28 มิ.ย. 2020 เวลา 09:00 • การศึกษา
วิสาขามหาอุบาสิกา (โอวาท ๑๐)
วิสาขามหาอุบาสิกา (โอวาท ๑๐)
พระรัตนตรัย เป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นหลักของพระพุทธศาสนา ผู้เข้าถึงพระรัตนตรัย จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาท่านได้เข้าถึงพระรัตนตรัย และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอรหัต ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หมดสิ้นกิเลสอาสวะ มีแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ จึงเป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ ผู้มีจิตเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เลิศ ผลบุญอันเลิศย่อมบังเกิดขึ้นกับบุคคลนั้น และบุญนั้นยังตามส่งผลข้ามภพข้ามชาติไปจนถึงที่สุดแห่งธรรม การทำสมาธิ ภาวนาด้วยการเจริญพุทธานุสติ มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ จึงมีอานิสงส์ใหญ่ควรที่พวกเราทั้งหลายจะต้องฝึกให้เป็นอุปนิสัย แล้วบุญใหญ่ก็จะบังเกิดขึ้นกับเรา
มีวาระพระบาลีที่กล่าวไว้ในมงคลสูตรว่า...
"ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
การสงเคราะห์บุตรและภรรยา เป็นอุดมมงคล"
การใช้ชีวิตในการครองเรือน เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ถ้าคู่สามีภรรยาไม่เข้าใจกัน ไม่รู้วิธีผูกรักให้ยั่งยืน ด้วยการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันด้วยสังคหวัตถุ ๔ ไม่ช้าก็ต้องแยกจากกันไปคนละทิศละทาง บางคู่ทนอยู่ด้วยกันมา ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง แต่ในที่สุดก็หย่าร้างกันไป ดังนั้นเมื่อสองคนตัดสินใจที่จะมาครองเรือนร่วมกันแล้ว จำเป็นจะต้องมีธรรมะของผู้ครองเรือน จะมัวเอาแต่ใจตนเองเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว
ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะไม่อยากให้เกิดการแตกแยกในครอบครัว อยากให้เป็นครอบครัวแก้ว ครอบครัวธรรมกาย ที่ทุกคนมีธรรมะอยู่ในใจ เป็นครอบครัวตัวอย่างของโลก ครอบครัวของนักสร้างบารมี ที่ดำเนินชีวิตเป็นต้นบุญต้นแบบที่ดีให้แก่ชาวโลก ซึ่งพื้นฐานของครอบครัวที่ทำให้สามีภรรยาครองชีวิตกันยืนยาวและมีความสุขนั้น คู่สามีภรรยาต้องมีทิฏฐิเสมอกัน มีศรัทธาเสมอกัน แม้จะเป็นพุทธศาสนิกชนก็ต้องมีสัมมาทิฏฐิ มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มีความเห็นเหมือนๆ กัน เพราะถ้าความเห็นไม่ตรงกันแล้ว อาจนำไปสู่ความขัดแย้งกัน และสุดท้ายก็ต้องแยกทางกันได้
นอกจากนั้นทั้งคู่ยังต้องมีศีลเสมอกัน อย่างน้อยมีศีล ๕ ไม่ประพฤติผิดศีลผิดธรรม ต่างคนต่างหมั่นฝึกฝนอบรมตนเอง มีความประพฤติหรือกิริยามารยาทที่ดีงาม ถ้าคนหนึ่งรักษาศีล แต่อีกคนไม่ได้รักษาศีลเลย ชีวิตคู่ก็ไม่เป็นสุข จะทะเลาะกันบ่อยๆ ครอบครัวก็ไม่อบอุ่น ไม่ช้าต้องแยกทางกัน สมสีลา คือมีศีลเสมอกันนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้จะต้องมีจาคะเสมอกัน มีนิสัยชอบเสียสละชอบช่วยเหลือผู้อื่น ใจเป็นบุญเป็นกุศล รักในการให้ทาน ประการสุดท้าย คือ มีปัญญาเสมอกัน ทั้งคู่ต้องมีเหตุมีผล ยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน ไม่เอาแต่ใจตนเอง เป็นผู้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ถนอมน้ำใจกันจึงจะอยู่กันได้
ในเรื่องของการสงเคราะห์ระหว่างภรรยาสามีนี้ มหาอุบาสิกาวิสาขาเป็นยอดของศรีสะใภ้ และทำหน้าที่เป็นศรีภรรยาได้อย่างดีที่สุด เพราะท่านสามารถสงเคราะห์ทั้งสามี และพ่อของสามีให้ได้ดำเนินชีวิตอยู่บนเส้นทางสวรรค์นิพพาน เปลี่ยนทุกคนในตระกูลของสามีซึ่งเคยเป็นมิจฉาทิฏฐิให้กลายมาเป็นสัมมาทิฏฐิ ทำให้ทุกคนได้มีโอกาสสั่งสมบุญกุศลในพระพุทธศาสนา
ท่านได้ทำหน้าที่ของคนดีศรีสะใภ้ ประพฤติตามพุทธโอวาทที่เคยตรัสไว้ว่า ภรรยาย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ คือ จัดการงานดี สงเคราะห์คนข้างฝ่ายสามีดี ไม่ประพฤตินอกใจสามี รักษาทรัพย์ที่สามีหามาให้ ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการงานทั้งปวง ความประพฤติของท่านหาที่ติไม่ได้เลย เพราะท่านเป็นผู้ที่รักในการฝึกฝนอบรมตนเอง สมกับเป็นยอดพุทธอุปัฏฐากฝ่ายหญิง
ก่อนที่มหาอุบาสิกาวิสาขาจะออกจากเรือนไปอยู่กับตระกูลของสามี ธนัญชัยเศรษฐีผู้เป็นพ่อ ได้ให้โอวาท ๑๐ ข้อแก่ลูกสาว ซึ่งเป็นปริศนาธรรมนำไปใช้ในชีวิตคู่ให้ยั่งยืนนาน โอวาท ๑๐ ได้แก่
๑.ไฟในอย่านำออก หมายความว่า ไม่นำเรื่องราวปัญหาในครอบครัว ความร้อนใจต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในบ้านไปเปิดเผยแก่คนภายนอก เพราะจะทำให้เขาดูถูกเหยียดหยาม เมื่อมีปัญหาครอบครัวเกิดขึ้นให้หาทางแก้ไขเป็นการภายใน
๒.ไฟนอกอย่านำเข้า คือ ไม่นำเรื่องราวปัญหาต่างๆ ภายนอกที่ร้อนใจเข้ามาในครอบครัว
1
๓.ให้แก่ผู้ให้ หมายถึง ผู้ใดที่เมื่อถึงคราวที่เรามีความจำเป็น ต้องขอความช่วยเหลือเขา เขาก็ยินดีช่วยเหลือเราอย่างเต็มใจ เมื่อถึงคราวที่เขาเดือดร้อน เราก็ต้องช่วยเหลือเขาอย่างเต็มที่เช่นกัน
๔.ไม่ให้แก่ผู้ที่ไม่ให้ หมายถึง ผู้ใดที่เราให้ความช่วยเหลือให้หยิบยืมสิ่งของแล้ว ไม่ส่งคืนตามกำหนดเวลา เมื่อเรามีเรื่องขอความช่วยเหลือ แม้ไม่เกินความสามารถของเขา และเป็นเรื่องถูกศีลธรรมเขาก็ไม่ยอมช่วยเหลือเรา เป็นคนเห็นแก่ตัว คนอย่างนี้ ภายหลังถ้ามาขอความช่วยเหลือเราอีก ก็อย่าช่วย ต้องมีอุเบกขาบ้าง
๕.ให้ไม่ให้ก็ให้ หมายถึง ถ้าญาติพี่น้องเราที่ตกระกำลำบากอยู่ มาขอความช่วยเหลือ แม้บางครั้งไม่ส่งของที่หยิบยืมตามเวลา ภายหลังเขามาขอความช่วยเหลืออีกก็ให้ช่วย เพราะถึงอย่างไรก็เป็นญาติพี่น้องกัน
๖.กินให้เป็นสุข หมายถึง ให้จัดการเรื่องอาหารการกินในครอบครัวให้ดี ปรนนิบัติพ่อแม่ของสามีในเรื่องอาหารอย่าให้ขาดตกบกพร่อง ไม่กินก่อนพ่อแม่ของสามี อย่างนี้ชื่อว่ากินให้เป็นสุข
๗.นั่งให้เป็นสุข หมายถึง รู้จักที่สูงที่ต่ำ เวลานั่งก็ไม่นั่งสูงกว่าพ่อแม่ของสามี จะได้นั่งอย่างมีความสุข โดยไม่ต้องกังวลจะถูกตำหนิ ไม่เป็นคนแข็งกระด้าง ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง แต่ให้ใฝ่ดี คือ ต้องมีสัมมาคารวะ ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ในตระกูล อย่างนี้ท่านเรียกว่านั่งเป็นสุข ผู้ใหญ่เห็นกิริยามารยาทที่งดงามก็เอ็นดู
๘.นอนให้เป็นสุข หมายความว่า ดูแลเรื่องที่หลับที่นอนให้ดี และยึดหลักตื่นก่อนนอนทีหลัง ไม่เป็นคนเกียจคร้าน เอาแต่เที่ยวสนุกสนานเฮฮา เหมือนหนุ่มสาวทั่วไปที่ยังไม่แต่งงาน ก่อนนอนก็จัดการธุระในบ้านให้เรียบร้อยเสียก่อน จะได้นอนอย่างมีความสุข
๙.บูชาไฟ หมายถึง เวลาที่พ่อแม่ของสามีหรือตัวสามีเองกำลังโกรธ เปรียบเสมือนไฟกำลังลุก ถ้าดุด่าอะไรเรา ก็ให้นิ่งเสีย อย่าไปต่อล้อต่อเถียงด้วย เพราะในช่วงเวลานั้น ถ้าเราไปเถียงเข้า เรื่องราวจะยิ่งลุกลามใหญ่โต ไม่มีประโยชน์อะไร เมื่อใดท่านหายโกรธแล้วจึงค่อยชี้แจงเหตุผลให้ฟังในภายหลังจะดีกว่า
๑๐.บูชาเทวดา หมายถึง ให้เคารพสามีหรือพ่อแม่ของสามีเหมือนเทวดา อย่าประพฤตินอกใจ หรือประพฤตินอกลู่นอกทาง เพราะเมื่อทำผิดอะไรเอาไว้ สักวันหนึ่งท่านจะต้องรู้ หากท่านรู้แล้วจะถูกตำหนิหรือขับไล่ออกจากบ้าน เวลาที่พ่อแม่ของสามีหรือสามีทำความดี ก็ให้มีมุทิตาจิต พยายามส่งเสริมสนับสนุน พูดให้กำลังใจให้ทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
นี่เป็นโอวาท ๑๐ ที่สามีภรรยาควรนำไปใช้ เพราะจะทำให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ชีวิตครองเรือนจะได้ไม่ล่มกลางคัน เพราะปัจจุบันนี้ คู่แต่งงานมีอัตราการหย่าร้างเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ทำให้มีปัญหาถึงเด็ก ปัญหาสังคมก็ตามมา เพราะสามีภรรยา พ่อแม่ขาดธรรมะประจำใจ ไม่รู้จักการครองเรือนที่ถูกวิธี
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ยึดเหนี่ยวใจกันเอาไว้ ด้วยคุณธรรม คือ สังคหวัตถุ ๔ คือ ต้องรู้จักการแบ่งปันสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน มีปิยวาจา พูดกันด้วยวาจาที่ไพเราะ แม้จะตักเตือนกันก็ต้องระมัดระวังให้ดี อัตถจริยาประพฤติตนเป็นประโยชน์ต่อกัน และสมานัตตตา วางตัวให้เหมาะสม ทั้ง ๓ อย่างข้างต้นให้สม่ำเสมอ หากสามีภรรยาสงเคราะห์กันด้วยสังคหวัตถุธรรมอย่างนี้ ต่อไปก็จะครองเรือนกันอย่างเป็นสุข เป็นคู่บุญคู่บารมีกันไปได้ตลอด ถ้าทุกครอบครัวในโลกนี้ประพฤติธรรมข้อนี้ โลกจะเกิดความร่มเย็นเป็นสุข ดังนั้น ให้เราหันมาพิจารณาตนเองว่า เรามีสังคหวัตถุธรรมอยู่ในใจกันมากน้อยเพียงไร และเราได้ปฏิบัติธรรม สวดมนต์ ภาวนากันอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ ถ้ายังบกพร่องอยู่ก็เพิ่มเติมให้เต็มกันทุกคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพุทธสาวก-พุทธสาวิกา
หน้า ๔๘๓- ๔๙๑
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ
(ภาษาไทย) เล่มที่ ๔๑ หน้า ๘๙
โฆษณา