16 มิ.ย. 2020 เวลา 06:51 • ประวัติศาสตร์
ภาษาของชาวสยามในมาเลเซีย
ภาษาเจ๊ะเห หรือภาษาไทสำเนียงตากใบ เป็นภาษาพูดของชาวไทยพุทธในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานีบางอำเภอ และยังรวมถึงรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซียด้วย มีจำนวนผู้พูดภาษานี้ประมาณหนึ่งแสนคนเศษๆ
มี fc จากช่องตาปีนิ ซึ่งเป็นชาวไทยพุทธที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย สอบถามมาว่า "ผมเป็นคนไทยในมาเลเซีย รัฐปะลิส อยากรู้ประวัติที่มาคนไทยในปะลิสและไทรบุรี และความแตกต่างทางด้านภาษาของชาวสยามที่อาศัยอยู่ในมาเลซียครับ"
วันนี้ตูนจึงขอมาเล่าสู่กันฟังค่ะ
"ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย" หรือ "ชาวสยาม" ที่คนมาเลเซียนิยมเรียกกัน เป็นชาวไทยถิ่นใต้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แถบนี้มาช้านาน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก เพื่อรักษาเอกราชชนชั้นปกครอง ไทยจึงได้ยอมเซ็นสนธิสัญญายกไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ปะลิส และเปรักตอนบนให้แก่อังกฤษ ในปี พ.ศ.2451 หรือเมื่อ 100 กว่าปีก่อน ภายหลังการยกดินแดนส่วนนี้ให้แก่อังกฤษ ชาวไทยกลุ่มนี้จึงมีสัญชาติมาเลเซีย แต่มีเชื้อชาติไทยเหมือนกับพวกเรานี่แหละค่ะ พวกเค้าตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นั่นนับตั้งแต่อังกฤษยึดครองมาเลเซีย จนกระทั่งมาเลเซียได้รับเอกราชมาจนถึงปัจจุบัน และสิ่งที่น่าภาคภูมิใจก็คือ พวกเค้ายังรักษาประเพณีวัฒนธรรมของไทยในอดีตไว้ได้อย่างดี รวมถึงภาษาและศาสนาพุทธที่เป็นเอกลักษณ์
ชาวสยามในมาเลเซีย เมื่อครั้งอดีต
แล้วทำไมคนสยามในมาเลเซียแต่ละท้องที่ จึงมีการใช้ภาษาที่แตกต่างกัน ???
รัฐไทรบุรี หรือเคดาหห์ ประเทศมาเลเซีย มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดสงขลา ยะลา และรัฐปะลิส มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดสงขลาและสตูล ภาษาของชาวไทยพุทธที่อาศัยอยู่ในไทรบุรีและปะลิส จึงเป็นภาษาถิ่นใต้ในกลุ่มนครศรีธรรมราช และสงขลา
ส่วนรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดนราธิวาส ภาษาที่ชาวสยามในรัฐกลันตันใช้สื่อสาร จึงเป็นภาษาเดียวกับที่ชาวพุทธในจังหวัดนราธิวาสใช้ นั่นคือภาษาเจ๊ะเห ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มภาษาตากใบ มีเพียงแม่น้ำโก-ลก ที่ขีดเส้นแบ่งเขตระหว่างไทยและมาเลเซียเท่านั้น รัฐกลันตันจึงเป็นรัฐเดียวในมาเลเซียที่มีการสื่อสารโดยใช้ภาษาเจ๊ะเหค่ะ
แม่น้ำโก-ลก กั้นพรมแดนไทย-มาเลเซีย
เพื่อนๆ ทราบไหมคะว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอแว้ง (บ้านของตูนเอง) 3 อำเภอในจังหวัดนราธิวาส เกือบจะต้องตกเป็นดินแดนของมาเลเซียซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในสมัยนั้นแล้วนะคะ แต่เรายังโชคดี ที่เรามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญนั่นก็คือวัดชลธาราสิงเหค่ะ
วัดชลธาราสิงเห (วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย)
วัดชลธาราสิงเห มีส่วนเกี่ยวพันกับกรณีแบ่งแยกดินแดนตากใบ ระหว่างประเทศสยาม กับประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษในขณะนั้น โดยฝ่ายสยามได้มีการยกเอาพระพุทธศาสนา วัดและศิลปะในวัด เป็นเครื่องต่อรองการแบ่งปันเขตแดน โดยอังกฤษได้ทำการปักปันเขตแดนเข้ามาถึงบ้านปลักเล็ก เลยจากวัดชลธาราสิงเห 25 กิโลเมตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทำการแย้ง โดยให้เหตุผลว่า วัดชลธาราสิงเหเป็นวัดไทยที่มีความสำคัญ เป็นมรดกทางพุทธศาสนา
ฝ่ายอังกฤษจึงยอมรับและเลื่อนการปักปันเขตแดนถอยลงไปทางใต้จนถึงแม่น้ำโกลก ทำให้อำเภอตากใบ อำเภอแว้งและอำเภอสุไหงโก-ลก อยู่ในการปกครองของไทยจนถึงปัจจุบัน วัดชลธาราสิงเหจึงได้สมญานามว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย"
พระอุโบสถ วัดชลธาราสิงเห
บ้านของตูนก็อยู่ที่อำเภอแว้ง ซึ่งเป็นครอบครัวทางฝั่งคุณแม่ ส่วนบ้านเดิมของคุณพ่อก็อยู่ที่อำเภอตากใบ และตูนเองก็เติบโต เรียนหนังสือที่อำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส หากไม่มีวัดชลธาราสิงเห หรือวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย ตัวตูนเองและครอบครัวก็คงไม่ได้เป็นประชากรไทย มีสัญชาติไทยมาจนถึงทุกวันนี้ ฉะนั้นชาวสยามในรัฐลันตัน กับชาวไทยพุทธในจังหวัดนราธิวาส เราจึงมีความผูกพันกันมาก ญาติพี่น้องของเราที่อยู่กลันตันก็ไปมาหาสู่กันเสมอ
และแม้ว่าเรื่องราวในอดีตจะทำให้เราถูกแบ่งแยกกันเป็นคนละประเทศ มีเพียงแม่น้ำสุไหงโก-ลก เป็นพรมแดนกั้นเท่านั้น แต่มิอาจขวางกั้นหัวใจที่มคงวามผูกพันกันมายาวนานได้ ในความรู้สึกของพวกเรา เค้าก็ยังเป็นคนไทยเหมือนเราเสมอมา
เพื่อนๆ สามารถชมคลิป แกะรอยชาวสยามในมาเลเซีย เชื้อชาติไร้พรมแดน ได้ที่ลิงก์นี้นะคะ https://www.youtube.com/watch?v=W0-E0ClEVfc&t=34s
โฆษณา