23 มิ.ย. 2020 เวลา 12:49 • การศึกษา
❣️เปล่งประกายสมองด้วย “Serve and Return -ส่งและรับกลับ” ❣️
สร้างเสาหลักที่มั่นคง ให้กับ โครงสร้างสมองลูก
ด้วยการ 😍ส่งสายตาให้กัน ปิ๊ง! ปิ๊ง! ปิ๊ง!😍
🎸ดูแก้มแดงตาโตถูกใจจริงๆ มองแล้วน่าเข้าไปกอด🎸🎼
รู้ไหมคะว่า คนแรกที่เราส่งสายตาให้กัน ปิ๊ง! ปิ๊ง! ปิ๊ง! ไม่ใช่หนุ่ม หรือสาวที่ไหน แต่คือ แม่ของเราเองค่ะ
ก่อนที่จะเติบโตจนรู้จักส่งสายตาให้ใครต่อใคร
เราปิ๊ง! ส่งประกายตาให้กับแม่เป็นครั้งแรก ตอนที่เรายังอุแว้แบเบาะกันอยู่เลยค่ะ👶
ไม่มีใครจำได้ว่าช่วงทารก เราทำอะไร รู้สึกอย่างไร
แต่ไปถามแม่ดูสิคะ แม่ทุกคนจะจำได้และถวิลหา สายตาของลูก ที่ส่งมาทักทาย ถามไถ่ และยิ้มแรกที่ทำให้ทั้งโลกสว่างไสว !☀️
https://www.sciencenews.org/blog/growth-curve/staring-baby-eyes-brain-waves-sync
❤️ยิ้มที่ปาก ยิ้มทั้งตา และหัวใจ❤️
ใช่ค่ะ แม่ที่อดหลับอดนอน ตาโหลมาทั้งคืน พอมาเจอยิ้มของลูกเท่านั้นแหละ ไม่รู้พลังมาจากที่ไหน เติมพลังใจให้แม่จนเต็มถังเลย!
ทารกในวัย 3 เดือนแรก ระบบที่ไวต่อการพัฒนามากที่สุด คือ หู กับตา ช่วงนี้เน้น การให้ลูกได้เห็น และได้ยิน โดย แม่ต้องอยู่ในรัศมี 1 ฟุตจากหน้าลูก จำง่ายๆก็ระยะที่อยู่ในอ้อมแขนนั่นเองค่ะ
https://maternityandinfant.ie/2018/10-signs-your-baby-loves-you/
ระยะที่ “ตามองตา “พอดีๆค่ะ
ดวงตาของลูกที่มองสิ่งต่างๆ เหมือนเป็นเลนส์ของกล้องถ่ายรูป มองเห็น ประทับรับเข้าในระบบความจำ บันทึกเป็นข้อมูล ถ่ายรูป ฉับ ฉับ ฉับ เก็บไว้📸
อย่าลืมว่าทุกสิ่งอย่างที่ลูกมองเห็น นั่นคือ ครั้งแรกของลูกที่เห็น มันช่างน่าตื่นเต้นเหลือเกิน ที่จะได้มองอะไรต่างๆหลากหลายรูปทรงและสีสัน
แม่ควรจะตื่นเต้นกระตือรือล้นไปกับลูกด้วย เราสองคนแม่ลูกจะสำรวจโลกใบนี้ไปด้วยกัน !
❤️หมั่นตอบคำถามลูก ❤️
คอยตอบคำถามลูก ตั้งแต่ลูกยังพูดไม่ได้กันเลยหรือ?
เอ๊ะ! ยังไง ....ก็ดูสายตาลูกสิคะ ว่าตอนนี้เขาจ้องมองอะไรอยู่ แสดงว่าเขากำลังสนใจสิ่งนั้น เขาสงสัยว่ามันคืออะไร ? ลูกถามโดยใช้ตามอง เราก็ต้องตอบค่ะ
ขอย้อนอดีตไปไกลสักหน่อยนะคะ เมื่อลูกวัย 3 เดือน มีใครสักคนซื้อตุ๊กตาลิงมาให้ตัวหนึ่ง ลิงขนสีน้ำตาล หน้าตาทะเล้นๆ ถือไม้ตีกลองไว้ในมือ พอกดปุ่มมันก็จะขยับตีกลองเสียงดัง แต๊ก! แต๊ก! แต๊ก!
น้องหมัก น่ารักแบบนี้เลยค่ะ
เราตั้งชื่อลิงตัวนี้ว่า “น้องหมัก”
“น้องหมัก”ตั้งหมักบนชั้น อยู่ในระดับสายตา เวลาอุ้มลูกเดินผ่านก็จะมองเห็นพอดี ยามว่างที่ลูกอารมณ์ดีๆ แม่ก็จะอุ้มลูกเดินไปหน้าชั้นนั้น
พอลูกเริ่มมองตุ๊กตา แม่ก็อ่านใจว่า ลูกอยากรู้ว่า “นั่นตัวอะไรน่ะ แม่?” ก็เลยตอบว่า
“น้องหมักไงลูก ลูกอยากดูมันตีกลองใช่ไหมล่ะ...เอ้าน้องหมักตีกลองให้เต้ยดูหน่อย”
แล้วกดปุ่มให้ “น้องหมัก” ตีกลองให้ลูกดู
ทุกครั้งที่คุยกันเรื่องนี้ ก็จะชี้ไปที่ลิงแล้วบอกว่า “น้องหมักตีกลองให้เต้ยดู” พอพูดชื่อลูกก็จะหันไปมองหน้าลูก ให้เขาได้ยินว่านี่คือชื่อตัวเขาเอง
ลูกจะค่อยๆซึมซับชื่อของลิงตัวนี้ และ รู้จักชื่อของตัวเอง
ด้วยวิธีธรรมดาๆแบบนี้
👂หู ตา ไว มอง ไป รอบ ตัว👀
โน่น อะไร? นี่ใช่ไหม? ลูกจะส่งสายตาถามเราอยู่เสมอๆ เหมือนกับลูก “เสริฟลูก” ส่งมา
แม่ต้อง เปิดตา เปิดใจ “รับลูก” ให้ทันค่ะ
เหมือนกับเวลาที่ตีปิงปองกัน คนเสริฟ ส่งลูกปิงปองมา คนรับที่รู้ทางก็ รับลูกปิงปองได้ทัน ตีกลับไปกลับมา. เล่นกันสนุกถ้าส่งรับเข้ากันได้ดี
แต่ลองคิดดูว่า ถ้าคนเสริฟลูกส่งมาทีไร อีกคนเมิน ไม่หือ ไม่อือ ปล่อยลูกปิงปองกระเด็น กระจัดกระจาย ไม่รับ ไม่รู้ คนเสริฟก็ไม่สนุก ในที่สุดก็เลิกเล่น ! อยู่เฉยๆดีกว่า
การตอบสนองต่อลูก ให้ถูกเวลา ถูกอารมณ์ ก็เหมือน การเล่นปิงปอง ที่มีการ “ส่ง และรับ” กันอย่างถูกจังหวะค่ะ
“รับ และส่งกลับ” รอยยิ้ม และสายตา
ลูกจะมีความใฝ่รู้ สนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว เขาจะมองโน่นนี่ คอย”ส่งลูก”ให้แม่อธิบายให้ฟัง เขารู้ว่าจะมีใครคนหนึ่งคอย “รับลูก” ให้เสมอ มีการผลัดกันถามผลัดกันตอบ ยิ้มส่งสายตาคุยกัน ตามด้วยการออกเสียงอูอา ห่อปากทำปากจู๋บ้าง จีบปากจีบคอบ้าง
นี่คือ การวางพื้นฐาน “ ความไว้วางใจ” ที่สำคัญที่สุดในขวบปีแรก
เริ่มได้ตั้งแต่ 3 เดือนแรกเลย!
แม่ทำได้ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็น การอาบน้ำ อุ้มกินนม อุ้มเดินกล่อม ลูกสนุก แม่ก็สนุกไปด้วย ดวงตาลูกจะเปล่งเป็นประกาย บ่งถึงความกระตือรือล้น
สมองของลูก ก็เปล่งประกายไปด้วยค่ะ !😍ทุกครั้งที่ประสาทสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนัง ของลูกได้มีการโต้ตอบ ส่งเข้าไปเป็นภาพ เสียง รส ความเย็นร้อนอ่อนแข็ง จุดเชื่อมต่อในสมองก็จะ จุดไฟติดเป็นเป็นประกายสว่างวาบเช่นกัน
การ “รับและส่ง” โต้ตอบกับลูก ทำให้วงจรสมองมีจุดเชื่อมต่อถึงกัน
สมองลูกจะสว่างไสว ด้วยจุดเชื่อมต่อ นับพันนับหมื่น ที่ค่อยๆเพิ่มขึ้นเมื่อเราเล่น “รับ และส่ง” กับลูกทุกๆวัน
ทางเดินของเส้นประสาทในสมองที่โยงใย เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย นี้คือ โครงสร้างที่เป็นเสาหลักของสมองลูกค่ะ
เสาหลักที่เข้มแข็ง มั่นคง ในขวบปีแรก ทำให้การขึ้นโครงหลังคาหน้าต่างประตูในปีต่อๆไปเป็นเรื่องที่ง่ายแล้วล่ะค่ะ
บทความโดย พญ ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล
สร้างฐานให้มั่นคงในขวบปีแรก
เอกสารอ้างอิง
Center on the Developing Child, Harvard University
“Serve and Return Shapes Brain Circuitry”
ดูวิดิโอได้ที่ลิ้งค์นี้ค่ะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา