19 มิ.ย. 2020 เวลา 02:55
and the review goes to.. "BNK48 - One Take"
สวัสดีทุกคน วันนี้จะมารีวิวสารคดีที่เพิ่งลง Netflix วันนี้หมาด ๆ อย่าง "BNK48 - One Take" ที่ก่อนหน้านี้เคยมีสารคดีเกี่ยวกับ BNK48 มาแล้วคือ "Girls Don't Cry" (ซึ่งก็ดูได้ใน Netflix เช่นกัน)
ทีนี้สารคดีเกี่ยวกับไอดอลวงเดิมที่เพิ่มเติมคือรุ่น 2 จะเป็นยังไงมารีวิวกัน
สำหรับ One Take นี้จะพูดถึงช่วงเวลาของ BNK48 ตอนที่เริ่มประกาศรับสมัครรุ่น 2 จนถึงจบงาน General Election ครั้งที่ 1 ซึ่งก็จะเป็นการสัมภาษณ์สลับกับใช้เทปบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ในการเล่าเรื่อง ซึ่งผู้ให้สัมภาษณ์นี้มีทั้งรุ่น 1, รุ่น 2 รวมถึงแฟนคลับด้วย
หลังจากดูจบ โดยรวมแล้วในฐานะโอตะเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่งสำหรับการดูสารคดีชุดนี้คือรู้สึกเฉย ๆ ไม่ดี ไม่แย่ และไม่มีอะไรแปลกใหม่ ยิ่งถ้าหากว่าใครเป็นพวกเตรียมตัวมาดีหน่อย ดู Girls Don't Cry มาเมื่อวานเพื่อมาดู One Take วันนี้อาจเข้าขั้นเบื่อ
มันเหมือนกับการฟังเรื่องเดิม ๆ ระบบเดิม ๆ จาก "คนเดิม ๆ" ที่เราก็รู้อยู่แล้วอีกครั้ง ยิ่งใครที่เป็นโอตะก็ยิ่งรู้ดี โดยสิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือมุมมองรุ่น 1 คิดยังไงกับรุ่น 2 และสัมภาษณ์ก่อน-หลังงาน General Election ซึ่งมันก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก
ทีนี้มาเรื่องของ "airtime" ที่ไม่ได้ต่างไปจาก GDC เลย ก่อนจะไปต่อผมขอยกประโยคที่ปูเป้พูดในงาน GE ครั้งที่ 1 มาคือ "คนส่วนใหญ่มักจะสนใจแต่เมมเบอร์ระดับท็อป หรือรู้สึกเห็นใจเมมเบอร์ที่เป็นอันเดอร์ แต่สำหรับเมมระดับกลางแล้วก็มักจะถูกลืม" ประโยคนี้ใช้เป็นนิยามในเรื่อง airtime ของสารคดี One Take ได้เป็นอย่างดี
และ One Take ก็เจริญรอยตาม GDC คือเน้นไปที่เมมท็อปและอันเดอร์ การเกลี่ย airtime สำหรับบทสัมภาษณ์คนห้าสิบกว่าคนคงจะยาก ถ้าใช้คนที่เป็นที่นิยมอยู่แล้ว (จุดบนสุด) และคนที่แทบไม่ได้รับโอกาสเลย (จุดล่างสุด) ก็จะทำให้สิ่งที่จะสื่อมันชัดเจนขึ้น และนั่นทำให้ "เมมเบอร์ระดับกลาง" ซึ่งก็คือเมมเบอร์ที่ไม่มีประเด็นถูกตัดออกไป
และนั่นทำให้ One Take คือ "การฟังเรื่องเดิม ๆ จากคนเดิม ๆ" นั่นเอง
แต่เชิงธุรกิจ การใช้เมมเบอร์หรือใครก็ตามที่ขายได้นั่นคือประเด็นสำคัญ ผมจึงไม่บอกว่าการเกลี่ย airtime แบบนี้มันผิดหรือไม่ แต่สำหรับผมมันโคตรจำเจเท่านั้นเอง วงไอดอลที่มีตั้งห้าสิบกว่าคน คนที่สร้าง impact ให้สารคดีชุดนี้ได้มันมีไม่กี่คนแค่นี้เองหรือ
ถ้าตัดเรื่องความจำเจออกไปแล้วคุยถึงสิ่งที่สารคดีอยากจะสื่อออกมา ตรงนี้ทำได้ดี ผมรู้สึกว่าหลังจากดูจบก็ได้ฟังประโยคดี ๆ ไปเยอะเหมือนกัน ขึ้นชื่อว่ามนุษย์เกิดมาย้อมหนีไม่พ้นทุกข์ สารคดีชุดนี้รวมทั้ง BNK48 นำเสนอสัจธรรมนี้ออกมา
Center ที่ทุกคนอยากเป็นก็ยังมีทุกข์ เพราะต้องแบกรับทุกอย่างของ single นั้นไว้ ความกดดัน hate speech จากโลก social และอะไรก็ตามที่ตีค่าออกมาเป็นตัวเลข Center จะต้องรับไว้ทั้งหมด
ไม่ติด senbatsu ก็เป็นทุกข์เพราะไม่ได้รับโอกาส ทั้งที่อยู่ในระบบที่อ้างคำว่า "ความพยายาม" ทำให้สับสนว่าอะไรคือสิ่งที่ BNK48 ต้องการกันแน่
และเมมเบอร์ระดับกลางก็มักจะโดนมองข้าม ไม่ดับแต่ไม่เด่น
และช่องว่างที่มองไม่เห็นระหว่าง "ชนชั้น" ในวง ทำให้ไม่รู้สึกสนิทใจกับใครได้ร้อยเปอร์เซ็น
ไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งไหนของ BNK48 มันก็ดูอึดอัดไปหมด และใครที่ทนไม่ได้กับระบบนี้ก็พากันทยอยจบการศึกษาไป
ทำให้หลังดูจบผมมานึกย้อนดูว่าเด็กพวกนี้กำลังทิ้งความสุขของตัวเองเพื่อมอบความสุขให้บรรดาโอตะหรือเปล่า เพราะการแข่งขันของ BNK48 มันหนักอึ้งจริง ๆ แต่เชื่อว่าสิ่งที่เด็กพวกนี้ทำต้องตอบแทนอะไรพวกเธอได้ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นเงิน โอกาส เพื่อน หรือความสุขของโอตะ
ความสุขของเมมเบอร์ BNK48 คืออะไรไม่รู้
แต่มันมากพอที่จะทำให้พวกเธอยังแข่งขันอยู่ในระบบที่โหดร้ายนี้
สรุปว่า BNK48 One Take = GDC+รุ่น 2+GE โอตะดูได้เพลิน ๆ อยู่แล้ว
แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่โอตะ ลองตัดคำว่า BNK48 ออก แล้วมาดูวัยรุ่นผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่กำลังสู้กับระบบที่ "เหมือนจะมีโอกาสแต่ก็รู้ว่าไม่มีโอกาส" หรือ "เหมือนจะมีความสุขแต่ก็ไม่มีความสุข" ว่าจะออกมาเป็นยังไง มันก็ไม่เลวนะ
ปล.ฉากรินะเปิดใจคุยกับมิโอรินี่ the best อย่างปั่น (ฮา)
ปล.2 ฉากที่ไม่ไหวจะเคลียร์ที่สุดคือซีนเศร้าที่ใช้เพลงวันแรก acoustic ver. เปิดคลอ ทำเอาเศร้าเลยทีเดียว
โฆษณา