25 มิ.ย. 2020 เวลา 00:14 • หุ้น & เศรษฐกิจ
SSFX เหมาะกับใคร และเลือกยังไงดี??
ช่วงนี้ถือเป็นช่วงโค้งสุดท้ายที่สามารถลงทุนกอง SSFX (Super Saving Fund Extra) เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีได้ เพราะใกล้วันที่ 30 มิ.ย. 63 ที่จะหมดเวลาลงทุนเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีแล้ว มาดูกันว่า เราเหมาะกับการลงทุน SSFX ไหม และถ้าสนใจจะเลือกยังไง
.
.
ก่อนอื่นต้องมาเข้าใจก่อนว่า SSFX นี้คืออะไร
จะว่าไป SSFX นั้นจะมีความคล้ายคลึงกับ LTF เดิมที่เรารู้จักกันดี พอสมควร คือ เป็นกองประหยัดภาษี และกองทุนนี้ต้อลงทุนในหุ้นไทยอย่างน้อย 65% ของทรัพย์สินของกองทุน โดยมีทั้งกองที่มีนโยบายจ่ายปันผลหรือไม่จ่ายปันผล ไม่ต้องลงทุนทุกปี ไม่มีการกำหนดการซื้อขั้นต่ำเพื่อไว้ลดหย่อนภาษี แต่จะมีกำหนดการซื้อขั้นต่ำของกองทุนที่ กองทุนนั้นๆ กำหนดไว้สำหรับการซื้อขั้นต่ำในแต่ละครั้ง
ส่วนเรื่องเพดานว่าซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีนั้นมีเพดานที่ 200,000 บ. โดยไม่สนใจ % ของรายได้ และไม่ต้องนำเพดานนี้ไปรวมกับการลดหย่อนภาษีจากอย่างอื่น ระยะเวลาการลงทุนที่จะใช้ลดหย่อนได้จะเป็นแค่ช่วง 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 เท่านั้น ระยะเวลาการถือครองต้องถือ 10 ปี โดยนับแบบวันชนวัน ไม่ใช่ตามปีปฏิทินแบบ LTF เดิม
.
.
แล้ว SSFX นี้เหมาะกับใคร??
1. ต้องเป็นคนมีรายได้ที่ต้องเสียภาษี และต้องการหารายการเพื่อลดหย่อนภาษี ในปีภาษี 2563 นี้ และจะยิ่งเหมาะมากขึ้น ถ้าคนนั้นปกติใช้กลุ่มการลดหย่อนจากการเก็บเงินเพื่อการเกษียณได้แก่ RMF/ PVD/ ประกันบำนาญ/ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน/ กอช. ไว้ครบหรือเกือบครบ 500,000 บ. แล้ว และต้องการหารายการมาลดหย่อนเพิ่มเติม เพราะปี 63 นี้ ไม่มี LTF ให้มาลดหย่อนเพิ่มแล้ว
.
2. ต้องยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นไทยได้
เพราะ SSFX ที่นโยบายเป็นการลงทุนในหุ้นไทยเป็นหลักเหมือน LTF ดังนั้นต้องยอมรับความผันผวนที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งถ้าเรามองว่าการลงทุนกอง SSFX ในช่วงนี้ อาจทำให้เราได้ราคาที่เหมาะสม และในระยะยาว 10 ปี ข้างหน้า ดัชนีหุ้นไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่านี้ มองว่าช่วงเวลานี้เป็นโอกาสและสามารถยอมรับความผันผวนระหว่างทางได้ ถ้ามองแบบนั้นได้ก็เหมาะที่จะลงทุน
.
3. มีเงินที่นำมาลงทุนได้ในช่วงนี้ คือ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 63 และเงินนี้ต้องเป็นเงินที่ไม่ได้ต้องนำออกมาใช้จ่ายเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปี เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณา เพราะเงื่อนไขคือถือ 10 ปีเต็มสำหรับเงินแต่ละก้อนที่เขาไปลงทุน
.
.
ดังนั้นจะเห็นว่าคนที่จะลงทุน SSFX ต้องเป็นคนที่มีรายได้ที่ต้องเสียภาษี และจะเหมาะมากขึ้น ถ้าปกติใช้กลุ่มก้อนการลดหย่อนเพื่อการเกษียณเต็ม หรือเกือบเพดานอยู่แล้ว และยอมรับความเสี่ยงและความผันผวนของตลาดหุ้นไทยได้ เพราะถ้าเป็นกอง SSF ทั่วไป สามารถลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย แต่เพดานคือซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และไม่เกิน 200,000 บ. และต้องรวมกับกลุ่มก้อนเพื่อการเกษียณ แล้วไม่เกิน 500,000 บ.
.
ดังนั้นถ้ายอมรับความเสี่ยงของการลงทุนหุ้นไทยไม่ได้ และปกติก็ไม่ได้ใช้เต็มเพดาน 500,000 บ. นั้นอยู่แล้ว ก็ลองดูที่เป็นกอง SSF ทั่วไปที่ลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ อาจจะเหมาะกว่า
.
.
แล้วตอนนี้มีกองทุนออกมาให้เลือกจากหลาย บลจ. แล้วจะดูยังไง??
ตอนนี้กอง SSFX ที่ออกมามีทั้งนโยบายที่เป็น passive และ active fund มีทั้งลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ หุ้นขนาดเติบโต มีทั้งแบบจ่ายปันผลและไม่จ่ายปันผล ของหลากหลาย บลจ.
.
.
และเนื่องจากกอง SSFX นั้นเป็นกองที่ออกมาใหม่ทั้งนั้น ดังนั้นจึงไม่มีผลงานกองทุนที่จะทำให้เราเห็นได้ว่าผลงานเขาเป็นอย่างไงบ้าง แล้วเราจะเลือกยังไงดี ซึ่งมีข้อพิจารณาแบบนี้
.
1. เลือกนโยบายแบบ passive หรือ active
นโยบายการลงทุนการลงทุนแบบ passive ล้อไปตามดัชนี และค่าธรรมเนียมมักจะถูกกว่าแบบ active และมีการพิสูจน์ให้เห็นในตลาดหุ้นสหรัฐว่าการลงทุนแบบ passive ให้ผลตอบแทนในระยะยาวดีกว่าแบบ active
ส่วนการลงทุนแบบ active นั้น ค่าธรรมเนียมมักจะสูงกว่า แต่ผู้จัดการกองอาจสามารถปรับเปลี่ยนการลงทุนให้เหมาะสมได้ดีกว่าการลงทุนล้อไปตามดัชนี ดyงนั้นลองพิจารณาว่า เราต้องการลงทุนกอง SSFX ที่เป็น passive หรือ active management
.
.
2. พิจารณาผลงานกองทุน แต่ที่เราเข้าใจผลงานกองทุนที่เพิ่งเปิดใหม่อย่าง SSFX นั้น ไม่มีให้เราเทียบ แต่เราอาจพอดูได้ว่า ผลงานการบริหารกอง LTF ที่ผ่านมาของ บลจ. นั้นๆ เป็นยังไง หรือกองทุนรวมหุ้นที่มีนโยบายคล้ายกับ SSFX ใหม่ที่เพิ่งเปิด และลองดูชื่อผู้จัดการกองทุน ถ้าเป็นคนเดียวกับที่เคยบริหารกอง LTF เดิม หรือเคยบริหารกองทุนรวมหุ้นที่มีนโยบายคล้ายกับ SSFX ที่ออกมาใหม่นั้น ก็น่าจะดูผลงานได้ดีขึ้น เพราะหลายๆ บลจ. นำนโยบายที่เคยบริหารกองทุนรวมหุ้น มาปรับกับ SSFX จึงทำให้เราพอเทียบเคียงเพื่อประกอบการตัดสินได้ เพราะเราก็ยังไม่เคยเห็นผลงานเขาว่าบริหารกอง SSFX นั้นเป็นยังไงกันแน่
.
.
3.พิจารณาค่าธรรมเนียม
-ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนรวม ที่เราเรียกว่า Total expense ratio (TER) เท่าไหร่ค่าธรรมเนียมนี้จะมีผลต่อผลตอบแทนที่เราได้รับ ซึ่งจะเป็นค่าธรรมเนียมบริหารจัดการกองทุน ผู้ดูแลผลประโยชน์ ค่าโฆษณา และอื่นๆ ซึ่งค่าธรรมเนียมนี้เขียนเป็น % ต่อปี แต่เขาเอามาแบ่งและทยอยหักเฉลี่ยเป็นรายวัน
ค่านี้มีผลต่อผลตอบแทนที่เราได้รับ คิดง่ายๆ ถ้ากองทุนคิดค่าธรรมเนียม TER นี้ 2% และกองทำผลงานได้ 10% ต่อปี เงินที่เราได้รับ จะแค่ 8% ต่อปี เพราะถูกหักส่วนนี้
- ค่าธรรมเนียมในส่วนที่ 2 คือ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุนโดยตรง คือ ค่าธรรมเนียมซื้อ-ขาย-สับเปลี่ยน บางกองเก็บ บางกองไม่เก็บ บางกองมีเก็บเป็นขั้นต่ำด้วย
ยิ่งเราต้องลงทุนกับกองนั้นนาน เราจะยิ่งผลของค่าธรรมเนียมที่จะมีผลต่อผลตอบแทนที่เราได้รับ โดยเฉพาะค่าธรรมเนียม TER อย่างกองทุน SSFX ที่เราต้องลงเงินไว้กับเขาอย่างน้อย 10 ปี ดังนั้นนอกจากดูเรื่องผลงาน ค่าธรรมเนียมจึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ
.
.
4. การปันผล หรือไม่ปันผล อาจไม่ใช่ประเด็นหลักในการพิจารณาเท่าไหร่ บางคนอาจสบายใจว่าได้เงินออกมาระหว่างทางบ้าง เวลาที่ตลาดหุ้นตกลงไปอย่างน้อยก็รู้สึกว่าก่อนหน้านี้ได้เงินคืนออกมาบ้างเล้วก็ยังดี แต่ก็ต้องยอมรับว่า เมื่อกองทุนปันผลออกมา ก็ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ดัวย
บางคนต้องการเห็นผลของดอกเบี้ยทบต้นชัดเจน และไม่ได้มีแผนว่า จ้องนำเงินออกมาใช้จ่ายระหว่างที่ลงทุน ก็เลือกกองทุนแบบไม่ปันผล
ดังนั้นการปันผล ไม่ปันผล อาจขึ้นกับสบายใจในการลงทุนของเรา
.
.
ถ้าพิจารณาดูแล้วว่า เราเหมาะจะลงทุนใน SSFX ก็ลองพิจารณาดูว่าเราจะเลือกลงทุนในกองไหนดี แต่ก็อย่าลืมว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนลงทุนนะ
#หมอยุ่งอยากมีเวลา
#ภาษี
#SSF
#SSFX
#กองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ
#RMF
#กองทุนรวม
โฆษณา