29 มิ.ย. 2020 เวลา 09:00 • การศึกษา
วิสาขามหาอุบาสิกา (สร้างบุพพาราม)
วิสาขามหาอุบาสิกา (สร้างบุพพาราม)
การเกิดมาแต่ละชาติของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้น ต่างมีเป้าหมายสูงสุดอย่างเดียวกันคือ เพื่อจะฝึกฝนอบรมจิตใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ให้เข้าถึงพระธรรมกาย แล้วอาศัยธรรมกายศึกษาวิชชาธรรมกายกำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป จะได้พ้นจากความทุกข์ และเข้าถึงความสุขที่แท้จริง มุ่งไปสู่อายตนนิพพาน ซึ่งมีแต่สุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปน เสวยวิมุตติสุขอย่างเดียวคือ สุขที่เกิดจากการหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ไปสู่ความสุขที่ไม่มีขอบเขต อันไม่มีประมาณ นี่คือเป้าหมายของทุกชีวิต ดังนั้น เราจะต้องมุ่งแสวงหาความสุขที่แท้จริงอย่างนี้กันทุกๆ คน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า...
“ยถาปิ ปุปฺผราสิมฺหา กยิรา มาลาคุเฬ พหู
เอวํ ชาเตน มจฺเจน กตฺตพฺพํ กุสลํ พหุ ํ
นายมาลาการพึงทำพวงดอกไม้ให้มาก จากกองดอกไม้แม้ฉันใด มัจจุสัตว์ผู้มีอันจะต้องตายเป็นสภาพ ควรทำกุศลไว้ให้มากฉันนั้น”
เมื่อเราเกิดมาแล้ว ต้องรู้จักแนะนำตักเตือนตัวเองให้ดำเนินชีวิตอยู่บนเส้นทางแห่งการสร้างความดี เพราะเราเกิดมามีหน้าที่ จะไปมัวคอยให้คนอื่นมาเป็นกัลยาณมิตรชี้นำให้ตลอดเวลานั้นไม่ได้ ต้องพิจารณาให้รู้ถึงภารกิจหลัก ภารกิจรอง ว่าสิ่งไหนควรทำก่อนหรือทำหลัง แม้เราจะมีกรณียกิจที่ต้องทำหลายอย่าง แต่การสั่งสมบุญก็เป็นสิ่งที่เราควรทำไปพร้อมๆ กัน จะได้เป็นที่พึ่งให้กับตัวเองในสัมปรายภพ
เราทั้งหลายชื่อว่าเป็นผู้ได้สั่งสมบุญบารมีมาดีแล้ว เพราะอาศัยกุศลกรรมนั้นจึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนา และได้ยินได้ฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้เรามีกำลังใจในการสั่งสมบุญบารมี เร่งรีบทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ เพิ่มพูนบุญบารมีให้แก่รอบยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อจะได้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิตคือ บรรลุมรรคผลนิพพาน
เหมือนในสมัยพุทธกาล นางวิสาขามหาอุบาสิกาได้สร้างวิหารให้เป็นที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งตอนที่กำลังก่อสร้าง นางได้อาราธนาพระมหาโมคคัลลานะเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ด้วยฤทธานุภาพของพระเถระ ผู้ที่ไปหาวัสดุก่อสร้างแม้ในระยะทางไกลถึง ๕๐-๖๐ โยชน์ ก็สามารถขนเอามาได้ภายในวันเดียว หรือแม้การยกท่อนไม้หรือก้อนหินใส่เกวียนก็ไม่ลำบาก เพลาเกวียนก็ไม่หัก นอกจากนั้นนางยังสร้างปราสาทสูง ๒ ชั้น ที่มีห้องถึง ๑,๐๐๐ ห้อง คือ ชั้นล่าง ๕๐๐ ห้อง และชั้นบนอีก ๕๐๐ ห้อง
ครั้งนั้นพระบรมศาสดาเสด็จจาริกโปรดเวไนยสัตว์ที่เมืองอื่น ครั้นครบ ๙ เดือน พระองค์ทรงเสด็จกลับกรุงสาวัตถี นางวิสาขาจึงไปอาราธนาให้พระบรมศาสดาเสด็จไปประทับบนปราสาทในวิหารชื่อ บุพพาราม เพื่อจะได้ฉลองมหาวิหาร นางได้ถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอด ๔ เดือน วันสุดท้ายได้ถวายผ้าไตรจีวรชั้นเลิศแด่ภิกษุสงฆ์ พร้อมถวายจตุปัจจัยไทยธรรมอีกมากมาย การฉลองมหาวิหารคราวนั้น นางได้บริจาคทรัพย์รวมทั้งหมด ๒๗ โกฏิ คือ ในการซื้อที่ดิน ๙ โกฏิ สร้างวิหาร ๙ โกฏิ และในการฉลองวิหารอีก ๙ โกฏิ
หลังจากฉลองมหาวิหาร นางวิสาขาแวดล้อมด้วยลูกหลานได้เดินชมมหาวิหารภายในบริเวณวัด เห็นสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่สำเร็จอย่างสวยงาม เกิดความปีติปราโมทย์ใจ คิดว่าความปรารถนาที่ตั้งใจไว้ในภพชาติก่อนๆ ได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วในชาตินี้ เวลาเดินรอบมหาวิหาร นางได้เปล่งอุทานคล้ายกับร้องเพลงด้วยสำเนียงอันไพเราะว่า
“ความดำริที่เราตั้งใจว่า เราจักสร้างวัดสร้างมหาวิหาร จักถวายเตียงตั่งฟูกและหมอนเป็นเสนาสนภัณฑ์ จักถวายสลากภัตด้วยโภชนะอันประณีต เราจักถวายผ้ากาสิกพัสตร์ ผ้าเปลือกไม้ และผ้าฝ้ายเนื้อดีเป็นจีวรทาน เราจักถวายเนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง น้ำมัน และน้ำอ้อยเป็นเภสัชทาน ความปรารถนาทั้งหมดนั้นได้สำเร็จบริบูรณ์ทุกประการแล้ว”
เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ยินเสียงรำพึงของนาง ต่างรู้สึกแปลกใจที่เสียงนั้นเปล่งเป็นทำนอง จึงกราบทูลพระบรมศาสดาว่า “พวกข้าพระองค์ไม่เคยเห็นนางวิสาขาร้องเพลงเลย วันนี้นางมีบุตรและหลานห้อมล้อม แล้วขับเพลงเดินรอบมหาวิหาร นางคงเสียจริตไปแล้วกระมัง” พระบรมศาสดาตรัสว่า “ธิดาของเราไม่ได้ร้องเพลง แต่ว่าความปรารถนาในการสั่งสมบุญของเธอเต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว จึงเดินเปล่งอุทานอย่างนั้น”
จากนั้นพระองค์ทรงนำเรื่องราวในอดีตมาตรัสเล่าให้ฟังว่า นับย้อนหลังไป ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงอุบัติขึ้นในโลก พระองค์มีพระชนมายุถึง ๑๐๐,๐๐๐ ปี มีภิกษุขีณาสพ ๑๐๐,๐๐๐ เป็นบริวาร ครั้งนั้น นางวิสาขาเป็นเพื่อนของมหาอุบาสิกาผู้เป็นเลิศในทางอุปัฏฐากพระพุทธองค์ นางเห็นมหาอุบาสิกาท่านนั้นพูดคุยกับพระบรมศาสดาด้วยความสนิทสนมคุ้นเคย จึงคิดว่า “เพื่อนเราทำบุญอะไรไว้หนอ จึงเป็นผู้สนิทสนมคุ้นเคยกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างนี้” นางจึงตั้งความปรารถนาจะได้ตำแหน่งนั้นบ้าง
พระบรมศาสดาตรัสแนะวิธีการที่นางสามารถทำความปรารถนานั้นให้สำเร็จได้ นางจึงกราบทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมเหล่าภิกษุสงฆ์ให้ไปฉันภัตตาหารที่บ้านตลอด ๗ วัน ในวันสุดท้ายนางได้ถวายผ้าสาฎกเพื่อทำจีวร แล้วตั้งความปรารถนาว่า “ด้วยผลแห่งทานนี้ หม่อมฉันไม่ปรารถนาความเป็นใหญ่ในเทวโลก แต่หม่อมฉันปรารถนาที่จะตั้งอยู่ในฐานะดังมารดา เป็นยอดของมหาอุบาสิกาผู้สามารถอุปัฏฐากบำรุงด้วยปัจจัย ๔ แด่พระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ”
พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า “จากนี้ไป ๑๐๐,๐๐๐ กัป พระพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม จักอุบัติขึ้นในโลก ในกาลนั้นเธอจักเป็นอุบาสิกาชื่อว่าวิสาขา และเธอจะได้ตั้งอยู่ในฐานะดังมารดา จักเป็นเลิศของอุบาสิกาผู้เป็นอุปัฏฐายิกา ผู้บำรุงด้วยปัจจัย ๔” นางได้ฟังดังนั้น รู้สึกดีอกดีใจราวกับจะได้สมปรารถนาในวันพรุ่งนี้
ตั้งแต่นั้นมานางตั้งใจทำบุญจนตลอดชีวิต เมื่อละโลกก็ไปบังเกิดในสวรรค์ ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลกเท่านั้น จนมาถึงภพชาตินี้ นางได้เกิดเป็นธิดาของธนัญชัยเศรษฐี เป็นมหาอุบาสิกาผู้ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเลิศแห่งอุปัฏฐายิกาในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา สมดังที่นางได้ตั้งความปรารถนาไว้ทุกประการ
เราจะเห็นได้ว่า นี่คือตัวอย่างของยอดนักสร้างบารมีที่มีความตั้งใจเพียรพยายามในการสั่งสมบุญ เพื่อเป็นเครื่องสนับสนุนให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ และในที่สุดก็ได้สมปรารถนาในการสร้างบารมี อีกทั้งยังเป็นพระอริยบุคคล อย่างไรก็ตามการจะดำเนินชีวิตอยู่บนเส้นทางของพระอริยเจ้าให้ได้ตลอดเหมือนนางวิสาขา เราต้องมีธรรมะเป็นอาภรณ์ที่ท่านเรียกว่า สัมปรายิกัตถประโยชน์คือ การเตรียมเสบียงในการเดินทางไกลสู่สัมปรายภพ ฉะนั้น การกระทำของเราในปัจจุบันจะส่งผลถึงภพหน้า ตั้งแต่สัทธาสัมปทา คือ เป็นผู้มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เชื่อเรื่องบุญบาป เชื่อว่านรกสวรรค์มีจริง เป็นต้น เพื่อจะได้เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต
นอกจากนั้น เรายังสามารถเติมความมั่นใจให้กับชีวิต ด้วยการสมาทานรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ที่เรียกว่า สีลสัมปทา ศีลจะได้เป็นเกราะแก้วคุ้มกันภัยในสัมปรายภพ ทำให้มีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป มีจาคสัมปทาคือ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยการให้ เสียสละความสุขเล็กๆ น้อยๆ ส่วนตัว เพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ จะได้มีสมบัติติดตัวข้ามภพข้ามชาติ ประการสุดท้าย จะต้องมีปัญญาสัมปทา รู้จักศึกษาธรรมะ และปฏิบัติธรรมให้ใจใสสะอาดบริสุทธิ์ จะได้มีดวงปัญญาสามารถแนะนำตักเตือนตัวเองได้ ทำให้ไม่ต้องพลัดตกไปในอบายภูมิ
เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาทั้งหลายต้องขวนขวายในการสร้างบารมี และทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ โดยการทำสัมปรายิกัตถประโยชน์ให้เกิดขึ้นในภพชาตินี้ ภพชาติต่อไปจะได้ไม่ลำบาก ชีวิตเราจะได้ดำเนินบนเส้นทางที่ถูกต้องตลอดไป และไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดก็ตาม จะต้องไม่ว่างเว้นจากการสั่งสมบุญ เพราะเราเกิดมาสร้างบารมี มีมรรคผลนิพพานเป็นแก่นสาร มีที่สุดแห่งธรรมเป็นเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องสร้างบารมีให้มากๆ ทำให้เต็มที่ และต้องขยันปฏิบัติธรรมให้ยิ่งๆขึ้น อย่าได้ละเลยในการฝึกใจให้หยุดนิ่ง เพื่อเราจะได้เข้าถึงพระธรรมกายกันทุกๆคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพุทธสาวก-พุทธสาวิกา
หน้า ๔๙๑- ๕๐๑
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ
(ภาษาไทย) เล่มที่ ๔๑ หน้า ๑๐๕
โฆษณา