28 มิ.ย. 2020 เวลา 07:50 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ย้อนรอยเหตุการณ์ Falcon 9 ลงจอดพลาด ตกในทะเลแทนฐานลงจอดบนฝั่งเป็นครั้งแรก
แน่นอนว่าความสำเร็จของ Falcon 9 ที่เห็นในปัจจุบันไม่ได้มีเบื้องหลังที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ ย้อนกลับไปในเช้ามืดวันที่ 6 พฤศจิกายน จรวด Falcon 9 ก็ได้ทำภารกิจในการส่งยาน Dragon CRS-16 โดยในครั้งนี้เป็นการส่งยาน Dragon ที่ผ่านการใช้งานแล้ว ขึ้นไปเทียบบนสถานีอวกาศนานาชาติเหมือนเช่นเคย การปล่อยมีขึ้นที่แหลมเคอเนเวอรัล สถานที่ปล่อยประจำของ SpaceX ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า ในภารกิจ CRS หรือการส่งยาน Dragon นั้นจรวด Falcon 9 จะกลับมาลงจอดยัง Landing Zone 1 ไม่ห่างจากฐานปล่อย แต่ในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ Falcon 9 พลาดการลงจอดบน Landing Zone แต่ตกลงในทะเลแทน
Falcon 9 ลงจอดในทะเล ที่มา - spaceth.co
การลงจอดบนแผ่นดินหรือ RTLS – Return to Launch Site ประสบความสำเร็จครั้งแรกในเดือนธันวาคมปี 2015 ในภารกิจ Orbcomm OG2 ซึ่งในตอนนั้นจรวดรุ่น Falcon 9 เพิ่งผ่านช่วงเลวร้ายคือการระเบิดของ CRS-7 ไป และกลับมาบินอีกครั้งด้วยการลงจอดสำเร็จเป็นครั้งแรก หลังจากนั้น SpaceX ก็ได้พยายามลงจอดจรวดเรื่อยมา และประสบความสำเร็จในการลงจอดบน DroneShip ในเดือนเมษายน 2016
Falcon 9 นั้นมีพลาดบ้างเรื่อย ๆ โดยปัญหาก็จะมีเป็นกรณีไปเช่น เชื้อเพลิงหมด, คลื่นลมแรง, ขาตั้งหัก แต่ปัญหาทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นกับการลงจอดบน DroneShip ยังไม่มีกรณีความผิดพลาดที่เกิดขึ้นบนแผ่นดิน
ในครั้งนั้นจรวด Falcon 9 เป็นจรวดลำใหม่แกะกล่องที่ยังไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน ในขณะที่มันแยกตัวกับ Second Stage มันก็ได้ทำ BoostBack Burn เพื่อปรับทิศทางการตกให้กลับลงมาที่ชายฝั่งแหลมเคอเนเวอรัลดังเช่นปกติ แต่หลังจากที่มันได้ทำ Entry Burn หรือการจุดจรวดเพื่อกลับเข้าชั้นบรรยากาศ มันก็ได้เริ่มหมุนมั่วอย่างไร้การควบคุม Elon Musk ได้ทวีต บอกว่าเกิดปัญหากับระบบไฮดรอลิก ที่ใช้ควบคุมการทำงานของ Grid Fins อุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมทิศทางการตกและ Aerodynamic ของจรวด Falcon 9 ทำให้ Grid Fins ใช้งานไม่ได้
แม้ว่ามันจะหมุนมั่วและร่อนไปไม่ถึงจุดที่ควรจะเป็น Landing Zone 1 แต่ระบบการทำงานอื่น ๆ ก็ยังคงทำงานได้ปกติ เมื่อมันใกล้ถึงพื้นขาตั้งถูกกางออกและมีการจุดจรวดเพื่อทำ Landing Burn ก่อนลงจอดห่างออกไปจากชายฝั่ง มันลงจอดในแนวตั้งตรงและค่อย ๆ ล้มกระแทกพื้นทะเล ไม่มีการระเบิดเกิดขึ้น และสัญญาณจาก Falcon 9 ยังคงส่งมายังสถานีรับ ก่อนที่ SpaceX จะส่งเรือออกไปลากกลับมา
การทำงานของ Grid Fins นั้นหลักการคือการปล่อยให้อากาศไหลผ่าน และ Gliding (ร่อน) ตัว Falcon 9 ไปยังจุดลงจอด เทคนิคนี้ถูกใช้มาตั้งแต่การลงจอดครั้งแรกของมัน และ SpaceX ก็เพิ่งอัพเกรด Grid Fins ของ Falcon 9 ให้มาเป็นวัสดุไทเทเนียม จากเดิมที่เป็นอลูมิเนียมทำให้มันแข็งแรงขึ้น และไม่ถูกความร้อนขณะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศทำให้เสียหายไปก่อนทำหน้าที่
ระบบการลงจอดของ Falcon 9 นอกจาก Grid Fins แล้วยังมี Cold Gas Thruster ที่ใช้แก๊สไนโตรเจนอัดในการควบคุมองศาการเอียงของจรวด เราจะสังเกตเห็นกลุ่มแก๊สสีขาว ๆ พุ่งออกมาเพื่อสร้างแรงปฏิกริยา (Reaction) ให้ Falcon 9 เอียงซ้ายขวาได้ตามที่มันควรจะเป็น ซึ่ง Cold Gas Thruster กับ Grid Fins จะต้องทำงานร่วมกันไม่เช่นนั้นมันจะเกิดความผิดพลาดดังเช่นในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดครั้งนี้ไม่ได้กระทบต่อ SpaceX แต่อย่างใด เนื่องจากภารกิจ CRS-16 นั้นก็ลุล่วงไปได้ด้วยดี และการที่ SpaceX ลงจอดพลาดนั้นก็จะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์หาสาเหตุและนำมาปรับปรุง Falcon 9 ให้ทำงานได้อย่างดีขึ้นในอนาคต ปกติแล้วในการลงจอดของ Falcon 9 ทุกครั้งจะมีการเก็บข้อมูลที่ละเอียดมาก ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ และกรณีเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะ Falcon 9 ก็ได้ตกลงในทะเลและไม่ได้สร้างความเสียหายบนชายฝั่งแต่อย่างใด
โฆษณา