29 มิ.ย. 2020 เวลา 10:42 • ประวัติศาสตร์
ภาพและข่าว การรื้อ ทุบ ทำลายอาคารไม้สักทรงไทยในจังหวัดแพร่ ได้รับการเพ่งเล็ง ต่อว่า ตำหนิ จากสังคมในโซเชียลมีเดียแบบดุเดือด ร้อนฉ่า ถล่มทลายอย่างต่อเนื่อง
ข่าวดี คือ คนไทยตื่นตัว เห็นคุณค่า หวงแหนมรดกทางวัฒนธรรม ช่วยกันสอดส่อง เรียกร้องให้หาคนรับผิดชอบ ข่าวร้าย คือ อาคารหลังนี้ถูกรื้อถอนไปแบบไม่เหลือซาก....
งบประมาณทั้งหมดที่ใช้รื้อถอนหลายล้านบาท และจะประกอบขึ้นมาใหม่ด้วยเงินงบประมาณอีกเช่นกัน... ล้วนเป็นภาษีที่มาจากประชาชนทั้งนั้น...จำเอาไว้
เรื่อง "ป่าไม้" ในเมืองไทย ก็เปรียบได้กับ "บุญเก่า" ที่บำเพ็ญกันมาที่ล้นเหลือ... หากแต่บุญ "กำลังหมดอายุ" แทบไม่เหลือ ทุกวันนี้ ยังลักลอบสวาปามตัดโค่นกันแบบจับมือใครดมไม่ได้ พบแต่ไม้ของกลางที่สามารถเสกกลายเป็นเงิน เป็นทองได้อีก
แผ่นดินทองของสยาม ที่บรรพบุรุษสร้างเป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นมา แสนจะโชคดี อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่ภาคเหนือของสยาม คือ พื้นที่ (เคย) เขียวขจีสุดหล้าฟ้าเขียว
ไม้มีค่าทั้งหลาย โดยเฉพาะไม้สักขนาดมหึมาอายุหลายร้อยปีหนาแน่นทุกขุนเขา เขียวขจี เย็นชุ่มชื้น สร้างสมดุลทางธรรมชาติ ทำให้เกิดฝน มีสัตว์ป่า เป็นต้นน้ำ ลำธาร ลงมาหล่อเลี้ยงคนในภาคกลาง
ราว 50 ปีที่แล้ว ผู้เขียนท่องจำวิชาสังคมศึกษาได้แม่นยำ... สินค้าส่งออกของไทย 3 อันดับแรก คือ ข้าว ไม้สัก และยางพารา
อดีตที่ผ่านมา ป่าไม้ ในพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือ ถูกทำลายย่อยยับ ต้นไม้ใหญ่ที่อายุนับร้อยปีถูกโค่น ทุกฝ่ายล้วนหิวโหยเงินตรา
ความพินาศ ล่มสลาย ของป่าไม้ในภาคเหนือ แบบมือใครยาว สาวได้สาวเอา มันเกิดขึ้นตอนไหน อย่างไร...ลองมาตีแผ่ข้อมูลกัน....
ยุคล่าอาณานิคม อังกฤษเข้ามาปกครองอินเดีย รุกต่อเข้าครอบครองดินแดนพม่า กอบโกยทรัพยากรธรรมชาติทุกอย่างกลับไปประเทศของตน เพราะอังกฤษและประเทศในยุโรปขาดแคลนทรัพยากร
พม่าและสยามตอนบน คือ พื้นที่ของไม้สักที่ดีที่สุดในโลก
พม่าทางตอนเหนือและตะวันออกที่ติดกับชายแดนสยาม มั่งคั่งด้วย แร่ธาตุ อัญมณี โดยเฉพาะ "ไม้สัก" บริษัทของอังกฤษ ร่วมกับชาติอื่นๆ เข้าไปโค่น ขนส่ง ลำเลียงไม้สักและไม้มีค่า
ฝรั่งใช้เครื่องจักร ใช้โขลงช้างทำงานในพื้นที่... ถ้าจะว่าไปแล้ว ชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ ก็ได้รับประโยชน์แบบจุใจ
.....ชาวยุโรปเริ่มเข้ามาติดต่อรัฐบาลสยาม ขอสัมปทานทำไม้สัก
พ.ศ.2425 กับตันแอช เอ็น แอน เดอร์เซน (Captain H.N. Andersen) กัปตันเรือสำเภาของสยามชาวเดนมาร์ก ในสมัยรัชกาลที่ 4 ชื่อเรือ "ทูลกระหม่อม" ได้บรรทุกไม้สักจากไทยไปขายยังเมืองลิเวิอร์พูล (Liverpool) ประเทศอังกฤษเป็นครั้งแรก
ไม้สักที่บรรทุกเรือไปขายได้ราคาดีมาก ทำให้เป็นที่เลื่องลือกันในตลาดยุโรป ไม้สักชั้นดีต้องมาจากสยาม...นั่นคือ จุดเริ่มต้น
พ.ศ.2428 พม่าประกาศ "ปิดป่าสัก" เนื่องจากสภาพป่าสักเสื่อมโทรมลงมากจากการทำไม้ของบริษัทต่างชาติ
ชาวยุโรปเอาจริง..หันมามองป่าสักในสยามแบบ "ตาเป็นมัน"
บริษัททำไม้ของยุโรป เข้ามาตั้งบริษัททำไม้อย่าง "เต็มพิกัด" ความชำนาญ ประสบการณ์ คนงาน การบริหารจัดการ เหลือล้น เพียงแต่ย้ายพื้นที่จากในพม่าเข้ามาสู่ป่าในสยาม
บริษัทบริติช เบอร์เนียว จำกัด มาตั้งที่เชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.2399
พ.ศ.2432 บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง จำกัด (Bombay Burma Trading Corporation,Ltd.) ของอังกฤษ ซึ่งกล้ามใหญ่ใหญ่และมีอิทธิพลมากในพม่าตามติดเข้ามา ขอตั้งออฟฟิศที่เชียงใหม่
พ.ศ.2435 บริษัทสยามฟอเรสต์ จำกัด (Siam Forest Company,Ltd.) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแองโกลสยามและแองโกลไทย จำกัด เข้ามาทำป่าไม้
พ.ศ.2439 บริษัทหลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ (Louis t.Leonowens Ltd.) ซึ่งแยกมาจากบริษัทบริติช บอร์เนียว ขอทำบ้าง
พ.ศ. 2448 บริษัทของชาวเดนมาร์กอีกแห่งหนึ่งคือ บริษัทอีสต์ เอเชียติค เป็นบริษัทที่นำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาค้าขายก็ขอทำไม้
พ.ศ.2452 บริษัทของฝรั่งเศส คือ เอชิอาติก เออาฟริเกน เข้ามา
สยามเอง ก็มีผู้ทำไม้รายย่อย ซึ่งเริ่มเป็นกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นนายทุนได้แก่ บริษัทล่ำซำ บริษัทกิมเซ่งหลี จำกัด ก่อตั้งโดย นายอากรเต็งหรือหลวงอุดรภัณฑ์พานิช
นอกจากนี้ ยังมีเจ้านายจากเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเมืองแพร่และเมืองน่าน คนอเมริกัน ฮอลันดาและคนในท้องถิ่น
การทำป่าไม้ในมณฑลพายัพดำเนินการโดยพ่อค้าอังกฤษและชาวพม่าในบังคับอังกฤษ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของ 2 บริษัทป่าไม้อังกฤษใหญ่ๆ คือ บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา และบริษัท บริติช บอร์เนียว
เห็นจำนวนบริษัทผู้ประกอบการแล้ว...ป่าไม้สักไม่น่ารอด
ในยุคสมัยนั้น ยังไม่ได้จัดระบบการปกครองท้องถิ่น ...เจ้าเมือง เจ้าผู้ครองนคร คือ เจ้าของที่ดินและป่าไม้
การรื้อ ทุบ ทำลายอาคารไม้สักทรงไทยในจังหวัดแพร่
ทุกบริษัทที่รับสัมปทานป่า จะแบ่งป่าเป็นผืนๆ ไป การลงทุน เครื่องจักร การจ้างแรงงานเป็นของบริษัทรับทำทั้งหมด เรื่องเงินๆ ทองๆ ไม่เข้าใครออกใคร มีปัญหาขัดแย้งในทางธุรกิจตลอดเวลา ฝรั่งที่ทรงอิทธิพล เป็นมหาอำนาจ อาจจะหาเรื่องยึดบ้านยึดเมืองเป็นอาณานิคมได้เสมอ
มีการฟ้องร้องจำนวนมากและหลายคดีที่ฝ่ายเจ้าของสัมปทานคือเจ้าผู้ครองนครเป็นฝ่ายแพ้ รัฐไทยตระหนักดีว่า นี่ คือภยันตรายที่อาจทำให้เสียบ้าน เสียเมือง
รัฐบาลสยาม ยังตั้งหลักไม่ได้....ไม่มีหน่วยงาน ไม่มีข้าราชการผู้ใดที่มีความรู้พอที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องการทำสัมปทานป่าไม้ ไม่สันทัดการออก พ.ร.บ.ต่างๆ เกี่ยวกับไม้สัก ไม่มีหลักการจัดเก็บภาษี
บริษัทบอมเบย์เบอร์มา นับว่ามีอิทธิพลมากที่สุด ได้เข้ามาสร้างปางไม้ใน บ.เกาะทุ่งม่าน ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน จะตัดไม้จากป่าต่างๆ แล้วใช้ช้างลากไม้ซุงลงแม่น้ำลี้ เพื่อนำมากองไว้ที่ปางไม้
ไม้ซุงที่ตัดนั้นมีจำนวนมากหลายหมื่นต้น แต่ละต้นมาหน้าตัดกว้า
สูงท่วมหัว บริษัทยังได้สร้างทางรถไฟเพื่อใช้ลำเลียงไม้ซุง
ไปยังบ้านหนองปลาสวาย ขนถ่ายไม้ลงในแม่น้ำปิง ไหลล่องไปลงแม่น้ำเจ้าพระยาถึงกรุงเทพฯก่อนจะนำขึ้นเรือกลับสู่ประเทศอังกฤษ
ข้อมูลต่างๆ ในประวัติศาสตร์เหล่านี้ ก็ต้องยอมรับว่า ในเวลานั้นข้าราชการในท้องถิ่น การติดต่อสื่อสาร มาตรการควบคุม ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ "ไร้ระบบ"
แต่ละวัน แต่ละเดือน นานหลายทศวรรษ ...ป่าไม้ ไม้สัก ในสยามถูกโค่นล้ม นำไปขายกันแบบไม่ต้องเกรงใจใครทั้งนั้น...โค่นมาก ได้เงินมาก..
ป่าไม้สัก ทรัพยากรทั้งปวง จึงล้มหายตายจากแผ่นดินสยาม
พ.ศ.2416 มีการออกระเบียบ ควบคุม เรื่องการลักขโมยตัดไม้ การฆาตกรรม การลอบตีตราเถื่อน ใช้ตราซ้ำซ้อน การจะทำสัญญากับชาวต่างประเทศต้องได้รับความยินยอมจากกรุงเทพฯก่อน
ในช่วง พ.ศ.2426 รัฐบาลส่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ไปเป็นข้าหลวงพิเศษแก้ไขปัญหาป่าไม้
จังหวัดแพร่....ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งไม้สัก และป่าไม้นานาพันธุ์ โดยเฉพาะไม้สัก บริษัท East Asiatic & Co.Ltd. ของประเทศเดนมาร์ก บริษัทเอกชนรายแรกที่ได้สัมปทานการทำไม้สักจังหวัดแพร่
อาคารไม้สักที่จังหวัดแพร่ ที่ถูกรื้อทิ้ง ก็เป็นออฟฟิศหลังหนึ่งของบริษัทบอมเบย์ เบอร์มา ที่เข้ามาทำไม้สัก....
เงินที่ต้องจ่ายให้เจ้าผู้ครองนครเรียกว่าค่า "ตอไม้"
พูดกันแบบตรงไป-ตรงมา เจ้าเมือง นายทุน ชาวบ้านในพื้นที่ทุกแห่งที่มีการทำไม้ ล้วนมีกินมีใช้ ทุกคนล้วนได้ประโยชน์ชื่นมื่น
ชาวอังกฤษ คือ ผู้คุมงาน คนงาน ได้แก่ พม่า เงี้ยว มอญ ชาวเขาเผ่าต่างๆ ในและนอกพื้นที่ ต่างเข้ามาทำงาน หาเงินใช้ ขายของ
พ.ศ.2427 รัฐบาลสยามพอจะตั้งหลักได้ จึงมีประกาศเรื่อง ซื้อขายไม้ขอนสักและประกาศเรื่องตัดไม้สัก เพื่อควบคุมเรื่องการทำสัญญาเช่าป่าให้อยู่กับรัฐบาลจากกรุงเทพฯ เท่านั้น
รัฐบาลสยาม...เริ่มออกมาตรการควบคุม ลดอำนาจเจ้าเมือง....
ห้ามเจ้านายเจ้าของป่าออกใบอนุญาตการทำป่าไม้เอง เพราะรายได้จำนวนมากเหล่านี้ตกอยู่กับเจ้านายในหัวเมืองต่างๆ ที่นอนรับทรัพย์แบบ "ไร้ข้อจำกัด"
มีประกาศ ห้ามตัดฟันไม้สักในป่าเขตเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน นอกจากได้รับอนุญาตจากข้าหลวง นอกจากนี้ยังมีประกาศเรื่องการเก็บภาษีไม้ขอนสักให้ถูกต้องใน ห้ามไม่ให้ล่องไม้ในเวลากลางคืน
พ.ศ.2436 รัฐบาลสยามได้ขอย้ายโอน Mr. Castenjold จากกระทรวงการคลังมาสังกัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยสำรวจสถานการณ์ป่าไม้สักทางมณฑลพายัพ เมื่อไปทำงานในพื้นที่ได้ไม่นาน ก็ล้มป่วยและถึงแก่กรรมอย่างกะทันหันที่จังหวัดตาก
ต่อมาสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เจรจาขอยืมตัว มร. สเลด (Mr. H. A. Slade) ข้าราชการอังกฤษที่รับราชการในกรมป่าไม้พม่าให้เข้ามาช่วยราชการในกิจการป่าไม้ของไทย
ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2438 มร.สเลด ขึ้นไปตรวจการทำป่าไม้ในหัวเมืองภาคเหนือ โดยออกเดินทางพร้อมนักเรียนไทยฝึกหัดอีก 5 คน ออกไปสำรวจและนำเสนอรายงานชี้แจงข้อบกพร่องต่างๆ ของการทำป่าไม้ในเวลานั้น และให้ข้อเสนอแนะต่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งก็เป็นไปในแนวทางเดียวกับที่รัฐบาลไทยเคยออกประกาศและพระราชบัญญัติต่างๆ
ข้อเสนอแนะของ มร.สเลด ล้วนเป็นประโยชน์ เป็นหลักการแบบประเทศตะวันตก เช่น ควรทำแผนที่แบ่งป่าไม้สักและไม้อื่นๆ เพื่อทราบความหนาแน่นของไม้และมูลค่าจริงของป่าแต่ละแห่งแล้วจัดวางโครงการทำป่าไม้
ควรสำรวจไม้อื่นที่ไม่ใช่ไม้สักเพื่อใช้ทดแทนไม้สัก เป็นการสงวนพันธุ์ไม้สักไว้ใช้ประโยชน์ในทางที่เหมาะสมต่อไป
ควรให้ "ป่าไม้" อยู่ในความดูแลของรัฐบาลและยกเลิกส่วนแบ่ง "ค่าตอไม้" ซึ่งเจ้านายต่างๆ ได้รับมาแต่เดิม โดยรัฐบาลจ่ายเงินเดือนให้เป็นการทดแทน รวมทั้งควรจัดตั้งหน่วยงานควบคุมป่าไม้ขึ้น
ควรจัดส่งนักเรียนไปศึกษาอบรมที่โรงเรียนการป่าไม้ในต่างประเทศ 2-3 คนทุกปี เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการบริหารกิจการป่าไม้ไทยต่อไป
ควรจัดตั้งด่านภาษีใหม่รวม 6 แห่ง ที่เมืองพิชัย สวรรคโลก ปากน้ำโพ และกรุงเทพฯ ส่วนค่าตอไม้สำหรับไม้ที่ล่องลงแม่น้ำสาละวิน ควรตั้งด่านภาษีที่เมืองมะละเเหม่ง เพื่อควบคุมไม้ที่ล่องไปยังพม่า และควรปรับปรุงวิธีจัดเก็บภาษีให้เป็นไปตามมาตรฐานการป่าไม้
จากรายงานของ มร.สเลด เมื่อ พ.ศ.2439 ประเทศไทยตัดฟันต้นไม้เกินกำลังประมาณ 3 เท่าครึ่งของป่าไม้
ในหลวง ร.5 ทรงเห็นชอบ ว่าถูกต้องสมควรทุกประการ โดยกล่าวถึงอำนาจรัฐบาลซึ่งถือว่าป่าไม้เป็นของหลวงมาแต่เดิมจะใช้สิทธิตามอำนาจนั้น
เจ้าผู้ครองนครผู้เป็นเจ้าของป่า เมื่อเป็นผู้อนุญาตแต่ผู้เดียว กลายเป็นช่องทางผูกขาด โกงภาษี จนไม้หมดป่า
18 กันยายน พ.ศ.2439 รัฐบาลสยามจัดตั้งกรมป่าไม้ขึ้นในวันที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า The Royal Forest Department สังกัดกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากในเวลานั้น กระทรวงเกษตราธิการ เพิ่งจะตั้งขึ้นใหม่ ยังไม่พร้อม และชื่อภาษาอังกฤษระบุว่าป่าไม้ เป็นของหลวง
โปรดเกล้าฯ ให้ มร.สเลด เป็นเจ้ากรมป่าไม้คนแรก จัดการป่าไม้ในสยามต้อง "รวมศูนย์" ทำให้เกิดความไม่พอใจจากเจ้านายหัวเมือง
ในตอนต้น ระหว่างที่ มร.สเลด เป็นเจ้ากรมป่าไม้นั้น หนังสือราชการได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ก็เพราะข้าราชการกรมป่าไม้ขณะนั้น มี 25 คน เป็นฝรั่งที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ เสีย 16 คน มีคนไทยอยู่เพียง 9 คน (พ.ศ.2444) ข้าราชการฝรั่งเหล่านี้ก็มักจะเป็นชาวอังกฤษซึ่งมาจากพม่าเป็นส่วนใหญ่ ที่มาจากลังกาหนึ่งคน
พ.ศ.2458 ได้มีการตั้งโรงเรียนที่จะสอนวิชาการป่าไม้ขึ้นเป็นครั้งแรกในสยาม โดยตั้งขึ้นในแผนกยันตรศึกษา โรงเรียนข้าราชการพลเรือน (ปัจจุบันคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ที่วังใหม่ สระปทุม ทำการสอนวิชาป่าไม้เบื้องต้น มีหลักสูตร 2 ปี แต่ตั้งมาได้เพียง 3 ปี ก็ต้องเลิกกิจการ เนื่องจากขาดผู้ที่มาสมัครเรียนด้วยเห็นว่า งานป่าไม้เป็นงานลำบาก
ข้อมูลบางส่วนที่ทำให้เข้าใจได้ว่า ทำไม ใครๆ ก็อยากโค่นไม้สัก...
พ่อไท สมราช อายุ 83 ปี อดีตเจ้าของช้างปู้บุญส่ง ซึ่งเคยชักลากไม้อยู่ในพื้นที่ป่าแม่หาด เล่าว่า ตนเองได้ซื้อช้างมาจากลุงโม้ ชาวบ้านอำเภอแม่ทาในราคา 65,000 บาท เมื่อปี พ.ศ.2498 เพื่อใช้ลากไม้ตนเอง
ต่อมา....นำช้างออกตระเวนรับจ้างลากไม้ ในเขตป่าแม่ป๊อก ป่าแม่ตื่น ซึ่งได้รับสัมปทานป่าของโรงเลื่อย ทำงานลากไม้อยู่ 5 ปี ก่อนที่จะตระเวนออกไปรับจ้างลากไม้ถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน
.....พ่อไท เล่าอีกว่า...ไปลากไม้ที่ จ.แม่ฮ่องสอน จะไปกันเป็นคาราวาน มีช้างประมาณ 20 เชือก เดินทางไปตามป่าเขาจนถึงแม่ฮ่องสอน แล้วจึงรับจ้างลากไม้ ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เมื่อสัมปทานไม้ที่แม่ฮ่องสอนหมดลงจึงพากับเดินทางกลับ สมัยที่ทำงานลากไม้อยู่นั้นได้เงินค่าจ้างคนละ 40,000 บาท.....
ที่เรียบเรียง บอกเล่ากันมา...บริษัทฝรั่งมังค่า ทั้งหลายเค้าก็ทำธุรกิจโค่นป่าไม้สักในภาคเหนือ...เพราะเค้าจ่าย "ค่าตอไม้" และช่วงต่อมา เมื่อ "รวมศูนย์" การตัดสินมาไว้ที่รัฐบาลที่กรุงเทพฯ บริษัทต่างๆ ก็ยังคงทำธุรกิจตัดโค่นต่อไป
รัฐบาลต้องการเงินตราเข้าประเทศ จึงอนุญาตให้สัมปทาน ให้ส่งไม้สักออกไปขาย ทำเงินมหาศาลนานหลายทศวรรษ...จนกลายเป็นเรื่องที่เราท่องจำกันมาในอดีตด้วยความภาคภูมิใจ...เราต้องการขาย ต้องการเงิน
เงินจำนวนนี้ในยุคสมัยโน้น...ในป่าเขาลำเนาไพร ใครก็ไม่เห็น เจ้าป่า เจ้าเขา เทพารักษ์ที่รักษาต้นไม้ ก็คงสู้ไม่ไหว.. อะไรก็หยุดไม่อยู่
ขอให้ท่านดูแล ปกป้องป่าไม้ให้ลูกหลานไทยได้รู้จักป่าบ้างนะครับ...
ข้อมูลบางส่วนจาก...สยามเทศะ โดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ jakrapong@chiangmainews.co.th และ หนังสือ 100 ปี วิชาการป่าไม้ไทย สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้
โฆษณา