17 มิ.ย. 2020 เวลา 00:10 • สุขภาพ
มอง 'โควิด-19' ผ่านวงการ 'เอ็นเตอร์เทนเมนท์'
"พล หูยประเสริฐ" Creative แห่งการจัดคอนเสิร์ต เผยมุมมองต่อการเกิดขึ้นของโรคระบาด "โควิด-19" ที่ส่งกระทบต่อวงการเอ็นเตอร์เทนเมนท์แบบ 100%
บทความโดย ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์
มอง 'โควิด-19' ผ่านวงการ 'เอ็นเตอร์เทนเมนท์'
ผ่านมา 6 เดือนแล้วสำหรับการระบาดของ "โควิด-19" ถึงแม้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศไทยน้อยลงจนเท่ากับศูนย์มานานหลายสัปดาห์ จะถือเป็นข่าวดีสำหรับวงการแพทย์ไทยซึ่งเป็นด่านหน้าในการรักษาโรค แต่ตรงข้ามกับแวดวงเศรษฐกิจไทย ที่ผู้เชี่ยวชาญต่างก็ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ มีมูลค่าสูงกว่าวิกฤติครั้งอื่นๆ ในอดีตที่ผ่านมา และยังไม่แน่ใจว่าบางกลุ่มธุรกิจจะสามารถฟื้นตัวได้หลังจากนี้หรือไม่
กลุ่มธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบไปแบบ 100% อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนท์ รองลงมาจากกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว เนื่องจากทั้งสองกลุ่มธุรกิจนี้เป็นกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก
ซีรีส์พิเศษเรื่อง CovidDisruption กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมองโรคโควิด-19 ผ่าน ‘วงการเอ็นเตอร์เทนเมนท์’ ในมุมมองของ พล หูยประเสริฐ นัก Design Creative การจัดคอนเสิร์ต แห่งบริษัท H.U.I. ผู้ผลิตคอนเสิร์ตดีไซน์ (Design Concert) ประดับประเทศ
โควิดมา แต่ธุรกิจต้องเดินต่อ
“ช่วงก่อนเกิดการระบาด บริษัทมีการคุยกันถึงนโยบายลดงานที่รับลงบ้างแล้ว เพราะอยากไปปรับปรุงระบบดิจิทัลบ้าง พอเกิดช่วงระบาดจริงๆ ตอนแรกยอมรับว่าบริษัทก็ยังโอเคอยู่ เพราะมันหมายถึงโอกาสที่เอาเวลาเหลือจากงานที่ถูกเลื่อน ไปปรับปรุงส่วนต่างๆ ของบริษัท แต่พอเวลาผ่านไปสักพัก ก็เริ่มรู้สึกว่า.. ที่เป็นอยู่ตอนนี้ มันเริ่มไม่ใช่แล้ว! ช่วงเวลาที่งานหายไปมันนานเกินไป หลายเดือนเกินที่คาดไว้” พล หูยประเสริฐ เล่าให้ฟัง
พล อธิบายเกี่ยวกับบริษัท H.U.I. เพิ่มเติมอีกว่า เป็นธุรกิจทำคอนเสิร์ตดีไซน์ (Design Concert) ทำเอ็กซ์พีเรียนซ์ดีไซน์ (Experience Design) และก็พวกไลฟ์ดีไซน์ (Live Design) ละครเวที รายการทีวีต่างๆ เป็นต้น โดยก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทมีงานปีละ 40-50 งานเลยทีเดียว
“หลังจากเกิดโรคระบาดงานที่เคยมีอยู่ตอนนี้คือไม่มีเลย เราถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับกระทบมากที่สุด และคาดว่าน่าจะได้ฟื้นฟูช้าที่สุด เพราะเป็นกิจการรวมกันของคนหมู่มาก”
พล หูยประเสริฐ
เมื่อเป็นเช่นนั้น บริษัท H.U.I. จึงมีการประชุมถึงช่วงเวลาที่เหลือว่าควรทำเช่นไรกันดี เพื่อไม่ให้บริษัทนิ่งจนเกินไป หรือส่งผลกระทบต่อทีมงาน
“พอถึงจุดที่เราเริ่มคิดว่าเราควรทำอะไรกันดี ในมุมมองของผมเอง การเกิดขึ้นของโควิดมันทำให้เราคิดว่าควรจะสร้างสรรค์ไอเดียยังไงดี เพราะยังไม่รู้ว่าคนดูจะได้กลับมาดูคอนเสิร์ตจริงๆ เมื่อไร เรามีหนทางที่จะทำให้ศิลปินมาใกล้ชิดกับคนดูเหมือนกับคอนเสิร์ตปกติมากขนาดไหน”
1
เมื่อเกิดไอเดียตั้งต้นถึงการทำคอนเสิร์ตแบบใหม่ พร้อมกับได้เห็นรูปแบบของโปรแกรม Zoom ระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ (Video Conference) ที่ประชุมออนไลน์ได้ทีละหลายๆ คน พลจึงเริ่มสนใจที่จะทำให้ศิลปินกับคนดูได้กลับมาใกล้กันอีกครั้ง ทำให้บริษัท H.U.I. มีโปรเจค คอนเสิร์ตออนไลน์ เกิดขึ้น
“มันเป็นเพราะโควิดกระตุ้นให้เราคิดสิ่งนี้ขึ้นมา ไม่ใช่เกิดจากการดิสรัปของโควิด แต่เป็นการดิสรัปของเทคโนโลยีที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่มีโควิด มันก็อาจจะมีสิ่งนี้ในวันข้างหน้าวันใดวันหนึ่ง” พลกล่าว
คอนเสิร์ตออนไลน์ ความสนุกแบบ Social Distancing
พล เล่าว่า คอนเสิร์ตออนไลน์ สำหรับตัวผมเองคือสิ่งที่ใหม่มาก เพราะว่าการเอาคนดูเข้ามาแบบเดิมก็คือคนดูเข้ามาตรงที่นั่ง แต่ตอนนี้มันเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องลงทะเบียน (Register) ให้เขาอยู่ตรงไหนของจอ เน็ตเขาจะล่มไหม เราเลยจำเป็นต้องทดลองอะไรเยอะขึ้น ขณะเดียวกันเวลาเราก็จำกัดเพราะเราต้องรีบเล่น จังหวะของโควิดมันคาดเดาไม่ได้ เราเลยต้องรีบทำขึ้นมา ทุกอย่างในการทำงานคือการทดลอง
“ก่อนที่เราจะจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ เวลาไปสัมภาษณ์ที่ไหน ผมก็จะบอกตลอดว่าช่วยให้กำลังใจผมด้วย ลุ้นกับผมหน่อย เพราะผมก็ไม่เคยทำ และถ้ามันทำออกมาดีผมก็อยากให้คนอื่นเอาไปทำต่อด้วย เพื่อให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วมันก็จะเกิดโปรดักซ์ใหม่ ซึ่งมันยังคงอยู่หลังจากหมดโควิดไปแล้ว
ผลตอบรับหลังจากคอนเสิร์ตจบคือ ทุกคนสนใจ ผมได้รับโทรศัพท์จากทุกค่ายเพลงถึงความสนใจในคอนเสิร์ตออนไลน์ ผมแค่คิดว่าทุกคนคงอยากทำอยู่แล้ว พอมีคนนำร่องเลยเห็นช่องทางที่พอไปได้ ผมรู้สึกดีที่มีคนอยากทำตาม มาช่วยกันทำ ไม่ต้องเป็นผมคนเดียวก็ได้”
พลยอมรับว่าตอนที่ทำคอนเสิร์ตออนไลน์นั้น ปัญหาที่เจอหนักๆ เลยก็คือ คนไม่รู้จักการใช้โปรแกรม Zoom กลายเป็นประเด็นหลักที่ต้องมานั่งคิดกันว่าทำยังไงถึงจะช่วยให้ผู้ชมใช้งานได้ง่ายขึ้น มันเป็นการดิสรัปของเทคโนโลยี ดังนั้นคนที่เป็นกลุ่มเด็ก คนที่เป็นกลุ่มวัยทำงาน แล้วใช้โปรแกรมจำพวกนี้บ่อยๆ มันจะไม่มีปัญหาเพราะเขาโดนดิสรัปด้วยเทคโนโลยีพวกนี้อยู่แล้ว แต่คนบางกลุ่มที่ไม่เคยใช้เทคโนโลยีนี้เลยอาจจะต้องถูกเรียนรู้ใหม่ ก็จะเป็นปัญหาส่วนหนึ่ง อย่างเคสหนึ่งคือคอนเสิร์ตเล่นไปได้ครึ่งทางแล้ว แต่ผู้ชมบางคนก็ยังเข้าระบบออนไลน์ไม่ได้
มอง โควิด-19 ผ่านมุมมองของธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนท์
“ในมุมมองผมเองคอนเสิร์ตก็ยังคงมีโปรดักซ์แบบเดิม แต่ต้องย้อนถามว่าโควิดจะหายไปแบบไหน ถ้าหายไปแบบวัคซีนแสดงว่าพฤติกรรมมนุษย์ก็จะกลับมาเหมือนเดิม แต่ระหว่างช่วงโควิดเราได้ทดลองอะไรใหม่ๆ มันเท่ากับว่าเรามีทางออกใหม่ ทางเลือกจะเล็กหรือจะใหญ่มันจะโตของมันเอง เมื่อจบโควิดไป สิ่งนี้ (คอนเสิร์ตออนไลน์) ก็อาจจะยังอยู่ สิ่งเดิมก็กลับมา มันเป็นเหมือนทางเลือกที่เพิ่มขึ้น”
พลอธิบายว่า บริษัทนี้เป็นบริษัทขายดีไซน์ ขายวิธีคิดและเรื่องการทำงานเป็นหลักอยู่แล้ว วิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้จึงทำให้พลและทีมงานรู้ว่า ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเข้ามา ความรู้และความคิดมันสามารถทำให้พวกเราหาทางออกกับมันได้ และสิ่งที่ซัพพลายเออร์ไม่ได้คิดถึงมัน แต่พอถึงจุดที่มันเป็นวิกฤติแล้วทุกคนสามารถหาทางออกด้วยวิธีการคิดงาน แล้วมันก็จะทำให้เราพัฒนาไปสู่อีกจุดหนึ่งเสมอ
เมื่อพูดถึง New normal พลมองว่าไม่ได้เชื่อคำนี้ 100 % เพราะว่าคำนี้อาจทำให้คนเข้าใจผิดไปว่าคนเราจะกลายเป็นสิ่งใหม่เลยหรือ ในความคิดของพล คำว่า New normal จึงหมายถึงเพียงการมีสิ่งใหม่เข้ามาในการใช้ชีวิต แต่ไม่ถึงขนาดเปลี่ยนคอนเสิร์ตไป
“New normal ในสายตาของผมคือ คอนเสิร์ตระยะยาวก็น่าจะกลับมามีเหมือนเดิมเป็นปกติ แต่มีทางเลือกใหม่ๆ สิ่งใหม่ๆ เข้ามา เช่น การทำคอนเสิร์ตออนไลน์แบบนี้ การสัมมนาแบบนี้ หรือการจะทำห้องปิดในการทำอะคูสติก (Acoustics) เล็กๆ กับคนดู มันจะมีช่องทางไปต่อได้อีก
ส่วนตัวกลับรู้สึกด้วยซ้ำว่าสิ่งที่มันดิสรัปคอนเสิร์ตหรือสังคม มันคือเทคโนโลยี ไม่ใช่โควิด-19 แต่โควิดมีส่วนที่ทำให้เทคโนโลยีตรงนี้ต้องเร่งเร็วขึ้นมากกว่าปกติ” พลกล่าวทิ้งท้าย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา