29 มิ.ย. 2020 เวลา 08:15 • สุขภาพ
ปัญหาใหม่:หายป่วยจากโควิด-19แล้ว
แต่ไม่มีภูมิต้านทาน
ยุ่งจริงครับ อาจมีผลไปถึงวัคซีน และการติดเชื้อซ้ำ
1
ในขณะที่ทุกคนเชื่อกันว่า คนติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด19 เมื่อหายแล้ว จะไม่เป็นโรคนี้อีก เนื่องจากมีภูมิต้านทานป้องกันการติดเชื้อได้ และสามารถไปบริจาคพลาสม่าเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยรายอื่นๆต่อไปได้ ตลอดจนทำให้เราเกิดความหวังว่า เมื่อมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคแล้ว โลกเราทุกอย่างก็จะกลับไปเหมือนเดิม เหมือนกับตอนก่อนที่จะมีการระบาดของโรคโควิด19 นั้น อาจไม่จริงทั้งหมด เพราะมีข้อมูลใหม่เกิดขึ้นอีกแล้ว
1
จากที่เราทราบกันดีว่า ไวรัส SARS -CoV2 ที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 นั้น เป็นไวรัสใหม่ในลำดับที่ 7 กลุ่มโคโรนา
ไวรัสโคโรนานี้ ในลำดับที่ 1-4 ทำให้เกิดโรคหวัดธรรมดา อาการไม่รุนแรง ไม่ลงปอด จึงพบว่าภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นหลังจากหายป่วยแล้วมีระดับที่ไม่สูงมากนัก และอยู่ไม่นาน สุดท้ายภูมิต้านทานนี้ก็จะหายไปหรือลดลงอย่างมาก ทำให้ผู้ป่วยที่หายแล้วกลับมาติดเชื้อไวรัสและป่วยซ้ำอีกได้
ส่วนไวรัสลำดับที่ 5 ที่ก่อให้เกิดโรค SARS และลำดับที่ 6 ที่ก่อให้เกิดโรค MERS นั้นจะมีอาการรุนแรงมากกว่า และเกิดการอักเสบติดเชื้อที่ปอดด้วย จึงมีภูมิต้านทานในผู้ป่วยที่หายแล้วในระดับที่สูง และอยู่ในร่างกายได้นานหลายปี สามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้
นั่นหมายความว่าไวรัสกลุ่มโคโรนานี้ ถ้าเป็นชนิดที่ก่อให้เกิดอาการมากหรือมีอาการรุนแรง ก็จะมีระดับภูมิต้านทานที่สูงและอยู่ได้นาน ป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้
แต่ถ้าเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคที่มีอาการน้อย ก็จะพบว่ามีระดับภูมิต้านทานต่ำและอยู่ไม่นาน มีโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำได้อีก
1
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
แล้วไวรัสก่อโรคโควิด19 (โคโรนาลำดับที่ 7) จะมีลักษณะอย่างไร จากการศึกษาวิจัยเบื้องต้นของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ พบข้อมูลเบื้องต้นดังนี้
จากการตรวจผู้ป่วยโควิด19 ที่หายป่วยแล้วจำนวนประมาณ 300 คน เมื่อคัดกรองประวัติและโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งเกณฑ์อายุ ทำให้เหลือผู้บริจาคพลาสม่า (ส่วนน้ำเหลืองที่มีภูมิต้านทาน) ประมาณ 70-80 คน ซึ่งได้มาบริจาคทุก 2 สัปดาห์ (ถ้าบริจาคเลือดที่มีเม็ดเลือดแดงด้วยจะบริจาคได้ทุก 3 เดือน) ได้จำนวน
พลาสม่าประมาณ 200 ถุง
ในพลาสม่าดังกล่าว พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
1) ส่วนหนึ่งพบระดับภูมิต้านทานสูง ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอในการนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโควิด19 ในอนาคตได้ โดยพบในผู้บริจาคที่มีอาการป่วยรุนแรง มีอาการอักเสบของปอดร่วมด้วย
2) อีกส่วนหนึ่งพบระดับภูมิต้านทานที่น้อยลงมา ในผู้บริจาคที่มีอาการป่วยเล็กน้อยถึงปานกลาง
3) และพบอีกส่วนว่า ไม่พบภูมิต้านทานเลย ในผู้บริจาคที่มีอาการเล็กน้อย ในกลุ่มนี้มีจำนวนประมาณร้อยละ 10 กลุ่มนี้แหละครับที่จะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไป
ผลที่ได้จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ยังคงต้องมีการศึกษาติดตามระดับภูมิต้านทานในผู้บริจาคเหล่านี้ต่อไปอีกเป็นระยะ อาจเป็น 3,6,9,12 เดือน เพื่อดูระดับภูมิต้านทานว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปอย่างไร
4
การวิจัยทำนองนี้ก็เกิดขึ้นที่ CDC ของสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน และองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการผลิตวัคซีน ว่าวัคซีนที่ฉีดให้คนปกติเพื่อให้เกิดภูมิต้านทานขึ้นนั้น ควรจะใช้ขนาดวัคซีนเท่าใด เพื่อหวังจะให้มีระดับภูมิต้านทานสูงเท่าใด และจะต้องฉีดวัคซีนในครั้งแรกกี่เข็ม รวมทั้งต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกหรือไม่ และต้องฉีดกระตุ้นบ่อยแค่ไหน เช่น ปีละ 2 ครั้ง หรือปีละครั้ง
และสุดท้ายเราจะเกิดมีความรู้ความเข้าใจโรคและไวรัสนี้เพิ่มมากขึ้น ทำให้พอจะบอกได้ว่า โรคนี้จะมีการติดเชื้อซ้ำหลังจากหายแล้วหรือไม่ พลาสม่าที่มีภูมิต้านทานนั้นจะต้องมีระดับสูงแค่ไหนจึงจะใช้รักษาผู้ป่วยได้ และวัคซีนจะสามารถป้องกันโรคนี้ได้นานเพียงใด และต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นหรือไม่
เป็นเรื่องที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง และสมควรให้กำลังใจ ตลอดจนช่วยกันสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยได้ทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อนำความรู้ที่ได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อทุกคนต่อไปครับ
โฆษณา