26 มิ.ย. 2020 เวลา 08:04
ข้าวต้มมัด ขนมวิถีพุทธ ขนมเพื่อลดสภาวะโลกร้อน
การทำบุญทำทานการไปวัดเป็นวิถีชีวิตของชาวพุทธมาช้านานแล้ว โดยเฉพาะชาวพุทธจะให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการทำบุญ
เห็นได้จากพิธีกรรมวันสำคัญต่าง ๆ ทางศาสนา ในอดีตกาลที่ผ่านมา เช่น การไปวัด เพื่อไปไหว้พระ ฟังเทศน์ ฟังธรรม รักษาศีล เจริญภาวนา ตักบาตร ถวายสังฆทานเพื่อความสบายใจ
การไปวัดในวันพระ สาธุชนชาวพุทธมักจัดเตรียมอาหารคาวหวาน มักจะใส่ปิ่นโต ขนมก็เช่นกัน
แต่ในบางเทศกาลวันพระในบางท้องถิ่นมักจะทำขนมข้าวต้มมัด เป็นขนมชนิดหนึ่งที่ทำได้ง่ายด้วยข้าวเหนียวผัดกับกะทิปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายและเกลือ อันเป็นสิ่งที่มีอยู่ในครัวเรือน แล้วนำไปห่อด้วยใบตอง ใส่ไส้กล้วย เสริมด้วยถั่วดำต้มสุก โรยลงบนข้าวเหนียวที่ห่อหุ้มกล้วย เป็นขนมที่จัดว่าหาวัสดุในการประกอบได้ง่าย
ดังเช่นข้าวเหนียวอาจจะเป็นข้าวที่มาจากผลผลิตของชาวบ้านที่ปลูกข้าวเหนียว ใบตองมาจากต้นกล้วยที่ปลูกกันแทบทุกบ้าน ตอกที่มาจากผิวไม้ไผ่ที่เหลาเป็นเส้นบาง ๆนำมารัดแทนเชือก นำมาจากต้นไผ่ที่ปลูกเป็นกอ วัตถุที่นำมาประกอบนี้ล้วนมาจากธรรมชาติ
ในปัจจุบันภาชนะที่เราเอาไว้ใส่ขนมส่วนใหญ่จะทำมาจากพลาสติกหรือไม่ก็กล่องโฟม
หลังจากการใช้งานเสร็จแล้ว ภาชนะเหล่านั้นก็กลายเป็นขยะ ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมอย่างมาก เพราะย่อยสลายช้า
การทิ้งอย่างไม่เป็นระเบียบ จึงเกิดปัญหาตามมามากมาย มีผลกระทบจากกระบวนการกำจัดผลิตภัณฑ์จำพวกพลาสติกและโฟม ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนตามมาอีกด้วย
การที่จะช่วยลดโลกร้อน ด้วยการใช้ใบตองเป็นวัสดุจากธรรมชาติแทนการใช้ภาชนะพลาสติกหรือโฟม
ขนมที่ห่อด้วยใบตองจะทำให้ขนมหอม สามารถ เก็บความร้อนได้นาน ปราศจากสารพิษ หรือสารเคมีเจือปนอีกด้วย
ในพระไตรปิฎก กล่าวถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า ทรงบัญญัติทรัพย์ที่อยู่ในแผ่นดิน ดังเช่นการตัดต้นไม้ เถาวัลย์ การทำให้ต้นไม้นั้นล้ม ถือเป็นการผิดวินัย พุทธบัญญัตินี้ทำให้รักษาต้นไม้ที่เกิดจากธรรมชาติได้ ไม่มีการตัดต้นไม้โดยที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์
พุทธบัญญัติเหล่านี้ แสดงถึงการรักษาธรรมชาติ รักษาสภาวะของโลกไม่ให้สภาวะของโลกร้อนขึ้น ทั้งที่ในยุคที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่เป็นสังคมเกษตรกรรมที่มีการทำไร่ไถนา และมีทรัพยากรธรรมชาติมากสามารถตัดไม้ต่าง ๆมาใช้ได้ตามจุดประสงค์ได้อย่างมากมาย
ในพระไตรปิฎก ยังกล่าวถึงอานิสงส์ของการถวายขนมในยุคนั้น แม้จะยังไม่มีข้าวต้มมัดก็ตาม ในพระสูตร โมทกทายิกาเถริยาปทาน กล่าวถึงนางกุมภทาสี ในนครพันธุมวดี ได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ถวายขนมต้ม 3 ชิ้นให้กับพระภิกษุผู้มีอาการสงบและมีใจเป็นสมาธิ
เมื่อละจากภพมนุษย์ได้ไปสู่สวรรค์และได้มาเป็นพุทธสาวิกาในยุคพระสมณะโคดมพุทธเจ้าในที่สุด
สรุป
ข้าวต้มมัดเป็นขนมที่ทำได้โดยง่ายโดยอาศัยวัสดุที่มาจากธรรมชาติ บริโภคเสร็จแล้วชิ้นส่วนที่ไม่สามารถบริโภคได้สามารถทิ้งได้อย่างง่าย โดยอาศัยกระบวนการทางธรรมชาติที่ทำให้เศษที่เหลือแห้งเหี่ยวไปเอง
เป็นกุศโลบายของบรรพชนชาวพุทธในการถวายทานด้วยข้าวต้มมัด ทั้งนี้ส่วนผสมของข้าวต้มมัดอาศัยส่วนประกอบหลักคือข้าวเหนียว กล้วย ถั่วดำต้มสุก การเจียนใบตองให้ได้ขนาด ตอกที่มัดต้องแช่น้ำเพื่อให้เหนียวไม่หักง่าย กระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาและใจเย็น เมื่อต้องมานั่งทำข้าวต้มมัดด้วยกันจึงต้องอาศัยความสามัคคี
ส่วนประกอบของข้าวต้มมัดที่ประกอบไปด้วยข้าวเหนียว กล้วย ถั่วดำสุก ใบตอง ตอก มีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม พืชผลบริบูรณ์ จึงเหมาะสมในการนำไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อตนเอง ครอบครัว รวมทั้งสัมพันธภาพที่มีร่วมกันกับชุมชน
การประกบคู่ของข้าวต้มมัดมีความหมายถึงความรักสมัครสมานสามัคคีต่อกัน ต่อครอบครัว ต่อชุมชนและ ต่อวัดอันเป็นเสมือนศูนย์กลางของชุมชน
ข้าวต้มมัดไม่ใช่เป็นเพียงขนมวิถีพุทธ ขนมที่ลดสภาวะโลกร้อนภายนอกเท่านั้น ยังลดความร้อนรุ่มที่มีอยู่ในกาย วาจา ใจ และเป็นขนมที่ทำให้ชุมชนเป็นสุข
คำสำคัญ:ข้าวต้มมัด ขนมวิถีพุทธ ลดสภาวะโลกร้อน
Cr:bussabamintra007
references:
พระไตรปิฎกเล่มที่ 1 พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ภาค 1 ข้อที่ 91-92 หน้าที่ 247 เรื่อง ภุมมัฏฐวิภาค
พระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 25 ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 2 พุทธวังสะ-จริยาปิฎก ข้อที่ 153-154 หน้าที่ 188 เรื่อง โมทกทายิกาเถริยาปทานที่ 3 ว่าด้วยผลแห่งการถวายขนมต้ม
โฆษณา