25 มิ.ย. 2020 เวลา 10:35 • ธุรกิจ
สรุปเนื้อหาจากคอร์สความคิดสร้างสรรค์เรื่อง Be Your Best Creative Self
Photo by Amy Chandra from Pexels
ความเชื่อเรื่องการถนัดสมองซีกซ้ายหรือสมองซีกขวามีมานานแล้ว
แต่การเชื่อเรื่องนี้อาจทำลายความสำเร็จของเราได้อย่างนึกไม่ถึง
ถ้าเราคิดว่าตัวเองเป็นพวกสมองซีกซ้ายอย่างเดียว สนใจเหตุผล การคำนวณ เราจะอ้างว่า ตัวเองไม่มีหัวศิลปะหรอก อะไรที่เกี่ยวกับดีไซน์ ขอให้ไปไกลๆ เลย ( เมื่อก่อน ผมก็เป็นแบบนี้)
หรือถ้าอ้างว่า ฉันเป็นสมองซีกขวา เป็นติสจ๋า ไม่เก่งเลข คิดไม่เป็นระบบหรอก ใครพูดตัวเลขหรือศัพท์เทคนิคนิดหน่อย ก็ต้องกินยาแก้ปวดหัวแล้ว
สมมติว่า คุณอยากจ้างโปรแกรมเมอร์ฟรีแลนซ์เขียนแอปให้บริษัทคุณ คุณจะจ้างใคร ระหว่าง
ก. โปรแกรมเมอร์คนแรก เขียนโปรแกรมเก่งมาก แต่ออกแบบไม่เป็น แอปใช้งานยาก เพราะเชื่อว่าตัวเองเป็นสมองซีกซ้าย ไม่ยุ่งเรื่องงานออกแบบ เขียนโค้ดอย่างเดียว
ข. โปรแกรมเมอร์คนที่สอง เขียนโปรแกรมเก่งและออกแบบแอปอย่างสวยงามด้วย ไม่เคยเชื่อเรื่องสมองซีกซ้าย ซีกขวา
ทั้งสองคนคิดเงินเท่ากัน คุณอยากจ้างใครครับ
ดังนั้น อย่าสับสนระหว่างความถนัดและศักยภาพที่แท้จริงของเรา สมองซีกซ้ายและสมองซีกขวาเป็นเรื่องของความถนัด แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะพัฒนาด้านอื่นไม่ได้
เนื้อหาข้างบนคือสิ่งที่ผมเรียนรู้จากคอร์สออนไลน์ของ Coursera เรื่อง Be Your Best Creative Self ซึ่งเป็นหลักสูตรออนไลน์ด้านความคิดสร้างสรรค์ที่เพิ่งเปิดตัวในช่วง COVID-19
ผู้สอนหลักสูตรนี้คือ อาจารย์เดวิด อันเดอร์วูด (David Underwood) จาก University of Colorado Boulder และถ่ายทำในสถานที่ส่วนตัวของอาจารย์เดวิดเอง
ใครอยากรู้ว่า คอร์สนี้สอนอะไรบ้าง อ่านต่อเลยครับ
อาจารย์เดวิด อันเดอร์วูด ( Credit : Be Your Best Creative Self)
นิยามของอาชีพสร้างสรรค์ (Creative Professional)
หลักสูตรนี้เน้นผู้เรียนที่เป็นคนทำงานด้านการสร้างสรรค์หรืออาชีพสร้างสรรค์ ถ้ามีประสบการณ์การทำงานแล้ว จะได้ประโยชน์จากคอร์สนี้มาก
อาจารย์เดวิดให้นิยามอาชีพสร้างสรรค์ว่า เป็นงานที่ทำโดยไม่มีสคริปต์ล่วงหน้า ไม่มีแบบแผนที่แน่นอน และความสำเร็จในอาชีพขึ้นกับความเห็นของคนอื่นด้วย เช่น นักดนตรี , ศิลปิน , นักเขียน , นักออกแบบกราฟิก , ช่างภาพ เป็นต้น
แต่ไม่ได้หมายความว่า อาชีพอื่น เช่น หมอ โปรแกรมเมอร์ วิศวกร หรือนักบัญชี ไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพราะทุกอาชีพต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานทั้งนั้น
หาสไตล์การทำงานที่เหมาะกับตัวเอง
ผมชอบทำงานตอนเช้า เพราะมีสมาธิที่สุด ในขณะที่หลายคนหัวแล่น ไอเดียแล่นฉิวตอนดึก บางคนชอบทำงานในที่เงียบๆ ขณะที่อีกหลายคนชอบทำงานในร้านกาแฟ
แต่ละคนมีสไตล์การทำงานต่างกัน ดังนั้น ขอให้หารูปแบบการทำงานของเราที่เหมาะสมกับตัวเราที่สุด เช่น เวลา สถานที่ สภาพแวดล้อม คนใกล้ชิด
กระตุ้นไอเดียด้วยการระดมสมอง
หลายคนคอยให้แรงบันดาลใจเกิดขึ้น แต่ที่จริงแล้ว เราต้องเริ่มต้นทำบางอย่างก่อน อย่าไปหวังว่า แรงบันดาลใจจะเคาะประตูหน้าบ้าน บอกว่า “ฉันมาหาเธอแล้ว !”
อาจารย์เดวิดแนะนำ 4 วิธีต่อไปนี้ในการระดมสมองเพื่อหาไอเดีย
1. เขียนรายการ
เป็นวิธีที่ผมแนะนำนิสิตเสมอในการหาไอเดียครั้งแรก เช่น ผมมีงานที่ให้นิสิตเขียนบทความรีวิวเรื่องอะไรก็ได้ใน Medium
ดังนั้น ผมบอกให้นิสิตเขียนไอเดีย 10 ข้อเกี่ยวกับบทความรีวิว เช่น ชานมไข่มุก , หนัง , หนังสือ , เพลง , เกม , แอป เป็นต้น จากนั้นเลือกไอเดียข้อเดียวที่จะมาเขียนใน Medium
วิธีนี้ทำให้เรามีไอเดียมากมาย ไม่ต้องห่วงว่า จะคิดไม่ออก เพราะมีให้เลือกเหลือเฟือ
2. การเล่าเรื่อง
การเล่าเรื่องเป็นเทคนิคที่พบเป็นประจำ เช่น ภาพยนตร์ โฆษณา หนังสือ นิทาน เพลง การ์ตูน
มาเพิ่มชีวิตชีวาให้งานของเราด้วยการเล่าเรื่อง เช่น ถ้าต้องนำเสนอเรื่องทางเทคนิค ก็ใช้การเล่าเรื่องเสริมให้น่าสนใจ ด้วยการเล่าประวัติหรือเบื้องหลังของงานนี้
ตัวอย่างของการเล่าเรื่องที่อาจารย์เดวิดแสดงให้ดูคือ โปสเตอร์ข้างล่าง ที่มีข้อความเล็กๆ เขียนมุมขวาล่างว่า บริษัทนี้ส่งของเร็วมาก
Credit : designrshub.com
อาจารย์เดวิดก็ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องเยอะมากในคอร์ส Be Your Best Creative Self แต่ละบทเรียนจะมีเรื่องเล่าต่างๆ ที่มาจากประสบการณ์ของอาจารย์เดวิดหรือเรื่องของคนอื่น ซึ่งเป็นจุดเด่นของคอร์สนี้ครับ
3. การสนทนา
เมื่อมีไอเดียใหม่ ลองเปลี่ยนเป็นรูปแบบการสนทนา เช่น การถาม การตั้งข้อสังเกต การเล่าเรื่อง บอกทางเลือก หรือเสนอความท้าทาย
4. สังเกตโลกรอบตัวอย่างมีวิจารณญาณ
ถ้าอยากเป็นนักเขียนที่เก่ง ต้องอ่านเยอะๆ
ถ้าอยากเป็นนักออกแบบที่เก่ง ต้องสังเกตดีไซน์เยอะๆ
โลกรอบตัวมีสิ่งให้เราสังเกต เรียนรู้ตลอดเวลา แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกอย่างจะดีเสมอไป ไม่ว่าเราจะพบผลงานที่ดีหรือแย่ ขอให้ถามตัวเองว่า มันดีหรือไม่ดีเพราะอะไร
การรวบรวมผลงานต่างๆ ที่น่าสนใจ เพื่อเรียนรู้และประยุกต์มาใช้ เป็นทักษะสำคัญของอาชีพสร้างสรรค์ในยุคนี้
การแก้ไขงานคือส่วนหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์
“ช่วยแก้ไขงานหน่อยสิ”
นี่คือประโยคที่คนอาชีพสร้างสรรค์เกลียดที่สุด แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ขอให้ยอมรับว่า การแก้ไขงานเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพสร้างสรรค์
การรับคำวิจารณ์จากลูกค้าหรือคนอื่นก็เป็นส่วนหนึ่งของอาชีพสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน อย่ายึดติดผลงานตนเองมากนัก ขอให้นึกเสมอว่า งานของเราที่คิดว่าดีที่สุดแล้ว ก็ยังปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงได้
สิ่งสำคัญคือ ความสามารถของเราในการสร้างผลงาน ไม่ใช่ตัวผลงาน เพราะผลงานถูกทำลาย โดนขโมย สูญหายได้ แต่ความสามารถในการสร้างสรรค์จะอยู่กับเรา ไม่มีใครขโมยหรือสูญหายได้
ให้นึกว่าตัวเองคือแบรนด์ที่ลูกค้าจดจำ
แบรนด์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสินค้าเท่านั้น แต่เราในฐานะที่เป็นคนทำอาชีพสร้างสรรค์ก็ต้องคิดว่า ตัวเองคือแบรนด์เช่นกัน
จินตนาการว่า เราเป็นสินค้าบนหิ้งที่มีสินค้าแบบเดียวกันอีกมากมาย ทำไมลูกค้าเลือกเราแทนที่จะเลือกคนอื่น จุดเด่นของแบรนด์เราคืออะไร เราจะควบคุมคุณภาพได้อย่างไร เราจะเติบโตในทิศทางใด
แต่ถ้าไม่ทราบว่า ทำไมลูกค้าเลือกเรา ก็ถามลูกค้าตรงๆ นี่คือเทคนิคง่ายๆ ที่หลายคนมองข้ามครับ
การรักษาคำสัญญาก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างแบรนด์เรา
ใส่จิตวิญญาณในงานทุกอย่างที่เราทำ
ทุกงานที่เราทำมีความสำคัญทั้งนั้น ดังนั้นขอให้ทำอย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่การบ้านก็ตาม
อาจารย์เดวิดเล่าว่า เคยส่งงานวาดรูปล้อเลียนแบบลวกๆ สมัยตอนเรียน แต่เมื่อไปสมัครงาน ผู้สัมภาษณ์ถามว่า เคยวาดรูปล้อเลียนหรือเปล่า อาจารย์เดวิดก็ไม่กล้าโชว์ภาพวาดนั้น เพราะเป็นงานที่ไม่ตั้งใจทำ
ในทางตรงข้าม อาจารย์เดวิดเคยออกแบบโลโก้ให้หน่วยงานหนึ่ง แต่ไม่ได้ใช้โลโก้นั้น เมื่อมีหน่วยงานอีกแห่งหนึ่งขอให้อาจารย์เดวิดออกแบบโลโก้ อาจารย์เดวิดก็นำโลโก้ที่ไม่ได้ใช้ มาปรับปรุงเล็กน้อย และใช้กับหน่วยงานอีกแห่งได้เลย
ข้อคิดคือ จงสร้างผลงานอย่างดีเลิศ เพราะเราสามารถนำผลงานที่ดีเลิศมาปรับใช้ในสถานการณ์อื่นๆ ได้อีก
หาข้อผิดพลาดในงานตัวเองให้เจอก่อนลูกค้า
การควบคุมคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างผลงาน มีหลายครั้งที่เรามองไม่เห็นข้อผิดพลาดของงานตัวเอง เพราะเราอยู่ใกล้ชิดผลงานมากเกินไป เช่น นักเขียนที่ไม่เห็นคำสะกดผิดในหนังสือของตัวเอง
ดังนั้น เราต้องมีคนอื่นมาช่วยตรวจสอบ เช่น นักเขียนมีบรรณาธิการตรวจสอบงานเขียน เป็นต้น
ถ้าเราไม่มีคนช่วยหาตำหนิต่างๆ ในงานของเรา และลูกค้าเห็นงานที่มีข้อผิดพลาดก่อนเราเห็นแล้วล่ะก็ หายนะจะบังเกิด !
ลองพิจารณาตัวอย่างงานออกแบบที่อาจารย์เดวิดเล่าเรื่อง สะกดผิด ชีวิตเปลี่ยน
โปสเตอร์ที่สะกดถูก ( Credit : Be Your Best Creative Self)
โปสเตอร์ที่สะกดผิด (Credit : Be Your Best Creative Self)
ทำตัวเป็นกิ้งก่า
กิ้งก่าเปลี่ยนสีปรับสีผิวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม คนทำงานในวงการสร้างสรรค์ก็เช่นเดียวกัน ควรสร้างผลงานได้ตามความต้องการของลูกค้า เหมือนดาราเก่งๆ ที่สวมบทบาทจนจำแทบไม่ได้
มนุษยสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญ
ต่อให้เก่งแค่ไหน แต่เข้ากับคนอื่นยาก ทำงานกับคนอื่นไม่ได้ ก็คงก้าวหน้ายาก ดังนั้น ขอให้ทำงานเก่ง แต่เป็นคนง่ายๆ ด้วย อย่าเรื่องมาก !
อย่าดูถูกหรือมองข้ามลูกค้า เพราะลูกค้าบางคนที่เราคิดว่าไม่สำคัญ อาจเป็นบุคคลสำคัญที่สุดที่ทำให้เราดังหรือดับก็ได้
โลโก้ของ Pinterest
วิธีรับมือลูกค้าแบบต่างๆ
นี่คือข้อสอบข้อหนึ่งในคอร์สนี้ครับ
สมมติว่าคุณเป็นนักออกแบบชื่อดัง และมีเจ้าของภัตตาคารติดต่อคุณ ขอให้ออกแบบเมนูร้านอาหารแบบใหม่มาให้ดู เพราะเมนูเดิมดูยากและไม่น่าสนใจ แล้วเจ้าของร้านค่อยตัดสินใจว่า จะจ้างคุณหรือไม่ คุณจะทำอย่างไร
ก. ตอบว่า คุณยินดีช่วย แต่ต้องจ่ายเงินค่าออกแบบก่อน
ข. ตอบว่า คุณต้องการอาหารเย็นพร้อมไวน์อย่างดี ถ้าคุณชอบอาหาร ก็จะจ่ายเงิน
ค. เสนอไอเดียให้เธอทันที ก็คุณชอบงานออกแบบอยู่แล้วและชอบอาหารในร้านเธอ
ง. บอกเธอให้ไปไกลๆ เพราะลูกค้าอย่างเธอไม่คู่ควรกับคุณ
คำตอบที่ถูกต้องคือ …..
เฉลยของข้อนี้คือ ก. หมายความว่า ลูกค้าต้องจ่ายเงินค่าออกแบบให้คุณก่อน เพราะคุณเป็นมืออาชีพ ไม่ได้ทำงานฟรีๆ และเพื่อรับประกันว่า ลูกค้าจริงใจ
มิฉะนั้น เมื่อคุณทำเมนูใหม่เสร็จแล้ว ลูกค้าอาจอ้างว่า ไม่ชอบ แล้วไม่จ่ายเงิน แต่นำไอเดียของคุณไปใช้
อีกสถานการณ์หนึ่งที่หลายคนเคยเจอ คือ ลูกค้าเปลี่ยนใจตลอดเวลา บอกให้ทำอย่างนี้ แต่เมื่อส่งงานแล้ว ก็เปลี่ยนใจอีก ขอให้แก้นู่น แก้นี่อยู่เรื่อย
อาจารย์เดวิดแนะนำว่า ให้ใช้เทคนิค Moodboard ซึ่งเป็นภาพหรือตัวอย่างงานที่ลูกค้าชอบหรือไม่ชอบ เพื่อที่ทั้งตัวเราและลูกค้าจะได้เข้าใจตรงกัน และสร้างผลงานที่ตรงความต้องการของลูกค้าที่สุด โดยไม่เสียเวลาเราด้วยครับ
ตัวอย่าง Moodboard ในยุคนี้ก็คือ Pinterest นั่นเอง
อาจารย์เดวิดสรุปข้อคิด 10 ข้อเกี่ยวกับอาชีพสร้างสรรค์ดังนี้
1. ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องของการฝึกฝน ไม่ใช่พรสวรรค์
2. ทุกอย่างที่คุณสร้าง สำคัญทั้งนั้น
3. แก้ปัญหา อย่าโทษคนอื่น ชื่อเสียงเกิดจากการร่วมมือที่ประสบความสำเร็จ
4. เป็นคนเก่ง แต่เข้ากับคนอื่นได้ด้วย
5. ไม่มีงานที่เล็กน้อย อย่าดูถูกลูกค้า
6. รับมือคำวิจารณ์แบบมืออาชีพ
7. ความเห็นและหลักการไม่ใช่เรื่องเดียวกัน อย่าทำสิ่งที่ฝืนหลักการตนเอง
8. เป็นครู อย่าหวงวิชา
9. อย่าหยุดเติบโต
10. สนุกกับงานที่ทำ
ความเห็นเกี่ยวกับคอร์สนี้
คอร์สนี้ไม่ได้เน้นเทคนิคความคิดสร้างสรรค์หรือการหาไอเดียแบบคอร์สอื่น
แต่เน้นปัญหาต่างๆ ที่คนทำอาชีพสร้างสรรค์มักพบ โดยอาจารย์เดวิดใช้เรื่องเล่าหรือ storytelling มากมาย
ถ้าใครหวังว่า จะได้เรียนรู้เทคนิคการหาไอเดียแปลกใหม่ การสร้างนวัตกรรมหรือทำสตาร์ทอัพ ก็อาจผิดหวัง เพราะอาจารย์เดวิดเน้นกลุ่มผู้เรียนที่ทำอาชีพสร้างสรรค์อยู่แล้ว
สิ่งที่อาจารย์เดวิดเน้นในหลักสูตรนี้เช่น การสร้าง personal branding , ทัศนคติที่ถูกต้อง , ทักษะการสื่อสาร , การทำงานกับลูกค้า , ความก้าวหน้าในการทำงาน
ถ้าผู้เรียนไม่เคยมีประสบการณ์ในบางเรื่องที่อาจารย์เดวิดเล่า ก็คงยังไม่ซาบซึ้งเท่าไร
แต่ถ้าเคยเจอบางเรื่องกับตัวเอง เช่น โดนลูกค้าเทงาน ไม่จ่ายเงิน ถูกตัดราคา ทำงานกับอัจฉริยะอีโก้สูง ก็จะอินกับเรื่องเล่าของอาจารย์เดวิด จนบางครั้งอยากหัวเราะว่า ทำไมตรงกับตัวเองจัง !
คอร์สนี้จึงไม่ใช่คอร์สที่ดูครั้งเดียวจบ แต่ต้องดูบ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาที่มีปัญหาในการทำงาน เหมือนกับมีอาจารย์เดวิดเป็นพี่เลี้ยงที่คอยให้คำแนะนำเราครับ
เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่
โฆษณา