22 มิ.ย. 2020 เวลา 06:43 • การเมือง
เขา-เธอ คือ... อัญมณีล้ำค่า
...อีก 1 ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของสาวเก่งอเมริกัน เธอคือหญิงสาวคนแรกในประวัติศาสตร์ที่นับถือศาสนาซิกข์ (Sikh) สอบเข้าและสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย เวสต์พอยต์ ที่มีชื่อเสียงระดับโลก หลักสูตร 4 ปี ได้รับการแต่งตั้งยศเป็น "ร้อยตรีหญิง" ปริญญาตรีวิศวกรรมนิวเคลียร์
มีข้อมูลหลายสำนักที่ระบุตัวเลขประชากรชาวซิกข์ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่มีตัวเลขที่แท้จริง ตัวเลขโดยประมาณราว 280,000 คนเศษ
1
www.matichon.co.th
ในช่วงรัชสมัยในหลวง ร.5 มีผู้นับถือซิกข์จากรัฐปัญจาบของอินเดียและบางส่วนจากปากีสถานที่ได้รับความกดดัน รังแก กีดกัน ในเรื่องการนับถือศาสนา อพยพกระจายไปอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ชาวซิกข์ที่อพยพเข้ามาสู่สยามประเทศ ในหลวง ร.5 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหลักแหล่งในกรุงเทพฯ ย่านพาหุรัดตลอดแนวไปจนถึงบ้านหม้อ...
ภาพเก่า...เล่าตำนาน ตอนนี้ขอโฟกัสไปที่ชาวซิกข์ในอเมริกา...
ศาสนาซิกข์ เป็นศาสนาประเภทเทวนิยม เป็นศาสนาที่มีอายุน้อยที่สุดในศาสนาของโลกทั้ง 11 ศาสนา
1
ศาสนาซิกข์ เป็นการนำคำสอนที่ดีในศาสนาฮินดูและอิสลามมารวม ผสมผสานกัน... ในอินเดีย ณ เวลานั้น ศาสนาพุทธโดนกวาดล้างไปหมดแล้ว มีเหตุขัดแย้งระหว่างฮินดูและมุสลิม มีบาดเจ็บล้มตายกันมหาศาล
มีผู้นับถือซิกข์มากเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ปัจจุบันมีซิกข์มากกว่า 23 ล้านคนทั่วไป ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐปัญจาบของอินเดีย
หลักการ 1 ข้อ ที่ต้องปฏิบัติ คือ การไว้ผมยาวโดยไม่ตัดเลยตลอดชีวิต
ราว 100 ปีที่แล้ว....เมื่อชาวซิกข์อพยพเข้าไปอยู่ในอเมริกา ผู้ชายซิกข์สมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพสหรัฐตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 และยังคงสมัครใจไปรบในทุกสมรภูมิในฐานะพลเมืองอเมริกัน
ความขลุกขลัก อุปสรรค ของชาวซิกข์ในกองทัพ คือ เมื่อต้องแต่งเครื่องแบบ ทหารชายทุกคนต้องโกนหนวดเครา ตัดผมสั้น และต้องสวมหมวกประกอบเครื่องแบบ ในขณะที่หลักศาสนาของชาวซิกข์ที่เคร่งครัดต้องไม่โกนเครา ไม่ตัดผมตลอดชีวิต และต้องมีและผ้าโพกหัว
กฎระเบียบของกองทัพ ทำให้ชาวอเมริกันที่นับถือซิกข์อย่างเคร่งครัด ไม่สามารถเข้าสู่รั้วกองทัพสหรัฐได้...
พ.ศ.2552 ร้อยตรี นายแพทย์ คามาล คาลซี (Kamal Kalsi) แพทย์ในกองทัพบกสหรัฐ คือ ผู้เปิดประเด็น ร้องขอต่อศาลเรื่องการแต่งเครื่องแบบของทหารชาวซิกข์ในกองทัพสหรัฐ ที่ควรได้รับการผ่อนผัน อนุโลมให้เป็นไปตามหลักศาสนา
เมื่อนำเรื่องเข้ากระบวนการยุติธรรมถึงที่สุด ...ศาลสูงสหรัฐตัดสินให้ทหารอเมริกันนับถือศาสนาซิกข์ ได้รับการผ่อนผันให้มีเสรีภาพตามหลักศาสนา ไม่ต้องโกนหนวด เครา ใช้ผ้าพันศีรษะได้ขณะแต่งเครื่องแบบ...
แน่นอนที่สุด...มีผู้คัดค้านจำนวนไม่น้อยสำหรับการยกเว้นกฎระเบียบให้ชาวซิกข์ หากแต่รัฐธรรมนูญสหรัฐ คือ สิ่งที่ต้องยึดถือ
นายแพทย์คาลซี เป็นครอบครัวชาวอินเดียที่อพยพมาอเมริกา เติบโตในรัฐนิวเจอร์ซีย์ พ่อและปู่ของเขารับใช้ในกองทัพอากาศอินเดีย และปู่ทวดของเขารับใช้ในกองทัพอังกฤษ
เขาสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ทูโร (Touro University) ศึกษาต่อแพทย์เฉพาะทางด้านการแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency Medical Services) สมัครเป็นแพทย์ในกองทัพบกสหรัฐ ในปี พ.ศ.2544
แพทย์ทหารคนนี้ เข้าสู่สมรภูมิในสงครามในอัฟกานิสถาน ได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติ ทำหน้าที่แพทย์ในสนามรบได้อย่างน่าประทับใจ กลับมาเป็นผู้อำนวยการแพทย์ฉุกเฉิน ที่ฟอร์ตแบรก (Fort Bragg) ที่เป็นบ้านของหน่วยรบพิเศษของกองทัพบกสหรัฐ
แพทย์ทหารคนนี้ มีผลงานโดดเด่นในกองทัพสหรัฐ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการแพทย์หลายประการในกองทัพ
นายแพทย์คาลซี คือ ผู้เปิดประตู เปิดโอกาสให้กับอเมริกันชนที่นับถือซิกข์ได้เข้ามาทำงานเพื่อกองทัพ สื่อมวลชนในสหรัฐยกย่องแพทย์ทหารคนนี้
คาลซี ได้รับยศสูงสุดเป็นพันโท และแปรสภาพไปเป็น "กำลังพลสำรอง" ของกองทัพ ทำงานการแพทย์ทหารในฟอร์ต ดิกซ์ รัฐนิวเจอร์ซี
พันโท คาลซี ในฐานะคนอเมริกันเคยกล่าวว่า...
"การรับใช้กองทัพ ประเทศชาติ และการช่วยเหลือผู้อื่น เป็นส่วนสำคัญของชาวซิกข์... ในการสาบานของข้าพเจ้า สิ่งที่ฉันสาบานเป็นสิ่งเดียวกับที่ฉันได้รับการสอนเหมือนชาวซิกข์ คือ ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ
... สิ่งเหล่านี้...เป็นส่วนหนึ่งของชาวซิกข์ รวมทั้งเป็นทหารที่ดีในกองทัพสหรัฐ"
อีก 1 เหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่...สำหรับหนุ่มอเมริกัน ซิกข์
พ.ศ.2549 เด็กหนุ่มหัวกะทิ ซิมรัทพาล ซิงห์ (Simratpal Singh) สอบเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อย เวสต์พอยต์ได้
ในเวลานั้น นักเรียนนายร้อยที่ชื่อ ซิมรัทพาล ซิงห์ ซึ่งนับถือซิกข์คนนี้ ไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ ในขณะศึกษาในสถาบันทหารแห่งนี้
ระเบียบของทางโรงเรียน ... ต้องไม่มีผ้าโพกศีรษะ ต้องโกนหนวด เคราให้สะอาด ตลอด 4 ปี เขาสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ด้วยคะแนนเกียรตินิยม ในปี 2553
เป็นชายชาวซิกข์ คนแรกในประวัติศาสตร์ที่จบเวสต์พอยต์ ท่ามกลางความชื่นชมยินดี ภูมิใจสุดสุด ของกลุ่มชาวซิกข์ในอเมริกา.....
ผู้หมวดหนุ่มเคยเผยความในใจย้อนหลังกับสื่อมวลชน ถึงเหตุการณ์ที่ตนเองประสบ....
เมื่อเขาสอบเข้าเวสต์พอยต์ได้ จะต้องตัดผม โกนเคราทิ้งเป็นครั้งแรกในชีวิต เป็นการตัดสินใจของผมที่แสน "ระทมทุกข์"
"... ผมได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี... เพื่อนทหารที่ West Point บอกผมว่า เขาสนับสนุนสิ่งที่ผมทำ ผมไม่เคยมีความคิดด้านลบแต่อย่างใด ทหารในหน่วยที่ผมทำงานด้วยปฏิบัติต่อผมเหมือนทหารปกติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมต้องการ... กองทัพบกจะสนใจว่า คุณเป็นนายทหารดีแค่ไหนในงานของคุณ คุณเป็นผู้นำได้หรือไม่ ? คุณขยันในหน้าที่การงานมั้ย ซึ่งการมีผ้าโพกหัวและเครามิได้เป็นปัญหาอะไรทั้งนั้น ..."
ในกองทัพ มีเสียงคัดค้านไม่น้อยในประเด็นเรื่องความปลอดภัยของทหารซิกข์ ซึ่งได้มีการทดสอบแล้วว่าทหารซิกข์สวมหมวกเคฟลา (สมัยก่อนเรียกหมวกเหล็ก) ได้ในสมรภูมิรบ ใส่หน้ากากป้องกันแก๊สพิษได้
ผู้หมวดหนุ่มยังเคยให้สัมภาษณ์ต่อไปว่า....
"... กองทัพบกอาจจะตอบสนองเรื่องการยกเว้นระเบียบการแต่งเครื่องแบบของซิกข์อย่างเชื่องช้า ขอบคุณกองทัพและการตัดสินใจครั้งนี้ ถึงแม้จะเคลื่อนไหวช้า แต่เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ถูกต้องเสมอ ผมคิดว่ามันสมเหตุสมผลแล้วที่ทหารสหรัฐจะสะท้อนความหลากหลายของชาติของเรา ตอนเป็นเด็ก ผมเคยคิดว่าผมสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่ผมต้องการ พวกเราสามารถรับใช้ประเทศของเราในเครื่องแบบได้แล้ว..."
เมื่อมีการผ่อนผันระเบียบ กฎ การแต่งเครื่องแบบทหารสำหรับซิกข์ ระบบการจัดหากำลังพลสำหรับกองทัพสหรัฐ จะมีกำลังพลชาวซิกข์เข้ามาเพิ่มในกองทัพสหรัฐอีกจำนวนหนึ่ง
หากแต่การยกเว้น ก็มีขอบเขต มีข้อบังคับในระยะเวลาที่แน่นอน ต้องตัดเล็มเคราให้เป็นระเบียบและต้องไม่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่
กลาโหมสหรัฐมีคำสั่งอนุมัติให้ทหารที่นับถือศาสนาซิกข์ในกองทัพสหรัฐ สามารถไว้เครา และใช้ผ้าพันศีรษะได้ขณะแต่งเครื่องแบบ
คำสั่งจากเพนตากอนที่เป็นประวัติศาสตร์ฉบับนี้ เกิดขึ้นในช่วง นายชัค เฮเกล (Chuck Hagel) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่สร้างความปิติเป็นที่สุดสำหรับทหารอเมริกันที่นับถือซิกข์ นับเป็นการผ่อนผันให้กับศาสนิกชนแบบเปิดกว้าง
1
ขอแถมข้อมูลที่น่าตื้นตันใจ เป็นแรงบันดาลใจให้กับท่านผู้อ่านอีก 1 เรื่องครับ
เมื่อวันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา มีพิธีปิด - สำเร็จการศึกษา สำหรับนักเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์ปี 2020 ในรัฐนิวยอร์ก
ร้อยตรีหญิง อันมน นารัง (Anmol Narang) เธอคือสาวเก่งอเมริกันที่นับถือศาสนาซิกข์ คนแรกที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์ เธอสำเร็จปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมนิวเคลียร์ ถูกบรรจุเป็นนายทหารเหล่าปืนใหญ่
1
เธอเป็นลูกสาวของผู้อพยพจากอินเดีย เติบโตในเมืองรอสเวลล์ รัฐจอร์เจีย เธอเคยเข้าเรียนปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยจอร์เจียเทค แล้วเปลี่ยนใจไปสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์ได้ตามที่เธอใฝ่ฝัน
หลักปฏิบัติทางศาสนาซิกข์ คือ ห้ามตัดผมตลอดชีวิต ในขณะที่เธอมีผมยาวเกือบถึงหัวเข่า หากแต่การจัดการกับผมเมื่อต้องสวมหมวก แต่งเครื่องแบบนักเรียนนายร้อย และการปฏิบัติศาสนกิจ เป็นเรื่องที่เธอต้องจัดการ ฝ่าฟัน อดทนตลอด 4 ปี
เธอมีความฝันอันยิ่งใหญ่ มีความพยายามจะเป็นตัวแทนของศาสนาและชุมชนซิกข์ เธอต้องการให้ชาวอเมริกันทั้งหลายรู้จักศาสนาซิกข์
ประธานาธิบดีทรัมป์ ไปเป็นประธานในพิธี เมื่อวันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน 2563 ผ่านมา มีผู้สำเร็จการศึกษา 1,107 คน รวมถึงร้อยตรีหญิง นารัง อายุ 23 ปี
"... มันเป็นความรู้สึกที่เหลือเชื่อ มันเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม ฉันไม่เคยทำงานหนักเพื่ออะไรเลยในชีวิตของฉัน...การเป็นผู้หญิงซิกข์ เป็นส่วนสำคัญของตัวตนของฉันและหากประสบการณ์ของฉันจะมีบทบาทเล็กๆ ในการเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น... " เธอกล่าวกับผู้สื่อข่าว CNN
ครอบครัวเธอเป็นผู้อพยพจากอินเดีย เธอเป็นซิกข์รุ่นที่ 2 เกิดและเติบโตในรอสเวลล์รัฐจอร์เจีย มีความฝันที่จะเป็นทหารตั้งแต่ยังเด็ก เนื่องจากอาชีพของคุณแม่ทำงานในกองทัพอินเดีย
ร้อยเอก ซิมรัทพาล ซิงห์ นายทหารอเมริกันที่นับถือซิกข์ ที่สำเร็จการศึกษาจากเวสต์พอยต์ไปก่อน เพื่อนๆ และครอบครัวของเธอ กล่าวว่า เขาภูมิใจใน ร้อยตรีหญิง นารัง ผู้ซึ่งทำลายกำแพงสำหรับชาวซิกข์อเมริกันที่ปรารถนาจะเป็นทหารในกองทัพสหรัฐ...
1
"การยอมรับซิกข์ในกองทัพสหรัฐ รวมถึงสถาบันการศึกษาระดับสูงอย่างเวสต์พอยต์ จะเป็นความแข็งแกร่งจากความหลากหลายของกองทัพสหรัฐ"
เธอกล่าวต่อสื่อมวลชนหลังพิธีสำเร็จการศึกษาว่า...
"...เพื่อนชาวอเมริกันหลายคนไม่ทราบว่าชาวซิกข์คือใคร...คิดว่าฉันเป็นพวกเดียวกับผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์ 9/11 ... ที่ผ่านมา ชาวอเมริกันซิกข์ตกเป็นเป้าของความเกลียดชังและการเลือกปฏิบัติซึ่งบ่อยครั้ง..."
เหตุการณ์ 9/11 ตอนนั้น เธอมีอายุเพียง 4 ขวบ เธอและชาวซิกข์ในอเมริกาต้องเผชิญกับความเกลียดชังแสนสาหัส
"... โดยส่วนตัวแล้ว ฉันไม่สามารถบอกคุณได้ว่าฉันได้รับผลกระทบจากการเหยียดเชื้อชาติบ่อยแค่ไหน...ญาติพี่น้องของฉันสวมผ้าโพกหัวและพวกเขาจะถูกถามหลายครั้งว่า มีระเบิดในผ้าโพกหัวของพวกเขาหรือไม่ มันส่งผลกระทบต่อฉัน..."
"... ไม่มีอะไรจะมาขวางทางที่ฉันต้องการ... มันเป็นสิ่งที่ฉันไม่เคยคิดถึงมาก่อน.. ฉันสวดอ้อนวอนเพื่อปลดปล่อยจากความเครียดทุกวัน ดังนั้น ฉันเรียนรู้ที่จะพึ่งพาพวกเขามากกว่าที่ฉันเคยเป็นมาก่อน..."
"หากเรามุ่งมั่น อดทน สู้ เก่งจริง ก็จะสามารถทำอะไรได้สำเร็จ โดยเฉพาะที่นี่ที่เวสต์พอยต์ ..."
ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีสำเร็จการศึกษา
"... สถาบันการทหารชั้นนำแห่งนี้ สร้างสิ่งที่ดีที่สุด แข็งแกร่งที่สุด และเป็นที่สุดของความกล้าหาญ... เวสต์พอยต์ เป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ ความจงรักภักดี มีวินัยและแสดงถึงทักษะของชาวอเมริกัน..."
มีนายทหารไทยสำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ไม่มากนัก และก็มีนายทหารไทยที่สำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนสูงสุดมาแล้ว
ผู้เขียนเคยศึกษาในโรงเรียนทหารบกสหรัฐ ทำงานส่วนใหญ่ใกล้ชิดกับกลาโหมสหรัฐ เคยทำหน้าที่ผู้อำนวยการฝึก คอบบร้าโกลด์ปี 2004-2005 ที่ทหารสหรัฐนับหมื่นนายเข้ามาฝึกร่วมในประเทศไทย มีทหารอเมริกันลูกหลานไทยอยู่ในกองทัพสหรัฐจำนวนหนึ่ง ทั้งบก เรือ อากาศ นาวิกโยธิน ที่เข้ามาฝึกด้วย (รวมทั้งมีตำรวจไทยในอเมริกา)
เมื่อเข้าแถวรวมกัน ยังนึกว่า...นี่เป็นทหารชาติไหนกันวะ หน้าตา รูปร่าง ผิวพรรณ มีขาว มีเหลือง มีผิวสี ...แต่ทั้งหมด คือ ทหารสหรัฐ
ระบบ ที่วางพื้นฐานอยู่บนระบบ มิใช่ตัวบุคคล
กล้าปรับเปลี่ยน เรียนรู้ ปรับปรุง แก้ไข เปิดใจกว้าง ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ...การมีหลักคิดอย่าง เป็นเหตุ เป็นผล ปราศจากอคติ ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง... เป็นความกล้าหาญที่แท้จริง เป็นสังคมของอารยชน ที่จะรุ่งเรืองตลอดไป
ข้อมูลบางส่วนจาก First Sikh Woman to Graduate from West Point Military.com
คอลัมน์ ภาพเก่า...เล่าตำนาน
โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
โฆษณา