๑๕ ติลักขณาทิคาถา (หนทางหมดจดวิเศษ)
๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗
นโม .....
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ .....
หลวงพ่อวัดปากน้ำแสดงพระธรรมเทศนา อันว่าด้วยหนทางอันหมดจดวิเศษ แก่คฤหัสถ์ บรรพชิต เนื่องในวันธรรมสวนะขึ้นแปดค่ำแห่งปักษ์มาฆะ เพื่อจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการรักษาพระพุทธศาสนาต่อไป
หนทางอันหมดจดวิเศษ ท่านยกพระไตรลักษณ์ขึ้นไว้ว่า
สพฺเพ สงฺขารา ฯ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัว
ผู้ใดเห็นตามปัญญา ย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ เป็นหนทางหมดจดวิเศษ
หนทางหมดจดวิเศษคืออะไร ?
เป็นหนทางตั้งต้น จนถึงพระอรหัต ที่จะไปสู่มรรคผลนิพพาน
จะไปถึงได้อย่างไร ?
ต้องทำใจ “หยุด” คือ หยุดที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ หยุดเข้ากลางของหยุด กลางของกลาง จนถึงพระอรหัต
“หยุดคำเดียวเท่านี้แหละ ตั้งแต่ต้นจนพระอรหัตทีเดียว ถ้าหยุดไม่ได้ ก็ไม่ถูกทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ ถ้าหยุดได้ ก็ถูกทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ หยุดนิ่งนี่แหละ เป็นหนทางหมดจดวิเศษละ”
พระองค์ทรงรับสั่งทางมรรคผลว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ฯ
ขนฺตี คือ ความอดทน
ตีติกฺขา คือ ความอดใจ
หมายถึง อดจนกระทั่งหยุด พอใจหยุดจึงอด อดแล้วจึงหยุด
หยุดนั่นแหละ เป็นสำคัญ ยืนยันด้วยตำราว่า
นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ สุขอื่นนอกจากหยุดจากนิ่งไม่มี
พระบาลีกล่าวต่อไปว่า
อปฺปกา เต ฯ
บรรดามนุษย์ทั้งหลาย เหล่าใดมีปรกติไปสู่ฝั่ง คือนิพพาน ชนทั้งหลายเหล่านั้นน้อยนัก ส่วนชนนอกนี้เลาะอยู่ชายฝั่ง คือ โลก วัฏฏสงสาร
เย จ โข สมฺมทกฺขา เต ฯ
ชนเหล่าใดประพฤติธรรมที่พระตถาคตกล่าวดีแล้ว ย่อมถึงซึ่งฝั่ง คือนิพพานได้ เป็นที่ตั้งล่วงเสียซึ่งวัฏฏะ เป็นที่ตั้งแห่งมัจจุ อันบุคคลข้ามได้ยากยิ่งนัก
กณฺหํ ธมฺมํ วิปฺปหาย ฯ
บัณฑิตละธรรมอันดำเสียแล้ว ยังธรรมขาวให้เจริญขึ้น อาศัยนิพพานไม่มีอาลัย จากอาลัย ยินดีในนิพพานอันสงัด พึงละกามทั้งหลายเสีย ไม่มีกังวลแล้ว พึงปรารถนายินดีในนิพพานนั้น
ปริโยทเปยฺย อตฺตานํ ฯ
บัณฑิตควรชำระตนให้ผ่องแผ้วจากเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตทั้งหลาย จิตอันบัณฑิตทั้งหลายเหล่าใดอบรมดีแล้ว ในองค์เป็นเหตุแห่งตรัสรู้ บัณฑิตทั้งหลายเหล่าใด ไม่ถือมั่นยินดีแล้วในอันสละความยึดถือ บัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้ไม่มีอาสวะ มีความโพลงดับสนิทในโลกด้วยประการดังนี้
ในทางปริยัติขยายความว่า เมื่อบุคคลเห็นตามปัญญาว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัว เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ เป็นหนทางหมดจดวิเศษ
ชนเหล่านั้นจึงประพฤติธรรมที่พระตถาคตเจ้ากล่าวดีแล้ว ย่อมถึงพระนิพพาน ชนนอกนี้ไปในกิเลสวัฏฐ์ กรรมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสาร
“พระนิพพานไม่ใช่ของพอดีพอร้าย ไม่ใช่ของง่าย เพราะฉะนั้นทางไปนิพพานก็เป็นของไม่ใช่ง่าย เป็นของยากนัก ธรรมอันนี้ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงชี้ว่าทางอันหมดจดวิเศษ เมื่อเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัว ของสังขารทั้งหลาย"
สังขารทั้งหลายอาศัยธาตุธรรม
ธาตุธรรมผลิตขึ้นเป็นสังขารเหมือนแผ่นดินเป็นที่ตั้งของติณชาติ พฤกษชาติ
เมื่อมีแผ่นดินเป็นที่ตั้ง ติณชาติ พฤกษชาติ ก็ย่อมปรากฏขึ้นฉันใดก็ดี ธาตุธรรมที่มีขึ้นแล้วปรากฏขึ้น ก็ย่อมมีการปรากฏขึ้น เป็นขึ้นของสังขาร ถ้าว่าธาตุธรรมไม่มีแล้ว สังขารก็ไม่มีเหมือนกัน สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นของดับได้ เคลื่อนไปได้ ส่วนธาตุธรรมนั้นไม่แปรตามใคร
ธาตุธรรมแยกออกเป็น
๑. สราคธาตุสราคธรรม
๑.๑) ธาตุธรรมที่ยังเกลือกกลั้วอยู่ด้วย ราคะ โทสะ โมหะ
๑.๒) อสังขตธาตุ อสังขตธรรม ธาตุธรรมที่กระเทาะจาก ราคะ โทสะ โมหะ ได้บ้าง แต่ยังไม่สิ้นเชื้อ
๒. วิราคธาตุวิราคธรรม
คือ ธาตุธรรมที่ปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ แล้ว
ธาตุธรรมทั้งหมดที่เราอาศัยอยู่นี้ เป็นสราคธาตุสราคธรรม
“เมื่ออาศัยสราคธาตุสราคธรรมอยู่เช่นนี้ เราจะต้องเข้าไปถึงวิราคธาตุวิราคธรรมให้ได้ ถ้าเข้าไปถึงวิราคธาตุวิราคธรรมไม่ได้ ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่นี่ ไม่มีจบมีสิ้น เหตุนี้ต้องตั้งใจให้แน่แน่ว ต้องทำใจให้หยุด ตั้งใจให้หยุด มุ่งที่จะไปพระนิพพานทีเดียว เพราะน้อยตัวนักที่ตั้งใจจะไปสู่ฝั่งพระนิพพาน มากตัวนักที่มุ่งจะไปสู่โลกในสราคธาตุสราคธรรม
ผู้ที่จะไปสู่วิราคธาตุวิราคธรรม ต้องประกอบตามธรรมที่พระตถาคตกล่าวดีแล้ว
ธรรมที่พระตถาคตกล่าวดีแล้ว คืออะไร ?
“ธรรมที่พระตถาคตเจ้ากล่าวดีแล้วนั่นน่ะไม่ใช่ทางอื่น ทางมรรคผลนี่เอง การทำใจให้หยุดนั่นแหละเป็นตัวมรรคที่เดียว พอใจหยุดก็เป็นตัวมรรค ก็จะมีผลต่อไป เมื่อใจหยุดเป็นตัวมรรคแน่นอนแล้ว มรรคผลเกิดเป็นลำดับไป พอใจหยุดก็ได้ชื่อว่า เริ่มต้นโลกียมรรค มรรคผลนี่แหละ เป็นธรรมที่พระตถาคตเจ้าตรัสดีแล้ว ต้องเอาใจหยุด ถ้าใจไม่หยุด เข้าทางมรรคไม่ได้ เมื่อไปทางมรรคไม่ได้ ผลก็ไม่ได้เหมือนกัน”
หลวงพ่อวัดปากน้ำเล่าเรื่องบวชสามเณร
เมื่อวานนี้บวชสามเณรองค์หนึ่ง พอใจหยุดถูกส่วนเข้าเท่านั้น ไปตลอดทีเดียว ทางมรรคผลทำใจให้หยุด เอาผมมาปอยหนึ่งที่โกนแต่เมื่อบวชนั้น ให้น้อมเข้าจมูกขวา ตัวอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ กลางตัวเจ้านาค เห็นผมก็จำได้ว่า โคนไปทางตะวันออก ปลายไปทางตะวันตก ผมมีคู้กลาง ถามว่าล้มไปทางซ้ายหรือขวา เจ้านาคว่าไม่ล้ม โคนตั้งขึ้นมาด้วย เอาใจหยุดที่โค้งประเดี๋ยวผมแปรสีถูกส่วนเป็นดวงใสเท่าหัวแม่มือ ใจหยุดนิ่ง กลางของกลาง เข้าถึงดวงปฐมมรรค ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด นั่งเหมือนกายมนุษย์ ถูกส่วนเข้าถึงกายต่าง ๆ จนถึงกายธรรมพระอรหัตละเอียด
“นี่วานนี้ได้สอนเจ้านาคให้ถึงนี้ พอบวชเณรเสร็จแล้วไปตามญาติ ไปนิพพานก็ได้ ไปโลกันต์ก็ได้ พวกพ้องไปตายอยู่ที่ไหน ไปตามเอารับส่วนบุญเสียด้วย ตากับยายทั้งสองคนไปตามมา และเห็นฝ่ายพระบวชใหม่ก็เห็นด้วย นี่ทางพุทธศาสนาความจริงเป็นอย่างนี้" นี่แหละ เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา หนทางหมดจดวิเศษ
หมดจดวิเศษ กว้างขวางนัก ได้แก่ ทางปฐมมรรค มรรคจิต มรรคปัญญา โคตรภู โสดา สกทาคา อนาคา อรหัต ทางมรรค ทางผล ทางศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ทางอื่นไม่มี
“ที่จะเข้าไปทางนี้เพราะเห็นสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ตัว ก็ตกอกตกใจหาหนทางไป ทางนี้ถูกมรรคผลนิพพานทีเดียว”
“เพราะฉะนั้นต้องฟังจริง ๆ ตั้งใจจริง ๆ ไม่ใช่ของพอดีพอร้าย ไม่ใช่เป็นง่าย เป็นของยากนัก ผู้แสดงก็ตั้งอกตั้งใจแสดง ถ้าผู้ฟังไม่ตั้งใจฟัง ก็ขี้เกียจ เดี๋ยวก็เลิกเสียเท่านั้น เข้าขันกับพานมันก็รับกันเท่านั้น นี่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ผู้แสดงก็ได้ ผู้รับก็ได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ้าว่าพูดเสีย ผู้แสดงก็สะดุดใจเสีย ก็หยุดเสีย ไม่แสดง ก็เสียทั้งสองฝ่าย เป็นฝ่ายดำไป ไม่ใช่ฝ่ายขาว”
อ้างอิงจาก หนังสือสาระสำคัญ พระธรรมเทศนา พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หน้า ๕๓ - ๕๕
โฆษณา