19 มิ.ย. 2020 เวลา 03:44 • ท่องเที่ยว
เรือนขนมปังขิง งามเพริศพริ้ง ณ เมืองแพร่
“ขนมปังขิง” มาจากคำทับศัพท์ในภาษาอังกฤษว่า “Gingerbread” ที่ชาวตะวันตกใช้เรียกลวดลายประเภทหนึ่งที่มีจุดกำเนิดในยุคของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักร (ค.ศ.1837-1901) ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ลวดลายแบบขนมปังขิง … มีลักษณะหงิกงอเป็นแง่งคล้ายขิง อาจเป็นลายขมวด คดโค้ง ลายเรขาคณิต หรือเป็นลายกระจุ๋มกระจิ๋ม พวกพรรณพฤกษาดอกไม้ ใบไม้ คล้ายกับลายลูกไม้ถักทอ หรือการถักโครเชต์ ลวดลายแบนี้มักจะใช้ตกแต่งส่วนต่างๆ ของสถาปัตยกรรม
เรือนขนมปังขิงถือกำเนิดในประเทศอังกฤษ แล้วแพร่หลายเข้าสู่ภาคพื้นยุโรป และเมื่อมีการล่าอาณานิคมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4-5 … ชาวตะวันตก ได้นำเอารูปแบบเรือนขนมปังขิงเข้ามาในพื้นที่ที่ตนเข้ามาทำมาหากิน ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากเหตุผลหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่เหล่านี้มีไม้สักที่คุณภาพเยี่ยม ผู้คนในอุษาคเนย์มีฝีมือในเรื่องงานช่างชั้นครูในเชิงการแกะสลักที่วิจิตร ที่สามารถเนรมิตอาคารที่สวยเหมือนผ้าลูกไม้เนื้อดีได้ไม่ยาก
เรือนขนมปังขิง ณ เมืองแพร่
“เรือนขนมปังขิง” ที่ได้ชื่อว่า รุ่มรวยที่สุด งดงามที่สุดในเมืองไทย คือ กลุ่มเรือนขนมปังขิงที่ตั้งอยู่ในจังหวัดแพร่ ด้วยเหตุที่แพร่ในอดีตเคยเป็นแหล่งค้าขายไม้สักที่สำคัญของทางภาคเหนือ โดยในยุคที่การทำไม้มีความรุ่งเรืองถึงขีดสุด บรรดาคหบดี เจ้านายเชื้อพระวงศ์ต่างๆ สร้างอาคารบ้านพักอาศัยที่มีรูปแบบสวยงามขึ้นมากมาย
กลุ่มเรือนขนมปังขิงที่ตั้งอยู่ในจังหวัดแพร่ … มิใช่แค่สวยงามด้วยลวดลายที่งามวิจิตรเท่านั้น หากแต่ที่จังหวัดแพร่ยังเป็นจังหวัดเดียวที่รวมอาคารในสไสตล์ขนมปังขิงไว้มากที่สุดในแผ่นดินนี้ด้วย
ในบทความนี้ ขอนำตัวอย่างเรือนขนมปังขิงชิ้นเยี่ยมของเมืองแพร่มาให้ชม
บ้านวงศ์บุรี
บ้านวงศ์บุรีจัดว่าเป็นอาคารเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงที่สุดของจังหวัดแพร่ ด้วยความสวยงามสมบูรณ์ที่สุด ลักษณะอาคารเป็นเรือนปั้นหยาแบบประยุกต์ ทรงยุโรป ตกแต่งด้วยลายฉลุ ไม้แกะสลักที่หน้าจั่ว ชายคา ระเบียง ช่องลม ชายน้ำ หน้าต่าง ประตู สร้างโดยช่างชาวกวางตุ้ง ที่ประตูด้านหน้ามีรูปปูนปั้นรูปแพะ ซึ่งเป็นตัวแทนของหลวงพงษ์พิบูลย์และแม่เจ้าสุนันทาซึ่งเกิดในปีแพะ ภายในจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในสมัยก่อน
คุ้มเจ้าหลวง
เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมยุโรป หลังคามุงไม้แป้นเกล็ด มีมุกยื่นออกมาด้านหน้า ชายน้ำประดับด้วยไม้ฉลุลวดลายงดงาม ตัวอาคารสร้างด้วยอิฐถือปูน ไม่มีการลงเสาเข็ม แต่ใช้ไม้ซุงท่อนที่เป็นไม้เนื้อแข็งรองรับฐานเสาทั้งหลัง อาคารสูงจากพื้นดินประมาณ 2 เมตร ใต้ถุนอาคารเคยถูกใช้เป็นที่คุมขังนักโทษ ปัจจุบันเรายังเห็นโครงสร้างต่างๆ ของที่คุมขัง และมีการเจาะพื้นสำหรับให้อาหารนักโทษอีกด้วย
โรงเรียนนารีรัตน์
ภายในโรงเรียนนารีรัตน์ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับคุ้มเจ้าหลวง มีอาคารไม้เก่าแก่อยู่หลังหนึ่งชื่อว่าอาคารน้ำเพชร มี 2 ชั้น ชั้นละ 6 ห้อง สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2460 เพื่อใช้อาคารเรียนของโรงเรียน ลักษณะเป็นอาคารใม้ทั้งหลัง ทาสีเขียว ประดับด้วยไม้ฉลุโดยรอบ อาคารนี้ได้รับการซ่อมแซมเมื่อปี 2541 ปัจจุบันไม่ได้ใช้เป็นอาคารเรียนแต่ใช้เป็นที่ตั้งของสำนักงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงเรียนแห่งนี้
บ้านวงศ์พระถาง
ตั้งอยู่ที่ถนนเจริญเมือง ซึ่งเป็นแหล่งการค้าที่สำคัญของเมืองแพร่ในอดีต เป็นของพ่อเจ้าเสาร์ วงศ์พระถางซึ่งเป็นน้องชายหลวงพิบูลย์ บุตรเขยของแม่เจ้าบัวถา เจ้าของบ้านวงศ์บุรี โดยสันนิษฐานว่าใช้ช่างชุดเดียวกันกับบ้านวงศ์บุรี โดยดัดแปลงให้มีขนาดเล็กลง บ้านหลังนี้ปัจจุบันยังมีลูกหลานของท่านอาศัยอยู่ และได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
บ้านขัติยะวรา
เดิมเป็นบ้านของเจ้าน้อยโข้ ขัติยะวรา คาดว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2466 หลังบ้านวงศ์พระถาง ลักษณะบ้านเป็นเรือนขนมปังขิง มีลายฉลุที่เชิงชาย หน้าจั่ว และกรอบประตู เป็นอาคารชั้นเดียวใต้ถุนสูงสันนิษฐานว่าสร้างโดยช่างฝีมือชาวจีน
บ้านหลวงศรี
บ้านหลวงศรี หรือบ้านหลวงศรีนครานุกูล เป็นคหบดีชาวจีนที่ฐานะดี มีการสร้างบ้านตากอากาศไว้หลายหลัง โดยหลังนี้สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2462 เป็นอาคาร 2 ชั้นสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง หลังคาทรงปั้นหยามุงด้วยไม้แป้นเกล็ด มีมุขยื่นออกมาตรงกลางอาคาร ตัวอาคารทาด้วยสีครีม ชมพู และนำ้ตาล
บ้านเจ้าหนานไชยวงศ์
ผู้สร้างบ้านหลังนี้คือ พระยาบุรีรัตน์ มหายศปัญญา ราวปี พ.ศ. 2450 เพื่อเป็นเรือนหอให้ลูกสาวคือ แม่เจ้าสุธรรมา กับพ่อเจ้าหนานไชยวงศ์ เป็นบ้านไม้โบราณฉลุลายแบบขนมปังขิง สันนิษฐานว่าเป็นช่างชุดเดียวกับบ้านวงศ์บุรี ตัวบ้านทาสีไข่ไก่ขลิบแดง ด้านในไม่ทาสีเพื่อให้เห็นเนื้อไม้ ที่พิเศษคือบ้านนี้มีห้องน้ำในตัวอยู่ตั้งแต่เดิม บ้านนี้ปัจจุบันมีผู้อาศัยอยู่ และมีแผนจะสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้
คุ้มวิชัยราชา
สร้างโดยเจ้าหนานขัติ หรือพระวิชัยราชา สันนิษฐานว่าสร้างก่อนปี พ.ศ. 2440 เพราะมีบันทึกกล่าวถึงเหตุการณ์เงี้ยวปล้นเมืองแพร่ แล้วพระวิชัยราชาได้นำข้าราชการคนไทยจากภาคกลางขึ้นไปหลบที่เพดานคุ้ม ทำให้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระวิชัยราชา ลักษณะบ้านเป็นอาคาร 2 ชั้นทาสีครีมและเขียว สถาปัตยกรรมขนมปังขิง สร้างด้วยไม้สักทั้งหลังประดับลายฉลุ หลังคาทรงมนิลามุงด้วยไม้แป้นเกล็ด
บ้านพักมิชชันนารี
สร้างเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2426 เพื่อใช้เป็นบ้านพักของคณะมิชชันนารีจากสหรัฐอเมริกา เดิมเคยตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำยม แต่เนื่องจากตลิ่งถูกน้ำเซาะพังจึงย้ายมาไว้ในอยู่ ณ ที่ปัจจุบันที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนเจริญราษฎร์ แระโรงพยาบาลแพร่คริสเตียน อาคารหลังนี้จัดว่าอยู่ในสถาพที่สมบูรณ์มาก และยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
อาคาร Bombay Burmah Trading สวนรุกขชาติเชตะวัน (เพิ่งจะรื้อไป)
บริษัท Bombay Burmah Trading เข้ามาทำไม้ในเมืองแพร่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2432 โดยได้เข้ามาตั้งสำนักงานที่อยู่อาศัยบริเวณท่าน้ำเชตวันซึ่งเป็นแหล่งพักไม้ และใช้เป็นท่าน้ำล่องซุงจากแม่น้ำยมสู่แม่น้ำเจ้าพระยาจนทำให้เมืองแพร่เป็นที่รู้จักว่าเป็น "ดินแดนแห่งไม้สักทองคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก" โดยหลังจากที่หมดสัญญาสัมปทานป่าไม้ในเมืองแพร่ทางบริษัทฯ ได้ยกอาคารให้แก่รัฐ
ปัจจุบันอาคารหลังนี้ตั้งอยู่ในสวนรุกขชาติเชตะวันในความดูแลของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่)
ปัจจุบัน อาคารหลังนี้ถูกรื้อถอนโดยสิ้นเชิง แต่รู้มาว่า จะมีการสร้างใหม่ให้เหมือนเดิม … เลยไม่รู้จริงๆว่าเหตุผลที่ต้องรื้อ โดยไม่ทำการอนุรักษ์เป็นจุดๆนั้น เพราะอะไร?
โฆษณา