแล้ว และมีการประท้วงมาหลายครั้ง แต่ก็ยังเกิดขึ้นอีก ส่วนใหญ่จะเอาผิดกับตำรวจไม่ได้ มีน้อย case มากที่ศาลตัดสินให้ตำรวจผิดต้องรับโทษ โดยมากจะไปไม่ถึงศาลหรือถ้าถึง ศาลก็ตัดสินให้ตำรวจไม่มีความผิด และกรณี George Floyd นี้ผู้คนโกรธเกลียดตำรวจมาก ถึงขั้นรวมตัวประท้วงกันทั่วประเทศ ถือเป็นข่าวใหญ่ของที่นี่ ประท้วงกันวันเดียวกับที่ SpaceX ส่งยานออกนอกโลก ข่าว SpaceX ยังเป็นข่าวรอง
ดร. รัญชนา : ผู้ประท้วงต้องการให้มี police reform หรือการปรับโครงสร้างของตำรวจ บางคนก็อยากให้ disband หรือยุบระบบตำรวจไปเลย โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีตำรวจจะทำให้พื้นที่ของเขาสงบสุขมากกว่าการมีตำรวจ ก็จะมีคนแย้งว่า ถ้าไม่มีตำรวจ แล้วถ้าโจรปล้นบ้านจะทำอย่างไร นอกจากนี้ก็ยังมีความเห็นอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหา เช่น defund police หรือการลดงบประมาณให้ตำรวจ พูดง่ายๆคือให้เงินน้อยลง เป็นการบังคับให้ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น ส่วนตัวเห็นด้วยกับการ reform หรือ defund เพื่อให้มีการปรับปรุงทั้งระบบ ไม่ใช่แค่จุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น ปัญหาความรุนแรงของตำรวจไม่ใช่แค่กับคนผิวดำเท่านั้น แต่เป็นปัญหาทั่วไปกับคนทุกสีผิว ก็อยากให้มีการแก้ปัญหานี้ทั้งระบบ เช่นการฝึกฝน การออกมาตรการที่เข้มงวดขึ้น ไม่อยากให้ถึงขั้นไม่มีตำรวจเลย เพราะเชื่อว่าตำรวจที่ดี ทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนก็มีอยู่เยอะ
https://www.cnn.com/2020/06/06/us/what-is-defund-police-trnd/index.html
หมอขอเล่า: เเละในด้านเศรษฐกิจอาจารย์มองว่ากระทบ
มากน้อยเเค่ไหน รัฐบาลสหรัฐอเมริกาช่วยเหลือ หรือ กระตุ้น เศรษฐกิจอย่างไร
ดร. รัญชนา : ก่อน Covid-19 เศรษฐกิจอเมริกากำลังอยู่ในขาขึ้นและขึ้นมาเป็น 10 กว่าปีแล้ว อัตราการว่างงานลดลง หุ้นขึ้น ผลกระทบจาก Covid ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือในเวลาอันรวดเร็ว หุ้นตกจากจุดสูงสุดถึง 30% อัตราการว่างงานสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ ร้านค้าต้องปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก ทำให้พนักงานตกงาน โรงเรียนและบริษัทหลายที่ประกาศ Hiring freeze หรือหยุดรับพนักงานใหม่ บางที่ก็มี lay off พนักงาน มีทั้งให้ออกชั่วคราวและถาวร โดยเฉพาะสายการบินมีผลกระทบมาก เพราะคนเดินทางน้อยลง แล้วยิ่งมีเรื่องการประท้วงทำลายข้าวของ ทำให้ร้านค้าที่เพิ่งจะเริ่มกลับมาเปิด ต้องมาเสียค่าใช้จ่ายซ่อมแซมความเสียหายเปิดไม่ได้อีก เรียกได้ว่าสถานการณ์ตอนนี้วุ่นวาย ทำให้ประชาชนทั่วไปมีความตื่นตระหนกกันทีเดียว
ดร. รัญชนา : ที่ผ่านมาทางรัฐมีเงินช่วยเหลือประชาชนที่ตกงานและห้างร้านที่ต้องปิดไปในช่วง Covid ซึ่งก็ช่วยเหลือบรรเทาปัญหาไปได้บ้าง คิดว่าเรื่องเศรษฐกิจนี้เป็นเรื่องระยะยาว ดูที่หุ้นอย่างเดียวไม่ได้ ตอนนี้หุ้นขึ้นกลับมาบ้างแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าขึ้นจริงหรือต่อไปจะลง ประชากรยังไม่กล้าใช้จ่าย ยังกล้าๆ กลัวๆ อยู่ ถ้าต่อมามีวัคซีน ประชาชนไปไหนมาไหน ใช้จ่ายนอกบ้าน ห้างร้านเปิดตามปกติ ถึงเวลานั้นเศรษฐกิจก็น่าจะฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิม อันนี้คิดว่าขึ้นอยู่กับความสำเร็จกับระยะเวลาที่วัคซีนจะออกมา เพราะโรคนี้คงไม่มีทางหายไป ขึ้นกับว่าเราจะอยู่กับมันอย่างไร
หมอขอเล่า : เต็มอิ่มกันมากครับวันนี้ ได้ข้อมูลดีๆมากมายผมขอขอบคุณ ดร. รัญชนาอีกครั้งนะครับ ที่ได้ช่วยสละเวลามาให้สัมภาษณ์ในวันนี้
ดร. รัญชนา: เช่นกันค่ะขอขอบคุณคุณหมอขอเล่า ที่มาสัมภาษณ์ และหวังว่าบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นไปในสหรัฐอเมริกามากขึ้นค่ะ
จบไปกับอีกหนึ่งบทสัมภาษณ์คุณภาพ ที่เต็มเป็นไปด้วยข้อมูลเเละเป็นข้อมูลที่มาจาก ผู้ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาจริงๆ
ซึ่งจากบทสัมภาษณ์เเละ สื่อต่างๆที่รายงานข่าวมาก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้ประเทศอันดับหนึ่งอย่าง สหรัฐอเมริกา กำลังมีปัญหาภายในอย่างมากเลยทีเดียว !!!
เเต่อย่างไรก็ตาม ผมก็เชื่อนะครับว่าสุดท้ายสหรัฐอเมริกา จะสามารถผ่านพ้นปัญหาต่างๆไปได้เเละจะกลับมายิ่งใหญ่ดังเดิม ผมก็ขอเอาใจช่วยนะครับ
https://www.pinterest.com/pin/855824735412060453/
โฆษณา