15 มิ.ย. 2020 เวลา 02:46
นั่งอยู่ในใจคน : the art of empathy
ในยุค tech disruption ตั้งแต่ก่อนโควิดจนถึงช่วงโควิด คำๆหนึ่งที่ทุกคนสนใจมากขึ้นมาก เพราะดูเหมือนจะเป็นทางออก เป็นต้นทางของไอเดียและเป็นวิถีใหม่ในการค้นพบอะไรหลายอย่างมากมาย หลายคนคงเคยได้ยิน และจริงๆแล้วคำนั้นก็เป็นกระบวนการแรกของวิธีการคิดเชิงนวัตกรรมอย่าง design thinking อีกด้วย
คำๆนั้นก็คือคำว่า empathy..
โดยคำจำกัดความของฝรั่งที่ผมอ่านจากหนังสือชื่อตรงๆว่า empathy เลยนั้น เขาอธิบายว่า empathy คือศิลปะในการจินตนาการถึงความรู้สึกเข้าใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง (someone else shoes) และใช้ความรู้สึกนั้นมาเป็นแนวทางในการคิดการทำของเรา ในโลกของ startup ที่เริ่มธุรกิจจากความคิดแบบ empathy ก็คือการคิดจาก pain หรือปัญหาความเจ็บปวดของลูกค้า แล้วหาทางแก้ปัญหานั้นๆเป็นต้นทาง
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยแนะแนวทางการเขียนหนังสือไว้ให้ลูกศิษย์ว่า ในการเขียนให้ได้ดี ได้ประทับใจนั้น นักเขียนควรต้องเข้าไป “นั่ง” อยู่ในใจคน ผมก็เลยชอบความหมายนี้และแปลอยู่ในใจว่า empathy นั้นน่าแปลเป็นไทยได้แบบนั้น ซึ่งเข้าใจแจ่มชัดเทียบได้กับ someone else shoe ในภาษาอังกฤษ เผลอๆอาจจะตรงกว่าด้วยซ้ำ
เรื่องราวของ empathy หรือวิธีการเข้าไปนั่งอยู่ในใจคนนั้น คงเป็นเรื่องที่คงได้มาเขียนอีกหลายตอน เพราะผมสนใจและอินกับเรื่องนี้มาก และคิดว่าน่าจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในยุคหลังโควิดนี้ด้วยทั้งเรื่องงานและเรื่องชีวิต ถ้าใครสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้
แต่ในการอธิบายว่า empathy นั้นคืออะไรแล้วเอามาใช้กับหน้าที่การงานอย่างไร เรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญด้าน empathy ของฝรั่งชอบยกตัวอย่างมักจะเป็นเรื่องของ แพทริเชีย มัวร์ (patricia moore) ที่เป็นคนแรกๆที่ทดลองวิชานี้แบบเข้มข้นเมื่อช่วงปลายทศวรรษ 70
1
แพตริเชียในตอนนั้นเป็นพนักงานอายุน้อยแค่ 26 ปี อยู่ในบริษัทออกแบบผลิตภัณฑชื่อดังแห่งหนึ่งในนิวยอร์ค ในตอนนี้เธอเพิ่งจบใหม่ๆและเป็นผู้หญิงคนเดียวท่ามกลางพนักงานชายสามร้อยห้าสิบคน ในสมัยที่ผู้ชายเป็นใหญ่และการออกแบบผลิตภัณฑ์ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่มานาน ตอนที่เธอเริ่มงานใหม่ๆและได้เข้าไปในการระดมสมองคิดไอเดียกันในบริษัทครั้งแรกเกี่ยวกับการออกแบบตู้เย็น เธอก็ไปถามคำถามที่ดูโง่ๆในสายตารุ่นใหญ่ทั้งหลายในเรื่องของการออกแบบประตูตู้เย็นที่ควรจะคิดถึงการใช้งานของคนที่มีไขข้ออักเสบบ้างจะดีหรือไม่
ปรากฏว่าเธอถูกดุจากหัวหน้างาน บอกว่าใครจะไปออกแบบให้คนแบบนั้นเล่า แพตริเชียเจ็บใจมากเถียงไปก็ไม่มีใครฟังเด็กจบใหม่อายุยี่สิบกว่า เธอก็เลยอยากเข้าใจในมุมนั้นให้ลึกซึ้งขึ้น และคิดไอเดียที่ภายหลังกลายเป็นการทดลองนั่งอยู่ในใจคน (empathy) ที่จริงจังที่สุดเป็นคนแรกๆ
แล้วแพตริเชียไปทำอย่างไร เธอไปลองทำตัว..ไม่ใช่ปลอมตัวนะครับ ไปทำตัวเป็นคนแก่อายุแปดสิบห้าปี!
เธอบอกว่า เธอไม่ใช่แค่อยากไปแสดงเป็นคนแก่ แต่อยากไปรู้ว่าคนแก่จริงๆนั้นรู้สึกอย่างไร นอกจากให้มืออาชีพมาช่วยแต่งหน้าให้แก่ตามวัยที่เธอคิดแล้ว เธอก็ยังใส่แว่นมัวๆทำให้มองเห็นไม่ชัด เอาสำลีอุดหูจะได้ได้ยินไม่ถนัด เอาเทปมาพันตัวเพื่อให้หลังค่อม ทำให้รู้สึกปวดเนื้อปวดตัว เอาผ้ามาพันแขนและขาเพื่อทำให้งอไม่ค่อยได้ และใส่รองเท้าไม่เท่ากันเพื่อให้เดินไม่ถนัดจนต้องใช้ไม้เท้าช่วย
ในช่วงปี 1979 ถึง 1982 เธอใช้ชีวิตแบบนี้และลองแล้วเดินทางไปตามเมืองต่างๆกว่าร้อยเมือง ให้รู้สึกจริงๆว่าคนชรานั้นเจออะไรบ้าง มีอุปสรรคอะไรในการใช้ชีวิตบ้าง และถูกมองอย่างไรจากสังคม เธอขึ้นลงบันได ขึ้นรถบัสที่ยากลำบาก เปิดประตูหนักๆของห้างต่างๆ เดินข้ามถนนทันไฟบ้างไม่ทันบ้าง พยายามเปิดกระป๋องจากเครื่องมือที่มีในสมัยนั้น และที่สำคัญที่สุดที่เธอได้ลองก็คือ..เปิดตู้เย็น
แพตริเชียเข้าใจความรู้สึกและความเจ็บปวดของคนแก่อายุแปดสิบกว่าอย่างที่คนแก่เป็นอย่างลึกซึ้งโดยไม่ต้องจินตนาการ ความเข้าใจเหล่านี้ทำให้เธอกลายเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุที่มีชื่อเสียงระดับโลก อุปกรณ์ที่เธอออกแบบช่วยคนที่มีปัญหาไขข้อให้ใช้งานได้ง่าย มีไลน์ผลิตภัณฑ์ปอกมันฝรั่ง และพวกช้อนส้อมที่มีด้ามจับหนาๆที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน เธอได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ให้กำเนิดสิ่งที่เรียกว่า universal design ที่ไม่ว่าจะอายุห้าขวบหรือแปดสิบห้าก็ใช้ได้ง่ายๆเหมือนกัน และที่มากกว่าเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ เธอกลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญให้ผู้สูงอายุและผู้พิการในการผ่านหมายสำคัญหลายฉบับ และทำงานอื่นๆด้วยความปรารถนาที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องของเงินอีกด้วย
One size doesn’t fit all แพตรีเชียตกผลึกจากการทดลอง empathy ไว้แบบนั้น..
แพตรีเชีย มัวร์เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงขุมพลังแห่ง empathy ซึ่งมีทั้งประโยชน์ต่อหน้าที่การงาน แต่ที่สำคัญคือเมื่อมีความสามารถหรือได้ทดลองเข้าไปนั่งอยู่ในใจคนแล้ว นอกจากจะเปนที่มาของความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ๆที่โดนใจแล้ว ในความรู้สึกนั้นจะแรงบันดาลใจที่อยากทำสิ่งที่ดีกว่าเพื่อคนอื่นและมีผลที่ใหญ่กว่าตัวเองได้มากมายนัก
Empathy จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นอาวุธใหม่ที่อาจจะนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ ทางรอด รวมถึง เรื่องราวดีๆอีกมากมาย และเป็นสิ่งที่เราควรจะได้คุยกันในเรื่องนี้อีกหลายตอนนับจากนี้ไป..
โฆษณา