17 มิ.ย. 2020 เวลา 11:04 • ข่าว
เมื่อบ้านของเราอาจกลายเป็น
”ห้องตรวจโรค”ขนาดย่อมได้
เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลหรือ telemedicine/telehealth กันบ้างแล้ว เช่น การพบแพทย์ผ่านวิดีโอคอล เป็นต้น
แต่ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของการพบแพทย์ทางไกลก็คือ แพทย์ไม่สามารถตรวจร่างกายได้นั่นเอง ซึ่งก็จะทำให้มีข้อจำกัดในการวินิจฉัยโรคอยู่บ้าง
แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เทคโนโลยีก็ได้พาเราไปอีกขั้น เมื่อ “Tyto care” บริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์ของอเมริกา ได้มีการเปิดตัวอุปกรณ์ที่เป็นชุดตรวจขนาดพกพา ซึ่งประกอบไปด้วย
- กล้อง
- Thermometer หรือที่วัดอุณหภูมิ
- stethoscope หรือหูฟัง สำหรับฟังเสียงปอดและหัวใจ
- Otoscope สำหรับส่องตรวจหู
- ไม้กดลิ้น
Tyto care
ซึ่งคนทั่วไปสามารถเรียนรู้วิธีการใช้ได้ไม่ยาก และช่วยส่งข้อมูลการตรวจร่างกายให้แพทย์ได้ทุกที่ทุกเวลา
อุปกรณ์เหล่านี้จะสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคพื้นฐานได้ดีขึ้น เช่น ไข้หวัด คออักเสบ การติดเชื้อในหู ที่ไม่ได้รุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน
โดยเจ้าเครื่องนี้มีต้นกำเนิดจากแนวคิดของ
‘Dedi Gilad’ CEO และผู้ก่อตั้งร่วมของบริษัท ที่มีความเบื่อหน่ายที่จะต้องเสียเวลาขับรถพาลูกๆของเขาไปโรงพยาบาลด้วยอาการเล็กๆน้อยๆ ซึ่งเขารู้สึกว่าใช้เวลามาก และที่สำคัญคือ ต้องพาลูกๆไปปะปนในแหล่งของ”เชื้อโรค” จากเด็กที่ป่วยแถวนั้นจำนวนมาก และพอเข้าไปตรวจแพทย์ก็ใช้เวลาสั้นๆง่ายๆในการวินิจฉัยโรคเหล่านี้
ด้วยความที่เขามีพื้นฐานทางวิศวกรรม จึงเกิดความคิดที่ว่า ทำไมเราต้องมาเสียเวลาอะไรมากมายกับการตรวจที่แพทย์สามารถวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว จึงเริ่มคิดค้นอุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อช่วยในการดูแลกลุ่มผู้ป่วยเด็กเป็นหลัก
โดยที่บริษัทเน้นทำงานร่วมกับธุรกิจการแพทย์โดยขายอุปกรณ์ให้กับโรงพยาบาลที่ต้องการนำไปใช้กับผู้ป่วย โดยใช้การเชื่อมต่อผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ เพื่อส่งข้อมูลการตรวจเป็นเสียงหรือภาพต่างๆ ให้โรงพยาบาลที่ทำ telehealth เตรียมแพทย์ไว้ช่วยวินิจฉัยและสั่งการรักษาให้ได้ ซึ่งถือว่าเป็นตัวช่วยแพทย์ได้มากขึ้น และน่าจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยได้มากขึ้นเช่นกัน
ในบริบทของประเทศไทยนั้น ก่อนหน้านี้เราคงมอง telehealth เป็นเรื่องไกลตัว ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยเข้าถึงการแพทย์ได้ง่าย รวมถึงข้อจำกัดทางด้านทรัพยากร ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆก็มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง
แต่ในช่วงยุคของ covid-19 นี้ ถือเป็นตัวเร่งชั้นดีของธุรกิจ telehealth ซึ่งมีการเติบโตสูงขึ้นมากในหลายประเทศ และในประเทศไทยก็มีหลายโรงพยาบาลที่เริ่มให้บริการในลักษณะนี้แล้วเช่นกัน อย่างเช่นเครือของโรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งมีการใช้แอพพลิเคชั่นที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ตรวจร่างกายนี้ได้ และได้นำไปประยุกต์ใช้ในภาวะโควิด เพื่อลดการสัมผัสโดยตรงระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์
Bdms
ก็ไม่แน่เหมือนกันว่าอีกหน่อยบ้านของหลายๆคน อาจจะมี”ห้องตรวจโรค” เพิ่มขึ้นมาอีกห้องก็ได้ เพราะเราสามารถวัดความดัน ฟังหัวใจ ฟังปอดได้ อีกหน่อยอาจจะมีเครื่อง x-ray เคลื่อนที่ หรือเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่บ้าน เหมือนเครื่องวัดความดันก็ได้ ถ้าเราสามารถเพิ่มขีดจำกัดของอุปกรณ์และลดต้นทุนได้
และก็ไม่แน่เหมือนกันว่า ถ้ามีการเก็บข้อมูลประวัติ การตรวจร่างกาย และการวินิจฉัยในลักษณะนี้มากๆ ในอนาคตหุ่นยนต์อาจจะเข้ามาวินิจฉัยโรคและสั่งยาแทนแพทย์ก็ได้ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ก็จะมีความคุ้นเคยและเชื่อมั่นในหุ่นยนต์มากขึ้น
อาชีพที่มั่นคงมากอาชีพหนึ่งอย่างแพทย์ ก็อาจจะต้องเตรียมทางหนีทีไล่เอาไว้เช่นกัน
เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็วมากเหลือเกิน..
Reference :
โฆษณา