20 มิ.ย. 2020 เวลา 07:29 • ธุรกิจ
ธนาคาร กำลังเจอคลื่นซัด
ข่าวใหญ่ของเมื่อวาน เรื่องแบงก์ชาติประกาศให้ทุกธนาคาร
งดการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล งดซื้อหุ้นคืน
ในระหว่างจัดทำ “แผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุน”
เรื่องนี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า แบงก์ชาติกำลังกังวล กับผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้น
แล้วเรื่องนี้เราควรรู้อะไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
โมเดลธุรกิจของธนาคาร ปกติแล้วจะมีการ LEVERAGE คือมีทุนของเจ้าของเพียงส่วนหนึ่ง และมีการใช้เงินคนอื่นมาทำธุรกิจอีกส่วนหนึ่ง
เงินคนอื่นในที่นี้ ก็คือ เงินฝากของคนทั่วไป
ส่วนการทำธุรกิจหลักของธนาคาร ก็คือ การปล่อยกู้ต่อให้ภาคธุรกิจหรือบุคคลทั่วไป ในดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
ยกตัวอย่าง งบไตรมาส 1 ปี 2020
KBANK ส่วนของเจ้าของ 407,000 ล้านบาท มีเงินรับฝาก 2,202,000 ล้านบาท มีเงินให้สินเชื่อ 1,929,000 ล้านบาท
SCB ส่วนของเจ้าของ 407,000 ล้านบาท มีเงินรับฝาก 2,276,000 ล้านบาท มีเงินให้สินเชื่อ 1,989,000 ล้านบาท
ถ้าโลกนี้ดำเนินไปอย่างปกติ
ธนาคารก็จะได้ดอกเบี้ยที่มากเกินค่าใช้จ่าย ไหลลงมาเป็นกำไรให้ธนาคาร
ได้เงินต้นคืนจากผู้กู้ เมื่อครบกำหนดชำระ แล้วก็นำเงินนั้นไปปล่อยกู้ต่อ วนไปเรื่อยๆ
ถึงแม้ว่าระหว่างนี้จะมีผู้กู้เบี้ยวหนี้บ้าง ไม่จ่ายดอกเบี้ยบ้าง
ก็เป็นเรื่องปกติที่ธนาคารได้ตั้งสำรอง และคาดการณ์ไว้แล้ว
แต่ประเด็นมันอยู่ที่ในวันที่เกิดเรื่องแย่ๆ แบบโควิด-19
ทุกอย่างมันแย่พร้อมกันหมด
ต่อให้สำรองเงินไว้มากเท่าไร
มันก็ไม่แน่ใจเลยว่าจะเพียงพอหรือไม่
ยกตัวอย่างถ้าให้กรณีที่รุนแรงที่สุด ถ้าเงินให้สินเชื่อของธนาคารเป็นหนี้เสีย 30% ด้วยหนี้เสียระดับนี้ถ้ามูลค่าหลักประกันมีน้อย ก็อาจเพียงพอแล้วที่จะทำให้ส่วนเงินกองทุนของธนาคารหายไปจนหมด
และเมื่อเงินทุนธนาคารหายไปหมด มันก็จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบกับเงินรับฝากจากประชาชน
ซึ่งตอนนี้มันไม่มีใครรู้ว่าตัวเลขหนี้เสียจะเป็นเท่าไร
มันจะรุนแรงขนาดไหน
“สถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ดี จนกว่าจะถึงวันเจ๊ง”
คำพูดของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร อธิบายได้ดีถึงเรื่องนี้
1
นั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้แบงก์ชาติออกมาให้ ทุกธนาคารทบทวนแผนเงินกองทุนใหม่
ให้ธนาคารตรวจสอบว่าลูกค้าที่ได้ขอกู้เงินไป เขาเป็นยังไง มีความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสียหรือไม่
6
ลูกค้าที่เป็นร้านอาหาร เงินที่กู้ไปตกแต่งร้านอาหาร ยังมีคนเข้ามากินอยู่ไหม
ลูกค้าที่เป็นโรงแรม เงินที่กู้ไปสร้างโรงแรม มีคนเข้ามาพักบ้างไหม
ลูกค้าที่เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เงินที่กู้ไปสร้างคอนโดขาย มีลูกค้ามาซื้อคอนโดหรือไม่
แต่ถ้าให้มองความจริง
สิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อธนาคารไปตรวจสอบผู้กู้
มันก็รู้ๆกันอยู่ว่า ตอนนี้มันพังกันทั้งระบบ
ผู้กู้เองก็จะตอบว่า “เขาก็ไม่รู้เหมือนกัน” ต้องรอเรื่องนี้ให้จบก่อนถึงจะรู้ว่า เขาจะจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นไหวหรือไม่
เมื่อธนาคารได้ทราบเรื่องแบบนี้ก็สองจิตสองใจ
ธุรกิจรายไหนจะตีว่า มีโอกาสกลับมาได้เป็นปกติ ผ่อนผันให้ไปก่อน
หรือ ธุรกิจรายไหนน่าจะแย่แน่ ไม่มีวันกลับมาได้แล้ว
ประเด็นต่อไปก็คือ แล้วเมื่อไรมันจะจบ
คำว่าจบมันก็ตีความได้ยากมาก ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ
เช่น ถามคำถามเดียวว่า ธุรกิจสายการบิน เมื่อไรจะจบ?
ต่อให้ผู้เชี่ยวชาญปราดเปรื่องในเรื่องสายการบิน ก็ยังไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร
แล้วจะให้ธนาคารมาประเมิน ธนาคารก็ไม่รู้
ดังนั้น
ธนาคารไหนมีหลักการที่ Conservative มาก กำไรของธนาคารก็จะลดลงมาก อาจถึงขั้นขาดทุนหนัก
ส่วนธนาคารไหนมีหลักการ Conservative น้อย ก็อาจมีตัวเลขสวย แต่ข้างในเสี่ยงกว่า
บอกได้เลยว่า
กำไรที่แสดงในงบการเงินของแต่ละธนาคารที่จะเกิดขึ้นในไตรมาส 2 และ ไตรมาส 3 ปีนี้ จะเอามาเทียบกันตรงๆไม่ได้
สิ่งที่เกิดขึ้นกับธนาคารตอนนี้จึงกลายเป็นดินแดนพิศวง ที่กำลังถูกคลื่นซัด
และก็เป็นที่มาว่า ทำไมตลาดยอมให้มูลค่าของธนาคาร เหลือเพียง 0.5 เท่าของมูลค่าตามบัญชี
เพราะนักลงทุนไม่รู้เลยว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในนั้น
อย่าว่าแต่นักลงทุนเลย
ธนาคาร ก็ไม่รู้ว่าเงินให้สินเชื่อเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร
อย่าว่าแต่ธนาคาร
ผู้ขอสินเชื่อเอง ก็ไม่รู้ว่ากิจการเขาจะเป็นอย่างไร
เพราะเหตุการณ์นี้
พวกเรา ไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต เหมือนกันทั้งหมด
และพวกเรา ก็น่าจะได้พบคำตอบ ไปพร้อมๆกัน เร็วๆนี้..
1
╔═══════════╗
อยากรู้ความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก ต้องเข้าใจอดีต
เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี พิมพ์ครั้งที่ 6
สั่งซื้อได้ที่ (รับส่วนลด 10% จากราคาปก 350 บาท)
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
โฆษณา