25 มิ.ย. 2020 เวลา 13:15 • สุขภาพ
🔔ปี 2563 ไข้เลือดออก มีแนวโน้มระบาดมาก และรุนแรง
🔔พบในผู้ใหญ่อายุมากกว่า 15 ปี เพิ่มมากขึ้น
🔔อัตราตายในวัยกลางคน และสูงวัย เพิ่มมากขึ้น
ไข้เลือดออกเป็นโรคระบาดช่วงหน้าฝนมานานกว่า 50ปีแล้ว
กรมควบคุมโรคติดต่อได้เก็บข้อมูลจำนวนผู้ป่วยย้อนหลัง 10 ปี และใช้วิธีการทางสถิติแบบอนุกรมเวลา ด้วย ARIMA model วิเคราะห์ผล และคาดว่า ปี 2563 นี้จะมีผู้ป่วยไข้เลือดออกประมาณ 140,000 ราย ซึ่งใกล้เคียงกับการระบาดใหญ่ในปี 2558
(ถ้าใครจำได้ในปี 2558 มีดารายอดนิยมท่านหนึ่ง ป่วยและเสียชีวิตด้วยไข้เลือดออก ที่มีภาวะแทรกซ้อน เป็นข่าวดังมาก)
ไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue Virus)ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ คือ DEN-1 , DEN-2 ,DEN-3 และ DEN-4
สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง คือ DEN-2
ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยพบเชื้อDEN-1 และDEN-2เด่น
กรมควบคุมโรคจึงพยากรณ์ว่า ในปี2563 นี้ อาจจะเป็นอีกปีที่มีการระบาดต่อเนื่อง และมีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตสูง
รายงานจากกรมควบคุมโรคติดต่อ สธ http://122.155.1.141/site6/cms-download_content.php?did=32461
10 ปีที่ผ่านมา มีระบาดใหญ่ปีไหนบ้าง ?
รูปแบบการระบาดไม่แน่นอน มีลักษณะปีเว้นปี หรือ ปีเว้น 2 ปี ปีที่มีระบาดใหญ่คือ ปี 2553, 2556 และ 2558 มีผู้ป่วย มากถึง 116,947 154,444 และ 144,952 ตามลำดับ
จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกปี 2561 และ 2562 จำนวนเพิ่มมากในช่วงเดือน มิถุนายน-กันยายน
ระบาดมากช่วงใดของปี?
เริ่มมีผู้ป่วยมากขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน พบสูงสุดในเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งเป็นฤดูฝน และเด็กๆเปิดเทอมไปโรงเรียน การระบาดลดลงเมื่อเข้าฤดูหนาว
ใครคือกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นไข้เลือดออก?
เด็กวัยเรียน อายุ 10-14 ปี มีความเสี่ยงที่จะเป็นไข้เลือดออกมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ. แต่ในกลุ่มอายุเกิน 15 ปี ก็มีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น
กลุ่มอายุที่เป็นไข้เลือดออกเพิ่มสูงขึ้นคือ 10-14 ปี
ผู้ป่วยไข้เลือดออกกลุ่มใดมีอัตราการป่วยตายสูง?
อัตราตายของผู้ป่วยเด็กอายุ ต่ำกว่า 5 ปี สูงกว่ากลุ่มเด็กอายุ 10 ปี 4 เท่า
ปี 2558 อัตราป่วยตาย
ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี 0.21
อายุ 1-4 ปี. 0.19
อายุ35-44 ปี. 0.15
อายุ 45-54ปี. 0.15
อัตราป่วยตายของผู้ป่วยวัยกลางคน และสูงวัยมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะ การวินิจฉัยล่าช้า และมักมีโรคประจำตัว
ผู้ที่เสียชีวิตจากไข้เลือดออกในปี 2562 พบว่าเป็นสายพันธุ์ DEN-2. 51 %
ทั่วโลกอัตราการเพิ่มของโรคไข้เลือดออกสูงขึ้นถึง 30 เท่าในเวลา 50 ปี จากปี 2503-2553 โรคนี้กระจายอยู่ใน 120 ประเทศ เดิมพบเฉพาะเขตร้อน ต่อมาก็ขยายไปสู่เขตอบอุ่นด้วย
เพราะภาวะโลกที่ร้อนและความชื้นสูงขึ้น ทำให้ยุงมีชีวิตยืนยาวขึ้น การที่คนมาอยู่รวมกันเป็นชุมชนเมือง ก็ทำให้มีการระบาดมากขึ้นด้วย
ยุงเป็นพาหะนำเชื้อไวรัส ไข้เลือดออก
อาการ
ระยะฟักตัว 4-10 วันหลังถูกยุงกัด ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ หรืออาการน้อย
อาการแบ่งเป็น 3 ช่วง
1.ระยะไข้ ไข้สูงลอย ปวดกล้ามเนื้อ ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูกไหล คลื่นไส้อาเจียน ไข้ประมาณ 3-7 วัน ส่วนใหญ่หาย ไม่มีอาการรุนแรง
2.ระยะวิกฤต พบในผู้ป่วยจำนวนน้อย พบในวันที่ไข้เริ่มลดต่ำลง ประมาณวันที่ 3-8 ระยะนี้มีการรั่วของพลาสมาออกจากเส้นเลือด เข้าไปในช่องท้อง ช่องปอด มีเกล็ดเลือดต่ำลง
ระยะนี้ ถ้ามีการรั่วของพลาสมาออกไปมาก โดยไม่มีการให้สารน้ำทดแทน ก็จะมีชีพจรเบา เร็ว มือเท้าเย็น จนเกิดอาการช็อคได้หากไม่ได้ให้สารน้ำเข้าเส้นเลือดอย่างทันท่วงที
ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง ถ้าให้การรักษาที่เหมาะสมก็จะเข้าสู่ระยะพักฟื้น
ผื่นแดงใต้ผิวหนังของผู้ป่วย ไข้เลือดออก
3.ระยะพักฟื้น
พ้นวิกฤต ไม่มีการรั่วของพลาสมาแล้ว ชีพจรปกติ บางรายเต้นช้า มีผื่นแดงคัน ขึ้นที่แขนขา
ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ดีขึ้น เกล็ดเลือดเริ่มขึ้นเป็นปกติ
การป้องกัน
ไข้เลือดออกออกเกิดจากไวรัส จึงไม่มียารักษาจำเพาะ
การรักษาคือการให้สารน้ำที่เหมาะสมกับช่วงระยะของโรค ค่อยๆประคับประคองจนพ้นระยะวิกฤต
ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยเฉพาะยุงที่กัดในเวลากลางวัน เมื่อเด็กๆอยู่ที่โรงเรียน
กำจัดลูกน้ำยุงลายทั้งที่บ้าน โรงเรียน และสถานที่สาธารณะ. ไม่ให้มีแหล่งน้ำขัง
ตรวจพบลูกน้ำยุงลายใน โรงเรียน กระจายทั่วประเทศ
วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก Denvaxia มีขึ้นทะเบียนในประเทศไทยตั้งแต่ธันวาคม 2558 ฉีดในเด็กสุขภาพแข็งแรงที่มีอายุ 9 ปีขึ้นไปถึง ผู้ใหญ่อายุ 45 ปี
ผลการป้องกันโรคติดเชื้อไข้เลือดออก ขึ้นกับภาวะภูมิที่เกิดจากการติดเชื้อมาก่อนฉีดวัคซีน คือ
ถ้าเคยติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกมาก่อน การฉีดวัคซีนจะได้ผลดี และมีความปลอดภัย
แต่ถ้าผู้รับวัคซีนไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน วัคซีนจะได้ผลลดลง และจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นไข้เลือดออกรุนแรง หากได้รับเชื้อไวรัสไข้เลือดตามธรรมชาติในภายหลัง และมีโอกาสนอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
ดังนั้น WHOจึงแนะนำ เมื่อ กันยายน 2561 ว่า วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก Denvaxia ยังมีผลป้องกันการติดเชื้อไข้เลือดออกได้ดี และมีความปลอดภัยในผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน (มีการตรวจภาวะการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ก่อนการฉีดวัคซีน)
เอกสารอ้างอิง
1.เอกสารรายงานการพยากรณ์โรคไข้เลือดออก ปี 2563 กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
เอกสารhttp://122.155.1.141/site6/cms-download_content.php?did=32461
2.Dengue: The difficultly of clinical management and vaccine. รศ นพ ทวี โชติพิทยสุนนท์ ใน Update Pediatric Infectious Diseases 2020 กุมภาพันธ์ 2563
3.การวินิจฉัยและรักษาโรคไข้เลือดออก พญ ประอร
สุประดิษฐ ณ อยุธยา Update Pediatric Infectious Diseases 2020 กุมภาพันธ์ 2563

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา