15 มิ.ย. 2020 เวลา 01:17 • ท่องเที่ยว
สำนักปฏิบัติธรรมถ้ำป่าอาชาทอง .. เรื่องเล่าของพระคาวบอย
เสียงควบม้าดังใกล้เข้ามาทุกที … ในป่าดงพงพีแบบนี้ ใครกันมาควบม้าเล่นในลำธาร?
น้ำที่สาดกระเซ็นเป็นละอองฝอยในทุกก้าวย่างที่ม้าร่างกายกำยำล่ำสัน ย่ำเหยียบลงเป็นผิวน้ำ เป็นภาพที่น่าดู น่าพิศวงของคนเมืองอย่างเรา … แต่บุคคลที่นั่งกุมบังเหียนบังคับม้านั้น ทำให้เราเกิดความพิศวงมากกว่า รวมถึงมีคำถามมากมายถาโถมเข้ามาในสมองในทันที ทันใด
พระสงฆ์บนหลังม้าเหล่านี้มาจากไหน? ด้วยเหตุใดจึงมาควบม้าในป่าแห่งนี้
พระสงฆ์ที่เราเห็น … ตอนนี้ขึ้นมาจกธารน้ำแล้ว ท่านบอกว่ามาจาก “สำนักปฏิบัติธรรมถ้ำป่าอาชาทอง”
สำนักปฏิบัติธรรมถ้ำป่าอาชาทอง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งอยู่ในถิ่นกันดารห่างไกลคมนาคม บนดอยสูงของ ตำบลศรีค้ำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
พื้นที่แห่งนี้แห้งแล้งกันดาร การเดินทางไปไหนมาไหน ทำได้ลำบาก แม้แต่ชาวบ้านยังต้องใช้ม้าแกลบ ในการเดินทางและบรรทุกสัมภาระ … แม้จะมีจิตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา อยากจะทำบุญตักบาตร ชาวบ้านก็ไม่สามารถทำได้สะดวก ด้วยระยะทางที่ห่างไกลจากศาสนสถานมากหลายกิโลเมตร
ท่านครูบาเหนือชัย เจ้าอาวาสของสำนักสงฆ์ฯ ในช่วงแรกๆของการปฏิบัติศาสนกิจในการออกไปรับบิณฑบาต ด้วยการเดินขึ้นลงเขาเพื่อรับบาตรจากญาติโยม … ด้วยหนทางที่ห่าง ไกลกว่าท่านจะเดินถึงวัดก็เลยเวลาฉันเพล จึงได้ฉันบ้าง และไม่ได้ฉันหากกลับมาถึงวัดหลังเวลาเพล
ชาวบ้านจึงนำม้าที่มีลักษณะดี ร่างกายกำยำ มาถวายเพื่อให้ท่านใช้เป็น พาหนะในการเดินทางเพื่อรับบิณฑบาตจากผู้มีจิตศรัทธา และเดินทางเผยแผ่ธรรมะ … พระครูบาได้ตั้งชื่อให้ม้าตัวนี้ว่า 'ม้าอาชาทอง' และใช้ชื่อดังกล่าว เป็นชื่อวัดด้วย จึงเป็นที่มาของชื่อ "วัดป่าอาชาทอง"
ทุกๆวัน .. ท่านครูบาเหนือชัยและพระลูกวัด จึงควบม้ามาตามทางที่คดโค้ง ขรุขระ ข้ามเขาลายลูก ในระยะทางราว 5 กม. มารับบิณฑบาต และนำสิ่งของและอาหารที่เหลือจากฉันไปแจกจ่ายให้ชาวเขาที่ยากจนมาก รวมถึงเมตตาให้ความช่วยเหลือทุกคนที่เดือดร้อนไปพร้อมๆกับการอบรมธรรมะ และสอนให้ผู้คนตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่าให้หันมาประกอบสัมมาอาชีพ หยุดการค้ายา รับจ้างขนยา และหยุดเสพยาเอง รวมถึงให้เข้ามาเป็นแนวร่วมในการ ดูแล รักษาผืนแผ่นดินไทย
นอกจากนี้ ยังดำเนินโครงการเอาเด็กชาวเขามาเรียน หนังสือ มาฝึกอาชีพ สอนมวยไทยให้เด็กๆ พอโตหน่อยพวกนี้ก็ไปรับจ้างแสดงในเมือง มีรายได้ขึ้นมา
เมื่อเวลาผ่านไป ชาวบ้านและผู้มีจิตศรัทธา จึงสนับสนุนและจัดตั้งสถานปฏิบัติธรรมของท่านครูบาเหนือชัย … จากสถานปฏิบัติธรรมเล็กๆ ปัจจุบันวัดป่าอาชาทองจึงมีวัดสาขาถึง 12 วัด มีม้าถึง 100 กว่าตัว มีโค-กระบือ 10 ตัว มีคนงานชาวเขาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ถึง 60 คน ซึ่งม้าดังกล่าวนั้นครูบาอนุญาตให้ ชาวเขา ข้าราชการครูและตำรวจ-ทหารในพื้นที่หยิบยืมไปใช้ได้
พระขี่มาบิณฑบาต … จึงเป็นความแปลก เป็น Unseen ที่ผู้คนกล่าวขานถึงมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงอยากมาตักบาตร ทำบุญ และถ่ายภาพด้วย
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงมาขอให้พระครูบาเหนือชัยนำวัดป่าอาชาทองเข้าร่วมในโครงการ 'unseen Thailand' เพื่อช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวของเชียงราย ซึ่งครูบาเหนือชัยใช้เวลาคิดใคร่ครวญอยู่นานถึง 3 ปี จึงตัดสิน ใจตกลงเข้าร่วมโครงการเมื่อปี 2547 เนื่องจากพระครูบารู้ดีว่า เมื่อการท่องเที่ยวย่างกรายเข้ามา วิถีชีวิตอันเงียบสงบ ของชาวเขาย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไป
อาชาทอง'ม้าหนุ่มร่างกำยำ ควบตะบึงพาพระครูบาข้ามเขาลูกแล้วลูกเล่าเพื่อรับบาตรจากญาติโยมผู้มีจิตศรัทธา แลเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธองค์ … จึงเป็นภาพที่เราเห็นมาจนถึงทุกวันนี้
ใครบางคนเล่าว่า … อาหารที่เหลือจากการบิณฑบาตถูกแจกจ่ายให้ชาวเขาผู้ยากไร้ และเป็นเวลากว่า13 ปีแล้ว ที่ 'พระครูบาเหนือชัย' พากเพียร ให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมแก่ชาวเขาเผ่าต่างๆที่อาศัยอยู่ตามแนว ตะเข็บ ชายแดน จ.เชียงราย เพื่อเปลี่ยนพวกเขาจากกลุ่มผู้ลักลอบขนยามาเป็นชาวไร่ผู้หวงแหนและร่วมพิทักษ์ ผืนแผ่นดินไทย
ท่านที่สนใจอยากไปร่วมทำบุญตักบาตรถวายให้กับท่านพระครูบาเหนือชัย ก็สามารถไปได้ โดยเวลาที่เหมาะสมสำหรับการไปตักบาตรนั้นคือช่วงเวลา 8:00 - 8:30 บริเวณที่ให้คนที่สนใจไปตักบาตรกันได้นั้นคือบริเวณลานธรรมของวัดป่าอาชาทอง
เรามีโอกาสไปไหว้พระและทำบุญที่สำนักสงฆ์ จึงขอนำภาพที่ถ่ายอาไว้มาแบ่งปันกันดูค่ะ
โรงเลี้ยงม้าของทางวัดจะอยู่ใกล้ ๆ กับลานพระแก้ว
การเดินทางไปชมพระขี่ม้าบิณฑบาต
1. ใช้เส้นทางเชียงราย – แม่จัน เลยจากอำเภอแม่จัน ไป 1 กม. มีทางแยกซ้ายไปดอยแม่สลอง ถนนผ่านหน้า บ้านแม่สลอง สภาพถนนเข้าหมู่บ้านยังไม่สะดวกควรใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ
2. ใช้เส้นทางเชียงราย-แม่สาย (ทางหลวงสาย A1) ระยะทางจากอำเภอเมือง - อำเภอแม่จัน ประมาณ 28 กม. จากตัวอำเภอแม่จันประมาณ 4 - 5 กิโลเมตร ก็ถึงปากทางไปวัดถ้ำป่าอาชาทอง (ถนนข้างวัดแม่คำหลวง) จะมีป้าย และลูกศรบอกตลอดทาง และเข้าไปอีกประมาณ 5 - 7 กิโลเมตร ลักษณะถนนตอนทางขึ้นตั้งแต่สะพานก่อน ถึงลานพระแก้ว ระยะทางประมาณ 2 กม. รถยนต์ส่วนตัวของท่านสามารถขึ้นได้และทิวทัศน์สองข้างทางก็ทำ ให้สดชื่น
โฆษณา