21 มิ.ย. 2020 เวลา 16:04
สุริยะ สุริยคราส สุริยุปราคา
สุริยคราสในทางวิทยาศาสตร์เกิดจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลกโคจรมาอยู่ในระดับเดียวกัน โดยมีพระจันทร์อยู่ตรงกลาง เกิดขึ้นเฉพาะในวันที่พระจันทร์มีดิถีตรงกับจันทร์ดับ  เงาของพระจันทร์ตกลงบนโลกพอดี  ทำให้เกิดเป็นเงามืด
วันที่มีสุริยคราส บางท่านเชื่อว่า การไหว้และบูชาพระราหูด้วยของที่มีสีดำที่อาจจะทำให้พระราหูพึงใจ ประทานพรให้สมปรารถนา
แต่ในทัศนะของผู้เขียนมีความเห็นว่า การบูชาพระรัตนตรัยเป็นสิ่งที่เลิศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
ในพระไตรปิฎกมีกล่าวถึงพระราหู ในเรื่อง สุริยสูตรที่ 10 
ดังนี้
ก็โดยสมัยนั้น สุริยเทวบุตร ถูกอสุรินทราหูเข้าจับแล้ว
ครั้งนั้น สุริยเทวบุตร ระลึกถึงพระผู้มีพระภาค ได้กล่าวคาถานี้ในเวลานั้นว่า ข้าแต่พระพุทธเจ้า ผู้แกล้วกล้า ขอความนอบน้อมจงมีแด่ พระองค์ พระองค์เป็นผู้หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง ข้า- พระองค์ถึงเฉพาะแล้วซึ่งฐานะอันคับขัน ขอพระองค์จงเป็น ที่พึ่งแห่งข้าพระองค์นั้น ฯ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงปรารภสุริยเทวบุตรได้ตรัสกะอสุรินทราหูด้วยพระคาถาว่า สุริยเทวบุตร ถึงตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ว่าเป็นที่พึง ดูกร ราหู ท่านจงปล่อยสุริยะ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้ อนุเคราะห์แก่โลก สุริยะใดเป็นผู้ส่องแสง กระทำความสว่าง ในที่มืดมิด มีสัณฐานเป็นวงกลม มีเดชสูง ดูกรราหู ท่าน อย่ากลืนกินสุริยะนั้น ผู้เที่ยวไปในอากาศ ดูกรราหู ท่าน จงปล่อยสุริยะ ผู้เป็นบุตรของเรา ฯ
ลำดับนั้น อสุรินทราหู ปล่อยสุริยเทวบุตรแล้ว มีรูปอัน กระหืดกระหอบ เข้าไปหาอสุรินทเวปจิตติถึงที่อยู่ ครั้นแล้วก็เป็นผู้เศร้าสลด เกิด ขนพอง ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ
อสุรินทเวปจิตติ ได้กล่าวกะอสุรินทราหู ผู้ยืนอยู่ ณ ที่ ควรส่วนข้างหนึ่ง ด้วยคาถาว่า ดูกรราหู ทำไมหนอ ท่านจึงกระหืดกระหอบ ปล่อยพระ- สุริยะเสีย ทำไมหนอ ท่านจึงมีรูปเศร้าสลด มายืนกลัวอยู่ ฯ
อสุรินทราหู กล่าวว่า ข้าพเจ้าถูกขับด้วยคาถาของพระพุทธเจ้า ถ้าข้าพเจ้าไม่พึง ปล่อยพระสุริยะ ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตกเจ็ดเสี่ยง มีชีวิต อยู่ ก็ไม่พึงได้รับความสุข ฯ
ในอรรถกถา ขยายความต่อไป ดังนี้
บทว่า สุริโย คือ เทวบุตร ผู้สถิตอยู่ ณ สุริยวิมาน.
บทว่า อนฺธกาเร ได้แก่ ในการทำความมืดดุจตาบอด
เพราะห้ามความเกิดแห่งจักษุวิญญาณ.
บทว่า เวโรจโน แปลว่า ส่องสว่าง.
บทว่า มณฺฑลี ได้แก่ มีสัณฐานกลม
ด้วยบทว่า มา ราหุ คิลี จรมนฺตลิกฺเข
ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
ดูก่อนราหู ท่านอย่ากลืนสุริยะผู้โคจรไปในอากาศเลย.
ถามว่า ก็ราหูนั้นกลืนสุริยะนั้นได้หรือ.
ตอบว่า กลืนได้สิ เพราะว่า ราหูมีอัตภาพใหญ่
ว่าโดยส่วนสูง สูงถึง 4,800 โยชน์ ช่วงแขน ยาว 1,200 โยชน์
ว่าโดยส่วนหนา 600 โยชน์ ศีรษะ 900 โยชน์ หน้าผาก 300 โยชน์ ระหว่างคิ้ว 50 โยชน์ คิ้ว 200 โยชน์ ปาก 200 โยชน์ จมูก 300 โยชน์ ขอบปากลึก 300 โยชน์ ฝ่ามือฝ่าเท้าหนา 200 โยชน์ ข้อนิ้ว 15 โยชน์.
ราหูนั้นเห็นจันทระและสุริยะส่องสว่างอยู่ มีความริษยาเป็นปกติอยู่แล้ว ก็ลงสู่วิถีโคจรของจันทรและสุริยะนั้น ยืนอ้าปากอยู่. จันทรวิมานหรือสุริยวิมานก็เป็นประหนึ่งถูกใส่เข้าไปในมหานรก 300 โยชน์ เทวดาทั้งหลายที่สถิตอยู่ในวิมาน ถูกมรณภัยคุกคามก็ร้องเป็นอันเดียวกัน
ราหูนั้นบางคราวก็เอามือบังวิมาน บางคราวก็ใส่ไว้ใต้คาง บางคราวก็เอาลิ้นเลีย บางคราวก็วางในกระพุ้งแก้ม เหมือนกินทำแก้มตุ่ย แต่ราหูนั้นไม่อาจชลอความเร็วได้ คิดว่าเราจักฆ่าเสีย ก็ยืนอมทำแก้มตุ่ย หรือคิดว่าขมองของเทพบุตรนั้นจักแตกออกไป ราหูก็คร่าวิมานนั้นน้อมเข้ามา. เพราะฉะนั้น เทพบุตรนั้นจึงไปพร้อมด้วยกันกับวิมาน.
บทว่า ปชํ มม ความว่า ได้ยินว่า เทพบุตรแม้ทั้งสองคือจันทระและสุริยะบรรลุโสดาปัตติผลในวันที่ตรัสมหาสมยสูตร. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปชํ มม อธิบายว่า นั่นเป็นบุตรของเรา.
สรุป
ดังนั้น 
พึงเคารพ สักการะ พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
พระพุทธเจ้าทรงแสดงพุทธานุภาพ ปาฏิหาริย์กายให้มีพระวรกายที่ใหญ่โตกว่าอสุรินทราหูเพื่อไม่ให้ทำอันตรายต่อเทวดาองค์อื่น ๆด้วยความพาลเกเร
พึงเคารพในพระรัตนตรัย พระรัตนตรัยประกอบไปด้วยอานุภาพของพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ อันเป็นที่พึ่งที่ระลึก  ย่อมกันภัยได้ทั้งปวง
คำสำคัญ:สุริยะ สุริยคราส สุริยุปราคา
Cr:arayadusit
refer:
พระไตรปิฎก เล่มที่ 15 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 7 สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เรื่อง สุริยสูตรที่ 10
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวปุตตสังยุต ปฐมวรรค
เรื่อง สุริยสูตรที่ 10
โฆษณา