26 มิ.ย. 2020 เวลา 01:58 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นักวิทย์เปลี่ยนไวรัสโคโรนาเป็นเสียงดนตรี
(เรียบเรียงโดย ชนกานต์ พันสา)
นักวิจัยจากสถาบัน MIT แปลงองค์ประกอบของโปรตีนปุ่มๆ ที่กระจายอยู่ทั่วบนผิวนอกของไวรัสโคโรนา ที่เรียกว่า spike protein ให้ออกมาเป็นโน้ตดนตรี แล้วเลือกเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ มาบรรเลงประกอบกันให้เกิดเป็นเพลง
โปรตีนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งของสิ่งมีชีวิตต่างๆ โดยทั่วไปการหาโครงสร้างของโปรตีนนั้นเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะโปรตีนเป็นสารชีวโมเลกุลขนาดใหญ่ มีโครงสร้างที่ซับซ้อนมาก
กลุ่มวิจัยจากสถาบัน MIT จึงแปลงโครงสร้างเหล่าโปรตีนออกมาเป็นเสียงดนตรีโดยใช้กรดอะมิโนทั้ง 20ชนิด มากำหนดเป็นตัวโน้ต
สิ่งที่มีขนาดเล็กในระดับนาโนจะมีการสั่นอยู่ตลอดเวลา กรดอะมิโนแต่ละชนิดก็จะมีการสั่นที่แตกต่างกันไป ซึ่งจะให้ความถี่ที่แตกต่างกันด้วย แต่พวกมันสั่นด้วยความถี่ในระดับที่หูมนุษย์ไม่ได้ยิน นักวิจัยจึงต้องนำสัญญาณการสั่นนี้มาแปลง ให้ได้ค่าความถี่ลดลงมาอยู่ในช่วงที่หูมนุษย์รับได้
การแปลงโมเลกุลโปรตีนให้เป็นเพลงนั้น เป็นการเพิ่มเพิ่มความสนุกในการเรียนรู้ และวิธีนี้ยังมีประโยชน์ต่อผู้ที่พิการทางสายตา ซึ่งจะช่วยให้พวกเขา ‘ได้ยิน’ โปรตีนเหล่านี้ได้
เมื่อแปลงโปรตีนของไวรัสโคโรนาเป็นเพลงแล้ว
นักวิจัยจะให้ AI นำข้อมูลเพลงนี้ ไปเทียบกับคลังข้อมูลเพลงของโปรตีนอื่นๆ ที่มีอยู่ เพื่อทำการค้นหาโปรตีนที่มีโครงสร้างเฉพาะ ที่จับคู่กับโปรตีนของไวรัสนี้ได้ แล้วนำผลที่ได้ไปใช้ในการพัฒนายาต่อไป พวกเขาเล่าว่าวิธีการที่ใช้โน้ตดนตรีนี้ช่วยให้ประหยัดเวลาจากการดูโครงสร้างโมเลกุลแบบเดิมๆ มาก
2
งานวิจัยนี้จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาไวรัสโคโรนานี้ได้มากแค่ไหน คงต้องรอดูกันในอนาคต แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นวิธีที่สร้างสรรค์และน่าจับตามอง
ทั้งในแง่งานวิจัยและในแง่การสร้างงานศิลปะ
คลิกไปฟังเสียงดนตรีจากไวรัสที่
* ที่ผ่านมากลุ่มวิจัยนี้ได้สร้างเสียงเพลงจากโปรตีนไปแล้วหลายชนิด
สามารถเข้าไปฟังได้ที่ SoundCloud และพวกเขายังมีแอพพลิเคชันชื่อ Amino Acid Synthesizer ให้เราเข้าไปแต่งเพลงจากโน้ตดนตรีทั้ง 20 โน้ต ของกรดอะมิโนแต่ละชนิด หรือจะเรียกอีกอย่างคือ ให้เราเข้าไปสร้างโปรตีนโมเลกุลใหม่แบบง่ายๆ ได้ด้วย
โฆษณา