21 มิ.ย. 2020 เวลา 04:49 • ท่องเที่ยว
วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรีสามัคคีธรรม .. แพร่
แพร่เป็นเมืองที่มีศิลปวัฒนธรรมแบบล้านนาตอนล่างอันเป็นเอกลักษณ์ และวิถีอันสงบงามที่น่าสนใจเมืองหนึ่งในภาคเหนือ
“วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรีสามัคคีธรรม” หรือ วัดพระธาตุสุโทน เป็นวัดสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2520 ตั้งอยู่บนถนนสายแพร่-ลำปาง ช่วงอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ มีจุดเด่น คือ เป็นวัดที่รวบรวมศิลปกรรมล้านนาประยุกต์ที่สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
สิ่งแรกที่โดดเด่นตั้งแต่แรกก้าวเข้าสู่เขตวัด คือ พระนอนองค์โตที่ประดิษฐานอยู่ด้านซ้ายของประตูกลางทางเข้าวัด
พระนอนองค์นี้ สร้างด้วยศิลปะแบบพม่า มีพระพักตร์หวาน จีวรเป็นริ้วดูพลิ้วสวยงาม ฝ่าพระบาท 2 ข้างแกะสลักด้วยลวดลายมงคล และมีพุทธสรีระงดงามสมส่วน
มองดูคล้ายกับ พระพุทธยาสน์ “เจาทัตยี” (Kyauk Htat Gyi Reclining Buddha) หรือพระนอนตาหวาน ที่มีชื่อเสียงของพม่า
ด้านขวาของพระพุทธรูป มีสัตว์มงคลตามคติความเชื่อของชาวมอญ คือ หงส์ … ซึ่งเกี่ยวข้องกับตำนานการเกิดเมือง หงสาวดี ที่เคยเป็นเมืองที่เคยเจริญรุ่งเรืองมากของอาณาจักรมอญ ก่อนจะสิ้นแผ่นดินให้กับพม่า
.. ที่แพร่ อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่ (เดาเอาว่า) อาจจะเพราะศิลปะสวยงาม
ตรงบันไดทางขึ้นช่วงกลางวัด ถูกขนาบข้าง 2 ฟากฝั่งด้วยสิงห์คู่สีทองยืนโดดเด่นเป็นผู้พิทักษ์รักษาบันไดทางขึ้นสู่แดนแห่งธรรม โดยมีพญานาค 7 เศียรทอดตัวเลื้อยขนาบ 2 ข้างลงมาจากซุ้มประตูกลาง ด้วยศิลปะปูนปั้นเปลือยโดยจำลองแบบมาจากวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง
ปกติประตูทางกลางทางเข้าวัดจะปิด โดยยึดตามความเชื่อว่า ประตูทางกลางทางเข้าวัดมีไว้สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน เชื้อพระวงศ์ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ และผู้มีบุญบารมีเท่านั้น ส่วนปุถุชนคนธรรมดาก็ให้เดินเข้าวัดทางประตูฝั่งซ้าย-ขวา
เราเดินขึ้นเนินมาตามถนนทางด้นขวาของวัด
“พิพิธภัณฑ์สุวรรณหอคำ” เป็นอาคารทรงล้านนาสร้างด้วยไม้สักทอง มีเสาทั้งหมด 101 ต้น เป็นจำนวนเท่ากับหมายเลขถนน(สาย 101) ที่ผ่านหน้าวัด
ข้างในพิพิธภัณฑ์ เป็นที่เก็บรวบรวมเรื่องราวของล้านนาและเมืองแพร่ จัดแสดงเครื่องใช้อาวุธของนักรบโบราณ รวมทั้งภาพถ่ายของเจ้านายฝ่ายเหนือและ ภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ในล้านนา
เต็มไปด้วยโบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่หายากมากมาย … อาทิเช่น พระพุทธรูปปางต่างๆจำนวนมากเครื่องดนตรีโบราณ รูปเคารพโบราณต่างๆ หม้อไหเก่า เครื่องทองเหลือง เครื่องกระเบื้อง เครื่องเขิน เครื่องสังคโลก อาวุธโบราณ ฯลฯ รวมถึงภาพถ่ายโบราณต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์กฎหมายมังรายศาสตร์ ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกของเมืองแพร่อันว่าด้วยการปกครองและการพิจารณาคดีความต่าง
… เรามีเวลาไม่พอที่จะเข้าไปชมด้วยตัวเองค่ะ
ถนนที่นำเราขึ้นไปยังประตูทางเข้ามีรูปปูนปั้น คนยุดนาค .. มองดูไปคล้ายกับที่เคยเห็นที่ทางเข้าประตูเมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา
เมื่อเดินตามเนินถนนขึ้นไปชั้นบน นอกกำแพงของโบสถ์ … มีพระพุทธรูปหลายองค์ที่มองดูเหมือนกับล้อมภูเขาเอาไว้ พระพุทธรูปประทับยืน ทำให้คิดถึงพระพุทธรูปใน อานันทวิหาร ที่พุกาม ประเทศพม่า
วิหารหลังนี้ไม่ทราบประวัติค่ะ
เราเลือกเข้าประตูทางฝั่งขวาเพื่อเข้าไปชมด้านในของวัด
ซุ้มประตูฝั่งขวานี้จำลองแบบมาจากวัดพระธาตุดอยสุเทพเชียงใหม่(ส่วนซุ้มประตูด้านซ้ายอีกฝั่งจำลองมาจาก วัดพระธาตุหลวงเวียงจันทน์) ปากทางเข้ากำแพงโบสถ์ที่มีทวารบาลยักษ์คู่ตัวเขียวและตัวน้ำตาลยืนถือขวานยาวเฝ้าปากประตูท่าทางขึงขังทีเดียว
ภายในเขตกำแพงโบสถ์ มีภาพความงามในงานสถาปัตยกรรม
ศิลปกรรม และงานพุทธศิลป์ต่างๆมากมาย .. สวยงามไปแถบทุกจุด ทั้งงานแกะสลัก งานปูนปั้น พระพุทธรูป และลวดลายประดับต่างๆ
ที่สำคัญคือในความงามที่พบเห็น ล้วนแฝงไว้ด้วยปริศนาธรรมทั้งสิ้น ซึ่งหากเดินดูผ่านๆอาจจะไม่รู้
ว่ากันว่า … ท่านพระครูบามนตรี ธมฺมเมธี (พระครูวิฑิตพิพัฒนาภรณ์) หรือคูบาน้อย เจ้าอาวาสวัดแห่งนี้ เป็นผู้สนใจในงานศิลปะมาก ชอบปั้นพระมาตั้งแต่เด็ก พอบวชก็ได้ไปเรียนวิชาปั้นพระสร้างวิหารจากครูบาคัมภีระปัญญา ที่วัดเฟือยลุง จังหวัดน่าน
หลังจากนั้นท่านได้ออกเดินทางไปศึกษางานพุทธศิลป์ระดับชั้นยอดตามวัดวาอารามที่ต่างๆ (โดยเฉพาะวัดทางภาคเหนือ) ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ (จีน พม่า ลาว) โดยเลือกเอาจุดเด่นของงานศิลปกรรมตามวัดต่างๆ มารวบรวมไว้ที่วัดนี้ โดยระดมช่างฝีมือชั้นยอดที่เรียกว่า"สล่า"ของภาคเหนือมาสร้างงานร่วมกัน
แม้งานส่วนใหญ่จะจำลองหรือได้แนวทางมาจากหลากหลายที่ แต่พระครูบามนตรีท่านได้นำมาประยุกต์เข้าไว้ด้วยกันอย่างผสมกลมกลืน ลงตัวสวยงาม ออกมาเป็นงานพุทธศิลป์ในระดับสุดยอดของเมืองไทยชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว
นอกจากนั้น ผลงานหลายชิ้น สิ่งก่อสร้างหลายอย่าง พระครูบามนตรีท่านได้ลงมือทำด้วยตัวเองทั้งการแกะสลัก ปั้นปูน ฯลฯ รวมไปถึงการออกแบบที่เขียนแบบงานกันอย่างสดๆชนิดที่ไม่ต้องมีแบบร่างแต่อย่างใด
จุดเด่นที่เป็นไฮไลท์ของวัดจุดแรก คือ พระบรมธาตุ 30 ทัส เจดีย์องค์ประธานและเจดีย์รายรอบหุ้มทองจังโก้สีทองเหลืออร่าม งดงามมาก
พระบรมธาตุ 30 ทัส เป็นศิลปะเชียงแสนยุคต้น จำลองมาจากวัดพระธาตุนอ(หน่อ) แห่งสิบสองปันนา .. องค์พระธาตุมี 8 เหลี่ยมแทนมรรค 8 .. พระธาตุมี 3 ชั้น แทน 3 ภพ นรก-โลก-สวรรค์ .. ส่วนฐานพระธาตุมีช้างรองรับโดยรอบ 32 ตัว ซึ่งท่านได้จำลองช้างเหล่านี้มาจากวัดช้างต่างๆ อาทิ วัดช้างค้ำ วัดช้างล้อม เป็นต้น
ตัวมอม .. สัตว์ในตำนานล้านนารูปร่างคล้ายแมวผสมสิงโตที่สามารถปั้นได้มีชีวิตชีวาดูทีเล่นทีจริง พระพุทธรูปตามทางเดินบนระเบียงคตศิลปะเชียงรุ้งอันเหลืองทองงามอร่ามตา ใบเสมาที่รูปทรงเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
บริเวณทางเดินรอบโบสถ์ มีลวดลายปูนปั้น ซุ้มประตู รูปปั้นทวยเทพ พระพุทธรูป งานแกะสลัก และงานศิลปกรรมต่างๆให้ดูกันอีกมากมาย
แต่ที่สะดุดตาเราอย่างมาก คือ รูปปั้นยักษ์ 2 ตนที่ยืนเฝ้าหน้าประตูทางเข้าโบสถ์ ตนหนึ่งดูจริงจังขึงขังกับงานเฝ้ารักษาโบสถ์ที่เป็นตัวแทนของพระพุทธศาสนา … ส่วนอีกตนหนึ่งขี้เกียจเหลือคณาถือตะบองนั่งหลับเฉยเลย
“อาตมาสร้างยักษ์คู่นี้ไว้เป็นสติเตือนใจแก่ผู้พบเห็น ว่าหากใครประมาท ขี้เกียจ อย่างยักษ์หลับก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ ส่วนยักษ์ตื่นนั้น ไม่ประมาท มีสติตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ก็จะสามารถปฏิบัติหน้าที่การงานไปได้ด้วยดี” … ผู้รู้ได้เล่าว่า พระครูบามนตรีท่านได้อธิบายเอาไว้
ภายในโบสถ์นั้นประดิษฐานพระประธานคือ“พระพุทธชินเรศนวราชบพิตร”(นามพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ) ที่จำลองแบบมาจากพระพุทธชินราช … งดงามวิจิตรดูเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งศรัทธา
จิตรกรรมฝาผนัง .. เป็นภาพเรื่องราวนิทานชาดกพื้นบ้านและภาพไตรภูมิ นอกจากนี้ในโบสถ์ยังมีสิ่งน่าสนใจอีกมากมาย อาทิ งานไม้แกะสลักเกี่ยวกับพุทธชาดก พระแก้วมรกตจำลอง บุษบกทรงสวยงาม ฯลฯ
สุดยอดของศิลปะล้านนาจำนวนถึง11 แห่ง ที่นำมาประยุกต์สร้างโบสถ์วิหาร และสิ่งปลูกสร้างต่างๆภายในวัดพระธาตุสุโทน ได้แก่
- ซุ้มประตูด้านหน้าโบสถ์ จากวัดพระธาตุลำปางหลวง
- ซุ้มประตูด้านตะวันออก จากวัดพระธาตุดอยสุเทพ
- ซุ้มประตูด้านตะวันตกจากวัดพระธาตุหลวงเวียงจันทร์ซึ่งวัดนี้สร้าง จากช่างฝีมือเชียงใหม่ที่พระเจ้าชัยเชษฐาธิราชแห่งลาวเป็นผู้นำ ไปสร้าง
- ฐานพระอุโบสถรูปซิกแซก วังประทับพระยามังราย จ.เชียงราย
- ประตูและหน้าต่างลวดลายแกะสลัก วิหารลายคำวัดพระสิงห์ เชียงใหม่
- ปั้นลมลวดลายเก่าศิลปะทางเหนือ จากวัดต้นเกวน อ.สเมิง เชียงใหม่
- นาค 7 เศียร แบบขอม / นางอัปสรปูนปั้น จากวัดเจ็ดยอด เชียงใหม่
- หอไตร จากวัดพระสิงห์ เชียงใหม่
- หอระฆัง จากวัดพระธาตุหริภูญชัย
- กุฏิหลังใหญ่สร้างจากไม้สักทองจากบ้านไทยสิบสองปันนาประเทศจีน
- พระบรมธาตุ 30 ทัส ศิลปะเชียงแสนจากวัดพระธาตุนอ(หน่อ) ของพระชนกพระเจ้าเม็งรายมหาราช จากแคว้นสิบสองปันนา
วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรีสามัคคีธรรม ตั้งอยู่ที่ บ้านห้วยพริก หมู่ที่ 5 ต.เด่นชัย อ.เด่นชัย จ.แพร่ อยู่ริมถนนหมายเลข 101(เด่นชัย-ลำปาง) ห่างจากแยกเด่นชัยประมาณ 5 กม. (ใกล้ๆกับค่ายทหาร ม.พันสิบสองหรือค่ายพญาไชยบูรณ์) เป็นวัดบนเนินของดอยม่อนโทน มีเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่
นอกเหนือจากงานพุทธศิลปะที่กล่าวมาแล้ว วัดพระธาตุสุโทนยังมีสิ่งชวนชมอย่าง พระธาตุพนม(นครพนม)จำลอง(อนาคตจะสร้างพระธาตุประจำปีเกิด(จำลอง)ทั้ง 12 ราศีที่นี่) พระธาตุช้างค้ำ(น่าน)จำลอง, ศาลาหลวงพ่อเกษม เขมโก, วิหารพระมหาเมียะมุนี, วิหารพระเจ้าเก้าตื้อ,อนุสรณ์สถานทหารกล้า, หอระฆัง(จำลองจากวัดพระธาตุหริภุญชัย : ลำพูน), หอไตร(จำลองจากวัดพระสิงห์ : เชียงใหม่) ฯลฯ
วัดพระธาตุสุโทน เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00-16.00 น. ไม่เก็บค่าเข้าชมแต่อย่างใด สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-5353-0138
โฆษณา