24 มิ.ย. 2020 เวลา 03:41 • ประวัติศาสตร์
ในวาระครบ 88 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ยังมีอีกมิติหนึ่งที่ยังไม่ค่อยได้มีการพูดกันมากนัก นั่นก็คือเรื่องของเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ที่เสนอต่อสภา เมื่อ 9 มิถุนายน พ.ศ.2476 และนำไปสู่ความตึงเครียดและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคณะราษฎร กับกลุ่มอำนาจเก่า ที่พยายามประนีประนอมอำนาจกันมานับจาก 24 มิถุนายน 2475 อย่างน้อยในการร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 และแบ่งปันอำนาจการปกครองกันในระดับหนึ่ง อาทิ การมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร (หรือที่สมัยนี้เรียกกันว่านายกรัฐมนตรี) จนสุดท้ายปรีดีถึงกับต้องออกนอกประเทศ นอกจากนี้ ข้อถกเถียงในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติยังส่งผลต่อความขัดแย้งภายในกลุ่มคณะราษฎรด้วยกันเองด้วย
การพยายามอภิปรายและถกเถียงกันในเรื่องของความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 มาจนถึงการเสนอแผนเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ และข้อถกเถียงที่เกิดขึ้น ไล่เรียงมาถึงการงดการใช้สภาของพระยามโนปกรณ์ การกดดันให้เกิดการเปิดสภาโดยพระยาพหลต่อพระยามโนปกรณ์ การเกิดและการปราบกบฏบวรเดช ทั้งหมดนี้เกิดในช่วงหนึ่งปีแรกของการเปลี่ยนแปลงทางการปกครอง (ดู ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. 2543. 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ อ่านได้ที่ http://www.openbase.in.th/files/tbpj002.pdf)
และคงปฏิเสธได้ยากว่ามิติด้านเศรษฐกิจนั้นเป็นมิติที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งเป็นเงื่อนไขให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการโต้อภิวัฒน์
ผมเชื่อว่าในวันนี้ การเริ่มอภิปรายกันในเรื่องของเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติของปรีดีนั้นน่าจะอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะการกล่าวหากันในเรื่องของลัทธิคอมมิวนิสต์น่าจะจางหายไปแล้ว และเอาเข้าจริงก็มีการพูดกันมานานแล้วว่า สิ่งที่ปรีดีเสนอ หากมองจากมุมมองของเศรษฐกิจในวันนี้ ก็ไม่ได้มีอะไรที่เกินเลยหรือล้ำเส้นไปมากนัก โดยเฉพาะในเรื่องของ การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรŽ
ก่อนที่จะอภิปรายเรื่องนี้ต่อไป อยากแนะนำว่า ท่านที่สนใจที่มาและเนื้อหาสาระของเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาตินั้น ท่านสามารถเข้าถึงเอกสารตัวเต็มของเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติพร้อมเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องได้ที่ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (http://www.openbase.in.th/files/puey014.pdf) และศึกษาประวัติศาสตร์ของงานได้จากงานเขียนของ ธิกานต์ ศรีนารา เรื่อง "เค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติของหลวงประดิษฐ์ มนูธรรม" ในเว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้า (http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ _มนูธรรม)
การย้อนกลับไปพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติของปรีดี มีความน่าสนใจอีกประการหนึ่งตรงที่ว่า เอาเข้าจริงพวกเราก็คุ้นเคยกับการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจในยุคหลังจากนั้นเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจ (ต่อมาเพิ่มคำว่าสังคม) แห่งชาติ ที่มีอย่างต่อเนื่องนับจากยุคจอมพลสฤษดิ์มาถึงปัจจุบัน และแผนยุทธศาสตร์ชาติสมัย คสช.ที่พวกเขาคาดหวังว่าจะมีการใช้กันไปอีก 20 ปี
เค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติมีความโดดเด่นต่างจากเอกสารสองชิ้นหลังที่ผมกล่าวถึงตรงที่ว่ามีการวิเคราะห์สังคมและความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในประเทศในช่วงนั้นไว้อย่างน่าสนใจ จากมุมมองของปรีดีและน่าจะอีกหลายคนที่อยู่ในยุคสมัยนั้นที่ยืนข้างเดียวกับปรีดี เพื่อให้เป็นไปตามหลักข้อที่ 3 ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ซึ่งหมายถึง "จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก"
การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเข้ามาแทรกแซงโดยตรงจากรัฐ ถูกขับเน้นให้เห็นตามเค้าโครงว่ามีความเป็นไปได้ในการปฏิบัติจริงโดยเอาเรื่องของการบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรเป็นที่ตั้ง
ปรีดี พนมยงค์ในปี 2490
มีประเด็นสำคัญในหมวดที่ 1 ที่น่าสนใจก็คือ ปรีดีชี้ให้เห็นว่า "รัฐธรรมนูญนั้นเปรียบเสมือนกุญแจ ที่จะไขประตูเปิดช่องทางให้ราษฎรได้มีส่วนมีเสียงในการปกครอง ให้จัดการถูกต้องตามความต้องการของตน และเมื่อประตูที่กีดกั้นอยู่ได้เปิดออกแล้ว รัฐบาลก็จะต้องนำราษฎรผ่านประตูนั้น เข้าไปสู่ชัยภูมิแห่งความสุขสมบูรณ์ มิใช่นำให้ราษฎรเดินถอยหลังเข้าคลอง" และรัฐบาลจะต้องรับเอาหลัก 6 ประการของคณะราษฎรไปจัดทำ
นัยสำคัญที่ผมต้องการสะท้อนให้เห็นก็คือ การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจจะทำไม่ได้ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญที่เอื้อกับการกระทำดังกล่าว และมีรัฐบาลที่น้อมนำเอาหลักการในการเปลี่ยนแปลงการเมืองเศรษฐกิจและสังคมไปปฏิบัติตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ "ความสุขสมบูรณ์ของราษฎร"
ความน่าสนใจในหมวดที่ 2 ของเค้าโครงฯ อยู่ที่การพูดถึงความไม่เที่ยงแท้ของเศรษฐกิจที่ดำเนินอยู่ ที่มีทั้งเรื่องของความแร้นแค้นของราษฎร และความไม่เที่ยงแท้ในการดำรงชีวิตของคนทุกชั้นชน ทั้งคนยากจน คนชั้นกลาง และคนมั่งมี
สําหรับหมวดที่ 3 ปรีดีเริ่มชี้ว่าหนทางที่จะประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรจะต้องกระทำผ่านรัฐ และไม่ใช่การริบทรัพย์คนมั่งมี แต่เป็นเรื่องของการจัดให้มีสหกรณ์และใช้ระบบหักกลบลบหนี้ โดยรัฐเป็นผู้จ้างงานราษฎร และประกอบเศรษฐกิจเสียเอง และคำนึงถึงที่ดิน แรงงาน และเงินทุน
หมวดที่ 4 ปรีดีทำการวิเคราะห์เรื่องของแรงงานที่มีหลากหลายรูปแบบในสังคม ไม่ว่าจะเป็นพวกแรงงานที่เสียไปโดยใช้วิธีป่าเถื่อน (คือยังไม่ใช่เครื่องจักร) ความสัมพันธ์ระหว่างแรงงาน เครื่องจักร และทุน การเก็บภาษีทางอ้อม ตลอดจนแรงงานที่เสียไปเพราะบุคคลที่เกิดมาหนักโลก
หมวดที่ 5 ปรีดีนำเสนอเรื่องการได้มาซึ่งที่ดิน แรงงาน และเงินทุนของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน ปรีดีย้ำว่าไม่ใช้วิธีริบแต่ใช้วิธีให้รัฐบาลซื้อคืนผ่านการออกใบกู้ และนำที่ดินมาวางแผนการผลิตอย่างเป็นระบบ การรับราษฎรมาเป็นข้าราชการในฐานะการจัดหาแรงงาน เพื่อให้มาทำงานให้รัฐ และรัฐอาจจะบังคับให้ศึกษา และฝึกหัดวิชาทหารไปเสียทีเดียว สำหรับการจัดหาเงินทุนนั้น ปรีดีเสนอว่าให้มาจากภาษีทางอ้อม การออกสลากกินแบ่ง การกู้เงิน และการหาเครดิต
หมวดที่ 6 ปรีดีเสนอว่าจะทำอย่างไรให้เกิดดุลยภาพในทางเศรษฐกิจ แม้ว่ารัฐจะใช้จ่ายมาก โดยปรีดีเสนอให้ทำการหักกลบลบหนี้กับราษฎร โดยด้านหนึ่งจ่ายเงินเดือน แต่อีกด้านหนึ่งก็ผลิตของจำเป็นที่ราษฎรจะซื้อหาจากรัฐได้ รวมทั้งการกำกับดูแลพฤติกรรมของประชาชน และส่งเสริมให้ประชาชนนั้นพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่ให้เป็นลูกจ้างที่ขี้เกียจของรัฐนั้นแหละครับ (ไม่ให้ "มนุษย์กลายเป็นสัตว์")
หมวดที่ 7 ปรีดีนำเสนอแนวคิดเรื่องสหกรณ์ เพื่อให้เกิดการแบ่งการทำงานกัน เพราะรัฐบาลนั้นไม่สามารถรวมศูนย์ควบคุมตรงได้อย่างทั่วถึง การแบ่งการทำงานเป็นสหกรณ์นอกจากจะได้เงินเดือนแล้วยังได้รางวัลพิเศษด้วย และการจัดสหกรณ์นี้ก็จะเชื่อมโยงกับการจัดทำเทศบาล ซึ่งทำให้เกิดการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ และออกระเบียบร่วมกันในการดูแล บริหารการอนามัยและสาธารณสุข การศึกษา การระงับโจรผู้ร้าย และยังสามารถอบรมวิชาทหารแก่บุคคลก่อนจะถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร สิ่งนี้ทำให้เราเห็นว่าเมื่อพูดถึงการปกครองท้องถิ่นนั้น หน่วยการปกครองและหน่วยการผลิตนั้นเป็นหน่วยเดียวกัน การปกครองท้องถิ่นจึงไม่ใช่แค่มิติของการใช้กฎหมายหรือใช้งบประมาณ แต่ต้องสามารถมีระบบการผลิตร่วมกันและสร้างความมั่งคั่งร่วมกันในท้องถิ่นนั้นได้
ในหมวดที่ 8 ปรีดีเสนอให้เห็นถึงเรื่องของการจัดเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยอ้างอิงตัวอย่างจากประเทศตะวันตกหลายประเทศเพื่อให้เห็นว่า แต่ละประเทศสามารถพัฒนาตัวเองจากเกษตรเป็นอุตสาหกรรมได้ และต้องมีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง รวมทั้งการเน้นการทำงานร่วมกับรัฐและการมีการสร้างหลักประกันทางสังคมของรัฐบาล
ในหมวดที่ 9 ปรีดีมีความเข้าใจว่าความขัดแย้งระหว่างแรงงานกับนายจ้างย่อมเกิดขึ้นในระบบที่เอกชนเป็นแกนหลักในเศรษฐกิจ ด้วยเงื่อนไขของการแสวงหากำไร ปรีดีเสนอให้รัฐเขามาเป็นเจ้าของกิจการเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในแบบที่เป็นอยู่
ในหมวดที่ 10 ปรีดีเสนอให้มีการวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ โดยให้คำนึงและคำนวณถึงความเป็นอยู่ของประชาชนว่าต้องการอะไรและจะต้องมีอะไรบ้างที่จะพอเพียงแก่ความสุขสมบูรณ์ของราษฎรตามควรแก่ความเจริญ รวมถึงมาตรฐานของสิ่งที่สมัยนี้เรียกว่า สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ อธิบายง่ายๆ ก็คือให้คำนวณสิ่งเหล่านี้กับที่ดิน แรงงาน และทุน ที่จะต้องมี รวมทั้งตัวเครื่องจักรกลทุ่นแรงที่จะนำมาคำนวณด้วย
ในหมวดสุดท้าย (11) ปรีดีย้อนกลับไปอธิบายว่าเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ตอบโจทย์ของหลัก 6 ประการของคณะราษฎรอย่างไร หมายถึง
11.1 การที่รัฐนั้นทำการผลิตเอง และเน้นการผลิตและบริโภคภายใน ทำให้การกดขี่จากเอกชนลดลง และเป็นเอกราชไม่ถูกกดขี่จากต่างชาติ
11.2 ความสุขสมบูรณ์ของราษฎรจะทำให้ความสงบเรียบร้อยภายในทำได้ง่ายขึ้น เพราะการกระทำผิดอาญาลดลง เหลือแต่จากเหตุผลของนิสัยสันดาน มากกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ
11.3 การที่ประชาชนมีงานทำ มีเงิน และสามารถแลกเปลี่ยนหรือซื้อของจำเป็นจากรัฐได้ทำให้เกิดเศรษฐกิจที่คนมีงานทำ และมีการดูแลจากรัฐบาลเมื่อป่วยไข้
11.4 การมีความสุขสมบูรณ์ของราษฎรจากเศรษฐกิจทำให้เกิดความเสมอภาค
11.5 รัฐบาลยังยืนยันว่าประชาชนจะมีเสรีภาพในร่างกาย ทรัพย์สิน เคหสถาน การพูด การศึกษา และการสมาคม เว้นแต่เรื่องของเศรษฐกิจที่จะได้รับการว่างจ้างไปเป็นข้าราชการ
11.6 ราษฎรจะได้รับโอกาสในการศึกษาเพิ่มขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลกับเศรษฐกิจ อีกทั้งรัฐอาจจะบังคับให้ราษฎรในฐานะข้าราชการของเขาต้องเล่าเรียน
ในส่วนท้ายของเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติของปรีดีนั้น ยังมีข้อเสนอเค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (Assurance Social) ในการกำหนดเงินเดือนและหน้าที่ตำแหน่งในการผลิต รวมทั้งเค้าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ ที่ว่าด้วยการที่รัฐกับเอกชนจะสัมพันธ์กันอย่างไร และการได้มาของรัฐในเรื่องของที่ดิน แรงงาน และทุน การจัดตั้งธนาคารแห่งชาติ การจัดทำแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ และการยืนยันถึงกรรมสิทธิ์ของเอกชน
ที่พยายามสรุปเบื้องต้นนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่าในวิสัยทัศน์ของปรีดี และคณะราษฎร (บางส่วน เพราะมีการแตกแยกกันเองในเรื่องนี้เช่นกัน) จะเห็นว่าในการเข้าใจปัญหาของสังคมนั้น คนรุ่นนั้นไม่ได้ตั้งคำอธิบายแบบเสรีนิยม หรือเน้นไปที่การส่งเสริมให้เอกชนเป็นจักรกลสำคัญในการพัฒนาโดยให้รัฐนั้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหมือนในยุคหลังจากนั้น (ยุคแผนพัฒน์ของจอมพลสฤษดิ์ มาจนถึงวันนี้)
แม้ว่าอาจจะมีคนอีกไม่น้อยสงสัยว่าข้อเสนอของปรีดีนั้นจะทำได้จริงไหม แต่การให้ความสำคัญกับมิติเรื่องแรงงานและการประกันรายได้ของประชาชนที่ควบคู่ไปกับการทำงานและเชื่อมโยงกับรัฐก็เป็นมิติที่น่าสนใจเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และเมื่อพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของเราจากวิกฤตกลับเน้นไปที่การให้เอกชนกู้ และการไม่ได้แจกเงินกับทุกกลุ่ม รวมทั้งไม่พยายามตรึงการจ้างงานและแรงงานในระบบ ขณะที่เงินที่กู้มารอบใหม่นั้นกลับโยนให้ระบบราชการคิดค้นโครงการขึ้นมา และเป็นที่สงสัยกันว่าตกลงจะวัดประเมินความสำเร็จของโครงการนี้อย่างไร และประชาชนมีส่วนร่วมในการนำเสนอเรื่องโครงการมากน้อยแค่ไหน
กอปรกับปัญหาการเมืองที่เกิดจากโครงสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่เปิดให้มีการมีส่วนร่วมและตรวจสอบรัฐบาลอย่างเต็มที่มากนักตามมาตรฐานเสรีนิยมประชาธิปไตย
แน่นอนว่ามาจนถึงวันนี้เราไม่อาจด่วนตัดสินว่าสิ่งที่รัฐบาลในวันนี้ทำไปนั้นจะล้มเหลวทุกเรื่อง แต่เรากลับไม่เห็นลักษณะการนำเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติที่ชี้หลักการเป็นขั้นเป็นตอนอย่างสมัยปรีดีและคณะราษฎรกระทำและสื่อสารลงไปกับประชาชน และมีการถกเถียงอย่างดุเดือดในสภา ที่จบลงด้วยความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกหลายระลอกนับจากนั้นเป็นต้นมา
อย่างน้อยเราก็เห็นว่า การให้ความสำคัญกับความสุขสมบูรณ์ของราษฎรสมัยนั้นดูจะเป็นรูปธรรมกว่าการพูดถึงความสุข ความรัก ความสามัคคีในสมัยนี้อยู่อย่างเด่นชัด
ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
โฆษณา