19 มิ.ย. 2020 เวลา 02:00 • บันเทิง
One Take: Sweat-Tears-Competitive
(Review by โพนี่จี้จุด)
เมื่อพูดถึง BNK48 แล้ว หลายคนต้องนึกถึงกลุ่มของสาวช่างฝัน ที่น่ารักสดใส เมื่อได้พบเจอพวกเธอ โลกทั้งใบก็ดูสว่างไสวขึ้นทันตาเห็น แต่สุดท้ายเหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ ภายใต้รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะอันบริสุทธิ์ของพวกเธอนั้น เบื้องหลังอาจเต็มไปด้วย หยาดเหงื่อ หยดน้ำตา รวมถึงสัจธรรมของการแข่งขันอันซับซ้อนของมนุษย์ที่ยากเกินจะเข้าใจ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความสมหวัง ความผิดหวัง และความเสียใจมานักต่อนัก
แน่นอนว่าก่อนจะอ่านรีวิวของผม คงต้องทักทายผู้อ่านทุกท่านหลังจากห่างหายงานเขียนแนวไอดอลไปเนิ่นนาน จงกระทั่งภาพยนตร์สารคดีเรื่องที่สองของวง BNK48 ได้กลับมาบรรจบกันในแพลตฟอร์ม Netflix จึงได้กลับมาเล่าเรื่องไอดอลให้ทุกท่านได้อ่านอีกครั้ง
สำหรับเรื่องราวของภาพยนตร์นั้น เป็นการเล่าถึงเหตุการณ์หลังปรากฎการณ์ ‘คุกกี้ฟีเวอร์’ อันเป็นเหตุให้วงไอดอลเกิรล์กรุ๊ปผู้เป็นน้องสาวของ AKB48 อย่าง BNK48 โด่งดังขึ้นเป็นพลุแตก กระแสการตอบรับถล่มทลายจนทำให้ ผู้บริหาร ในขณะนั้นอย่าง ‘ต้อม-จิรัษฐ์ บวรวัฒนะ’ และ ‘จ๊อบซัง-ณัฐพล บวรวัฒนะ’ มีความคิดที่จะรับสมาชิกรุ่นที่ 2 เพิ่มขึ้น ก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2018 ลากยาวไปถึงช่วงเวลาในการจัดงาน Senbatsu General Election ซึ่งเปิดโอกาสให้แฟนคลับได้ผลักดันสมาชิกที่ตัวเองชื่นชอบ ขึ้นสู่ตำแหน่งเซ็มบัตสึ หรือผู้ที่ถูกเลือกประจำเพลงนั้นๆ ผ่านการโหวต โดยได้ ‘โดนัส-มนัสนันท์ พันธ์เลิศวงศ์สกุล’ มาเป็นผู้กำกับในครั้งนี้ ซึ่งแม้ว่าทุกคนจะมีภาพจำต่อตัวเธอในฐานะนักแสดงมากฝีมือ แต่ก็มีผลงานกำกับที่น่าจดจำมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์เรื่อง Love Sucks รักอักเสบ รวมถึงผลงานมิวสิควีดีโอเพลง พูดลอยลอย ของ อัสนี-วสันต์ โชติกุล และการรับบทบาทในฐานะผู้จัดละครเรื่องแรกอย่าง เดือนประดับดาว ที่ได้ ‘บอม-ธนินทร์ มนูญศิลป์’ และ ‘พรีม-รณิตา เตชสิทธิ์’ มาร่วมแสดงนำอีกด้วย
ภาพรวมของ BNK48: One Take โดยส่วนตัวของผมแล้ว คิดว่าภาพยนตร์มันมีข้อดีตามแบบฉบับของมัน อย่างเช่นบทสัมภาษณ์ของสมาชิกในวงที่กล้าพูดคุยแบบเปิดอก แสดงความคิดเห็น แสดงความรู้สึก แบบที่คุณไม่เคยเห็นจากสื่อไหนอย่างแน่นอน ได้เห็นชีวิตอีกด้านหลังไฟสปอตไลท์ที่สาดส่องบนเวที ซึ่งทำให้เห็นว่าภาพยนตร์ได้ถูกทำออกมาอย่างเป็นอิสระ และสามารถนำเสนอได้ตามแบบฉบับของมัน นอกจากนี้ยังมีฟุตเทจเบื้องหลังการทำงานที่ใครหลายคนบ่นอยากเห็นถึงมัน ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ตอบโจทย์ผู้ชมในเรื่องนี้อีกด้วย
ข้อดีอีกอย่างนั่นคือ ภาพยนตร์พยายามสร้างความรู้สึกให้เราเหมือนสวมหัวโขนเป็นคนที่มีสถานะแตกต่างกันออกไป เหมือนกับคำพูดของใครหลายคนที่เคยกล่าวไว้ว่า ‘ปัญหานั้นเหมือนกันแต่คนมองไม่เหมือนกัน’ อย่างในมุมมองของสมาชิกแถวหน้าก็มีความรู้สึกที่ดีใจไม่สุดแม้ว่าจะอยู่ในสปอร์ตไลท์ ได้รับโอกาสที่มากมาย มีแฟนคลับจำนวนมากคอยสนับสนุน แต่ก็มีความกดดันจากคนภายนอกที่คอยคาดหวัง รวมทั้งคนภายในที่ดูไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือว่าจะเป็นมุมมองของสมาชิกอันเดอร์เกิร์ล ที่มีความน้อยใจในฐานะผู้ถูกลืม ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง และโอกาสนั้นยากเย็นเกินไปในการไขว่คว้ามัน นอกจากนี้ภาพยนตร์ก็ยังแสดงถึงมุมมองแฟนคลับที่พร้อมสนับสนุนอยู่เคียงข้างตลอดเวลาในเส้นทางแห่งความฝัน
ส่วนตัวผมมองเห็นต่างกับใครหลายคนที่บอกว่า ภาพยนตร์นั้นไม่มีเหตุการณ์น่าจดจำ เพราะว่า คุณจะจดจำมันหรือไม่ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของคุณที่มีต่อสมาชิกในวงแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน อย่างตัวผมเอง ยกให้ฉากของฝ้ายนั่นเป็นเหตุการณ์ที่น่าจดจำของเรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าผมคามิโอชิฝ้ายเลยมีรู้สึกว่าฉากนี้มันน่าจดจำ แต่คำพูดของเธอกลายเป็นกระจกสะท้อนกลับมาสู่แฟนคลับว่า “จริงๆแล้ว คำว่าไอดอลที่ทุกคนต่างนิยามกันอย่างสวยหรู มันคืออะไรกันแน่ ?”
แต่ช่องโหว่ของ BNK48: One Take กลบข้อดีไปเกือบทั้งหมด นั่นเพราะว่า เราไม่สามารถหาจุดพีคสุดของภาพยนตร์ได้เลย เมื่อเทียบกับภาพยนตร์แนวสารคดีเรื่องอื่นๆ อธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นอย่างเรื่อง As It Was ของผู้กำกับ ชาร์ลี ไลท์เทนนิ่ง ที่เขาตามติดชีวิต เลียม กัลลาเกอร์ อดีตฟร้อนต์แมนวง Oasis พร้อมพาเราไปสู่จุดต่ำสุดของเลียม หลัง Oasis แตกสาแหรกขาด โดนภรรยาเก่าฟ้องเป็นเรื่องราวใหญ่โต ก่อนขึ้นสูงจุดพีคของเรื่องที่เลียมกลับมามีชื่อเสียงอีกครั้งหลังปล่อยอัลบั้ม As You Were ผลงานเดี่ยวชิ้นแรกของเขาในปี 2017 โดยระหว่างทางมันทำให้เรามีอารมณ์ร่วมอยู่ตลอดเวลา แต่ใน BNK48: One Take กลับกลายเป็นว่ามันไม่ได้ทำให้รู้สึกแบบนั้น เพราะว่าเส้นเรื่องที่เดินมันเรียบเกินไป
นอกจากนี้ เมื่อดูจบแล้ว มันทำให้เกิดคำถามในหัวว่า “ความสุขที่แท้จริงของพวกเธอเหล่านั้น อยู่ตรงไหนกันแน่” แม้ว่าผมจะพอเข้าใจในสัจธรรมของการแข่งขันอันซับซ้อนของโลกใบนี้ มีสุข มีทุกข์ มีผิดหวัง มีสมหวัง ต้องต่อสู้ฝ่าฟันเพื่อให้ได้สิ่งปรารถนา แต่จุดที่พวกเธอยืนอยู่ตรงนี้มันมีความสุขอยู่จริงๆหรือเปล่า ซึ่งกลายเป็นข้อสังสัยที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ให้คำตอบกับผู้ชม และทิ้งปมไว้อย่างไม่มีใครสามารถคลายมันออกได้
แม้ข้อเสียจะมีอยู่มากพอๆกับข้อดีที่ทำให้เห็น แต่ก็เป็นอีกเรื่องที่อยากให้ดูด้วยตัวเองก่อนจะเชื่อรีวิวอันนี้ ถ้าใครดูแล้วสามารถเข้ามาคุยกันได้นะครับ :)
โฆษณา