23 มิ.ย. 2020 เวลา 11:26 • สุขภาพ
ใบยา-ไฟโตฟาร์ม (Baiya phytopharm)
Startup สัญชาติไทยสู่งานวิจัยวัคซีน COVID-19 จากพืช
ใบยา-ไฟโตฟาร์ม (Baiya phytopharm) Startup สัญชาติไทยสู่งานวิจัยวัคซีน COVID-19 จากพืช : megainteresting
ภาพรวมการวิจัยวัคซีน COVID-19 ทั่วโลกยังคงดำเนินไปตามไทม์ไลน์ที่กำหนด มีการอัพเดตข้อมูลเป็นระยะๆซึ่งส่วนใหญ่ผลก็ออกมาในทางที่ดี
และในระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือนนับจากนี้วัคซีนตัวแรกน่าจะออกสู่ตลาดได้สำเร็จ
แต่ด้วยความต้องการของโลกที่สูงลิบ แม้จะมีวัคซีนที่ใช้การได้จริงๆออกมาก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจอกับปัญหาการกระจายที่ไม่ทั่วถึง เนื่องด้วยข้อจำกัดของการเพิ่มกำลังการผลิตที่ทำได้ไม่คล่องตัวนัก
นักวิจัยจึงหาหนทางใหม่ๆที่ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนให้ได้มากที่สุดภายใต้ข้อจำกัดของเม็ดเงินในการลงทุน
เป็นที่มาของวัคซีนจากพืช (Plant-based vaccine) ซึ่งเริ่มมีการนำมาใช้หลายประเทศ หนึ่งในนั้นคือประเทศไทยภายใต้การดำเนินงานของบริษัทใบยา-ไฟโตฟาร์ม (Baiya phytopharm) สตาร์ทอัพจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub)
อาศัยความเชี่ยวชาญของบริษัทในการผลิตโปรตีนจากพืชในเชิงอุตสาหกรรมต่อยอดมาสู่การพัฒนาวัคซีน หลังจากก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จในการใช้องค์ความรู้พัฒนาชุดตรวจ COVID-19 มาแล้ว
โดยทั่วไปการผลิตวัคซีนเชิงอุตสาหกรรมจะแบ่งได้ 2 แบบใหญ่ๆที่นิยม คือ
1. Egg-based : เอาไวรัสที่ต้องการฉีดเข้าไปในไข่ไก่ เพื่อให้ไวรัสค่อยๆเพิ่มจำนวน จากนั้นสกัดออกมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลงเพื่อใช้กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน
2. Cell-based : เพาะเลี้ยงไวรัสในเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น เซลล์ไตของลิง เมื่อเพิ่มจำนวนได้ตามต้องการจะทำการคัดแยกออกมาทำให้บริสุทธิ์เพื่อใช้เป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไป
ข้อจำกัดของทั้งสองวิธีคือต้องทำในระบบที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เงินลงทุนจำนวนมาก ใช้เวลาเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัสนานทำให้เพิ่มกำลังการผลิตได้ต่ำ
เปรียบเทียบการผลิตวัคซีนจากเซลล์สัตว์และจากพืช : protalix
วัคซีนจากพืช (Plant-based vaccine) เป็นเทคโนโลยีใหม่ของการผลิตซึ่งเป็นที่สนใจในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้ ใช้องค์ความรู้ที่อาศัยการสร้างโปรตีนจากพืชเพื่อเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ร่างกายของผู้ได้รับวัคซีน
พืชที่ถูกนำมาพัฒนาเป็นวัคซีนหรือแอนติบอดีรักษาโรคขณะนี้มีทั้ง แครอท มันฝรั่ง ข้าว ข้าวโพดและที่สำคัญคือใบยาสูบพื้นเมืองของออสเตรเลีย (Nicotiana benthamiana) ซึ่งทางยุโรปมองว่ามีศักยภาพสูงในการพัฒนาวัคซีน COVID-19 และบริษัทใบยาไฟโตฟาร์มกำลังวิจัยอยู่ขณะนี้
1
ข้อดีของใบยาสูบคือ ดูแลได้ง่าย เจริญเติบโตได้เร็ว และปลูกได้ในสภาพอากาศที่แตกต่างกันแทบทุกที่ทั่วโลก
ขั้นตอนการพัฒนาวัคซีนจากพืช : Plant Molecular Pharming/.Singhabahu
นักวิจัยจะคัดแยกโปรตีนซึ่งได้จากพันธุกรรมของไวรัสที่มีประสิทธิภาพกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ ออกมาฉีดใส่ต้นยาสูบที่เพาะเลี้ยงไว้เพื่อให้เพิ่มการสร้างโปรตีนที่ต้องการ
จากนั้นเมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์ใบของต้นยาสูบซึ่งโตเต็มที่จะถูกเก็บเกี่ยวออกมาสกัดและคัดแยกโปรตีนที่ต้องการออกมาไปฉีดทดสอบ ซึ่งการวิจัยกำลังอยู่ในขั้นสัตว์ทดลอง
และหากประสบความสำเร็จจะเป็นความก้าวหน้าของประเทศที่สามารถผลิตวัคซีนขึ้นมาใช้ได้เอง เพิ่มความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศและอาจทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการ
ผลิตในเอเชียได้อีกด้วย หากได้รับการสนับสนุนที่ต่อเนื่อง
1
นอกจากนี้การที่เราเป็นประเทศเกษตรกรรมอยู่เป็นทุนเดิมและมีความก้าวหน้าทางการแพทย์ การปลูกพืชเพื่อผลิตโมเลกุลทางยา (molecular Pharming) อาจเป็นการเปิด
โอกาสใหม่ๆให้สามารถพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมขึ้นมาได้
นำมาซึ่งการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้เกษตกรแทนที่การปลูกพืชแบบดั้งเดิมที่เน้นผลผลิตเพื่อการบริโภคเพียงอย่างเดียว
References :
Singhabahu S., Hefferon K., Makhzoum A. (2016) Plant Molecular Pharming. In: Jha S. (eds) Transgenesis and Secondary Metabolism. Reference Series in Phytochemistry. Springer, Cham

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา