22 มิ.ย. 2020 เวลา 10:31 • การศึกษา
เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
เงินสด (Cash) ประกอบด้วย เงินสดในมือ เงินสดย่อย เงินฝากธนาคาร ประเภทจ่ายคืนเมื่อทวงถาม ได้แก่ เงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากกระแสรายวัน ซึ่งรวมถึงเช็ค(รับ/จ่าย)ที่ถึงกำหนดชำระแล้วแต่ยังไม่ขึ้นเงิน
รายการเทียบเท่าเงินสด (Cash equivalents) ประกอบด้วย เงินฝากประเภทจ่ายคืนเมื่อครบกำหนดชำระ ได้แก่ เงินฝากประจำที่มีสภาพคล่องสูง ซึ่งปกติจะครบกำหนดชำระภายใน 3 เดือน
เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ถือเป็นรายการแรกบนงบแสดงฐานะการเงิน และเงินสดเป็นรายการที่อ่อนไหวต่อการทุจริตได้ง่าย การจัดการเรื่อง เงินสด ด้วยการกำหนดระบบเงินสดย่อยจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยกำหนดวงเงินสดย่อยให้เพียงพอแต่การใช้จ่ายของกิจการ ส่วนการเลือกใช้วิธีการทางบัญชีนั้น เราสามารถพิจารณาเลือกที่จะใช้ระบบใบสำคัญจ่ายหรือไม่ก็ได้ในการทำงาน ตามรูปภาพ Mind Map และในเรื่องของเงินฝากธนาคารนั้น หากเป็นเงินฝากกระแสรายวัน สิ่งที่ต้องทำในแต่ละเดือนเป็นอย่างน้อย คือ งบกระทบยอดเงินฝากธนาคาร (Bank reconciliation) เนื่องจากสิ่งที่กระทบอยู่ในงบนี้ ระหว่างยอดตามบัญชี กับยอดตามธนาคาร จะเป็นสาเหตุให้เราต้องปรับปรุงแก้ไขรายการทางบัญชีต่อไป และต้องพิจารณาต่อไปว่ามีการทำสัญญาเงินเบิกเกินบัญชีกับธนาคารหรือไม่ เพื่อพิจารณาเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินให้เพียงพอและเหมาะสม นอกจากการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องดังกล่าวแล้ว ต้องพิจารณาถึงข้อจำกัดในการใช้เงินฝากนั้น ๆ ด้วย (ถ้ามี) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินฝากประจำ เนื่องจากมีโอกาสสูงมาก ที่ถูกนำไปใช้เป็นหลักประกันการกู้ยืม หรือการเปิดวงเงินการซื้อสินค้าหรือบริการ เป็นต้น
สรุปประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
1. เงินสดในมือ มีจำนวนเงินที่สูงเกินไปหรือไม่ ซึ่งอาจกระทบต่อความมีอยู่จริงของเงินสดนั้น หรือในทางกลับกัน มีจำนวนเงินที่ต่ำไปหรือไม่ ซึ่งอาจเกิดการยักยอกเงินสดนั้นได้ ดังนี้ การสุ่มเข้าตรวจนับเงินสดจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ
2. เงินสดย่อย กระบวนการควบคุมที่สำคัญ คือ การกำหนดวงเงินสดย่อย กำหนดผู้อนุม้ติสั่งจ่าย กำหนดผู้ดูแลรักษาเงินสดย่อย กำหนดช่วงวันเวลาในการเบิกชดเชย และให้ความสำคัญกับการสุ่มตรวจนับ เพื่อป้องกันการทุจริต ในทางบัญชีหากกิจการใช้ระบบใบสำคัญจ่ายเงินสดย่อย เมื่อสิ้นรอบระยะเวลารายงานเราต้องสังเกตเสมอว่าจำนวนเงินที่คงเหลืออยู่นั้นเท่ากับวงเงินสดย่อยที่กำหนดไว้หรือไม่ หากเท่ากันแสดงให้เห็นว่าอาจบันทึกรายการค่าใช้จ่ายไว้ไม่ถูกต้องตรงตามรอบระยะเวลารายงาน เนื่องจากมีรายจ่ายเกิดขึ้นแล้วแต่ยังไม่ได้เบิกชดเชยเงินสดย่อย จึงทำให้การบันทึกรายการนั้น ไม่ครบถ้วนและถูกต้องนั่นเอง
3. เช็คที่ถึงกำหนดแล้วแต่ยังไม่ขึ้น เราต้องเข้าใจว่ามีความแตกต่าง กับเช็คลงวันที่ล่วงหน้า เนื่องจากเมื่อเช็คถึงกำหนดแล้ว เรา (เช็ครับ) หรือลูกค้าของเรา (เช็คจ่าย) พร้อมที่จะไปขึ้นเงินได้ทันที จึงถือเป็นรายการเงินสดด้วย หากรายการดังกล่าวติดอยู่ในงบกระทบยอดเงินฝากธนาคาร จึงเป็นเรื่องที่ปกติที่ยอดคงเหลือตามบัญชี กับธนาคารจะแตกต่างกันได้ แต่ในทางกลับกัน หากเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้า เราหรือลูกค้าของเราจะนำไปขึ้นเงินในทันทีก็ไม่ได้ ดังนี้ จึงต้องปรับรายการเช็คลงวันที่ล่วงหน้าเป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้แล้วแต่กรณี ถึงจะส่งผลให้ยอดคงเหลือของบัญชีเงินฝากธนาคาร ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงานมีความถูกต้องเชื่อถือได้
4. เงินฝากประจำ ถือเป็นรายการที่จะต้องจ่ายคืนเมื่อถึงกำหนดระยะเวลา สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ รายการที่จะอยู่ในส่วนของรายการเทียบเท่าเงินสดนี้ จะต้องเป็นเงินฝากประจำที่จะครบกำหนดชำระไม่เกิน 3 เดือน เนื่องจากเป็นรายการที่มีสภาพคล่องสูง แต่หากเป็นเงินฝากประจำที่จะครบกำหนดเกินกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี ก็จะต้องขยับจากบรรทัดเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด เป็นรายการเงินลงทุนชั่วคราวในส่วนของสินทรัพย์หมุนเวียนในงบแสดงฐานะการเงิน แต่หากเป็นเงินฝากประจำที่จะครบกำหนดชำระเกินกว่า 1 ปี ก็ถือเป็นเงินลงทุนระยะยาวในส่วนของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนในงบแสดงฐานะการเงินนั้น
5. เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดนั้นอาจมีข้อจำกัดในการเบิกใช้ เช่น การนำไปค้ำประกันเงินกู้ หรือวงเงินเบิกเกินบัญชี หรือวงเงินการซื้อสินค้าหรือบริการ ซึ่งต้องนำไปเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินให้เพียงพอและเหมาะสมต่อไป
ไว้เจอกันในหัวข้อถัดไป....นะครับ
โฆษณา