26 มิ.ย. 2020 เวลา 01:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ 51 Pegasi b ที่ทำให้ Mayor และ Queloz ได้โนเบล
Michel Mayor และ Didier Queloz สองผู้ค้นพบ 51 Pegasi b – ที่มา spaceth.co
กฎและทฤษฎีต่าง ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอเมื่อเจอข้อเท็จจริงใหม่ สิ่งหนึ่งที่ผลิกโฉมความเข้าใจในด้านดาราศาสตร์ จนทำให้ผู้ค้นพบสิ่งนี้ได้รับครึ่งหนึ่งของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ไปในปี 2019 นั้นก็คือการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรก ที่โคจรรอบดาวฤกษ์เหมือนกับดวงอาทิตย์ของเรา ซึ่งนั่นก็คือการค้นพบ 51 Pegasi b เมื่อปี 1995 โดย Michel Mayor และ Didier Queloz
การค้นพบในครั้งนี้พลิกโฉมความรู้ของวงการดาราศาสตร์ไปแทบจะในทันที ดาวเคราะห์ทั้งเก้าดวงในระบบสุริยะ (ตอนนั้นยังพลูโตยังเป็นอยู่) ไม่ได้เป็นสิ่งที่พิเศษและมีเฉพาะในระบบสุริยะเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่มันกลับมีอยู่ทั่วไปในทางช้างเผือกของเรา และจนถึงตอนนี้เราก็ทราบแล้วว่าเมื่อเราแหงนมองเห็นดาวบนท้องฟ้าที่ส่องแสงระยิบระยับมากเพียงใด ก็จะมีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะอยู่มากกว่านั้นอีกหลายเท่าที่รอให้เราพบเจออยู่
1
ย้อนไปในปี 1995 Mayor และ Queloz เป็นหนึ่งในกลุ่มนักดาราศาสตร์ที่กำลังตามล่าหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ซึ่งในตอนนั้นมีการค้นพบดวงแรกที่โคจรอยู่รอบพัลซาร์ PSR B1257+12 ตั้งแต่ปี 1992 แล้ว ทว่านักดาราศาสตร์ก็ยังเชื่อว่าในบรรดาดาวฤกษ์ที่มีอยู่มากมายบนท้องฟ้านี้ จะต้องมีสักดวงแหละที่แอบซ่อนดาวเคราะห์ระบบสุริยะเอาไว้
เนื่องจากระยะทางที่ค่อนข้างใกล้กับดาวฤกษ์ และขนาดที่เล็กกว่ามาก ๆ ก็ทำให้การถ่ายภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเหล่านี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย นี่ยังไม่รวมถึงระยะทางที่ไกลระดับหลายปีแสงออกไปอีก ดังนั้นนักดาราศาสตร์จึงต้องใช้วิธี Radial Velocity เพื่อสังเกตการแกว่งของดาวฤกษ์ อันเนื่องมาจากแรงโน้มถ่วงที่กระทำระหว่างดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ ที่ทำให้ทั้งสองวัตถุโคจรรอบจุดศูนย์กลางแรงโน้มถ่วง หรือ Barycenter นั่นเอง
ทีนี้ข้อเสียของวิธีนี้ก็คือ ถ้าดาวบางดวงมีคาบการโคจรที่ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน ก็จะทำให้นักดาราศาสตร์ต้องเสียเวลานานหลายปีเพื่อจ้องมองดูดาวดวงเดียว ที่บางทีก็อาจจบลงด้วยการคว้าน้ำเหลวได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นอย่างนั้น Mayor และ Queloz จึงได้พัฒนาอุปกรณ์ spectrograph ที่เอาไว้วัดความถี่แสงจากดาวฤกษ์ขึ้นมาใหม่ด้วยตนเอง ชื่อว่า ELODIE และข้อดีของ ELODIE นั้นก็คือมันสามารถวัดความถี่แสงจากดาวมากถึง 142 ดวงได้พร้อม ๆ กันในครั้งเดียว ซึ่งทั้งคู่ได้นำมันไปติดตั้งไว้กับหอดูดาว Haute-Provence ในประเทศฝรั่งเศส เพื่อสังเกตหาดาวสักดวงที่จะปรากฏข้อมูลตามที่ต้องการ
และแล้วทั้งคู่ก็ได้เห็นกราฟความถี่สูงและต่ำจากดาว 51 Pegasi ซึ่งแสดงให้เห็นว่าดาวมีการแกว่งไปมาเนื่องจากแรงโน้มถ่วงที่มากระทำโดยดาวเคราะห์ที่โคจรรอบอยู่ กราฟที่แสดงผลแบบนี้ก็คล้ายกับเสียงไซเรนจากรถฉุกเฉิน ที่จะมีความถี่สูงเมื่อเคลื่อนเข้าใกล้เรา และความถี่จะต่ำลงเมื่อเคลื่อนห่างออกไป แม้ข้อมูลที่แสดงผลออกมาจะมีค่าการแกว่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ความคงที่ของมัน และการถูกตรวจจับมากกว่า 3 ครั้ง ก็ทำให้ทั้งคู่ยืนยันการค้นพบ 51 Pegasi b ว่าเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรก ที่โคจรรอบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ได้สำเร็จ
1
สิ่งหนึ่งที่ช่วยในการค้นพบในครั้งนี้ ก็คือลักษณะของดาวนั่นเอง เนื่องจาก 51 Pegasi b มีมวลมากกว่าโลกประมาณ 150 เท่า หรือเกือบครึ่งหนึ่งของดาวพฤหัส แต่กลับโคจรอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ของมันเป็นอย่างมาก จนทำให้มันใช้เวลาโคจรครบ 1 รอบเพียง 4 วันเท่านั้น ซึ่งช่วยให้นักดาราศาสตร์สังเกตการแกว่งของมันได้บ่อยครั้งมากขึ้น และค่าที่ออกมาก็ชัดเจนว่าไม่ใช่ความผิดพลาดทางด้านโปรแกรมแต่อย่างใด
ทว่านั่นก็เป็นหนึ่งข้อโต้แย้งไปในเวลาเดียวกัน เพราะว่าระบบสุริยะคือโมเดลเพียงหนึ่งเดียวที่เรามีของดาวเคราะห์ ณ ช่วงเวลานั้น ซึ่งแน่นอนว่าในระบบสุริยะของเราไม่มีดาวที่มีขนาดใหญ่ในระบบครึ่งหนึ่งของพฤหัสโคจรใกล้ดวงอาทิตย์แบบนี้ (ใกล้กว่าดาวพุธอยู่ถึง 8 เท่า) จนแทบไม่น่าเชื่อว่ามันจะเป็นดาวเคราะห์อยู่ได้ แต่ในปัจจุบันนักดาราศาสตร์ก็ได้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่คล้ายคลึงกับ 51 Pegasi b อีกหลายดวง และให้นิยามดาวเคราะห์ชนิดนี้ว่าเป็น Hot Jupiter หรือดาวเคราะห์แก๊สขนาดใหญ่ ที่โคจรอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ของมัน รวมทั้งยังมี Ultrahot Jupiter ที่โคจรใกล้ยิ่งกว่า จนร้อนแรงดั่งดวงดาวเลยทีเดียว
หลังจากการค้นพบ 51 Pegasi b นี่ก็แทบจะเป็นก้าวแรกที่บุกเบิกศาสตร์แห่งการสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะไปในทันที ไล่ตั้งแต่ภารกิจกล้อง Kepler ที่ได้ถูกส่งขึ้นไปค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ด้วยวิธีการ Transit ในปี 2009 และกล้อง TESS ในปี 2018 รวมทั้งยังมีการพัฒนาอุปกรณ์และเทคนิคต่าง ๆ จนนำมาสู่การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมากกว่า 4,000 ดวงแล้วในปัจจุบัน และข้อมูลจากกล้อง Kepler ยังชี้ให้เห็นด้วยว่ามีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมากกว่าดาวฤกษ์ในทางช้างเผือกทั้ง 400,000,000,000 ดวงเสียอีก
รูปภาพประกอบคำบรรยาย ที่มา - https://exoplanets.nasa.gov/news/1604/nobel-winners-changed-our-understanding-with-exoplanet-discovery/
ช่วงเวลาเพียง 25 ปี ได้เปลี่ยนความคิดที่ทั้งเผ่าพันธุ์ของเรามีต่อการแหงนมองดูจักรวาลไปอย่างมากมาย จากการมองออกไปด้วยความคิดในใจว่าเรานั้นพิเศษกว่าใครอื่น เป็นการมองออกไปด้วยความตื่นตาตื่นใจในการค้นพบเรื่องราวใหม่ ๆ ข้างนอกนั้น แม้เท้าของเราจะยังคงอยู่บนพื้นโลก แต่ดวงตาของเรานั้นสามารถมองออกไปไกลและเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
อ้างอิง
The Nobel Prize in Physics 2019 จาก www.nobelprize.org
Nobel Winners Changed Our Understanding with Exoplanet Discovery จาก exoplanets.nasa.gov
Physics Nobel Honors Early Universe and Exoplanet Discoveries จาก www.quantamagazine.org
โฆษณา