30 มิ.ย. 2020 เวลา 14:24 • การศึกษา
สัญญากู้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้เป็นงวด ๆ หากผู้กู้ชำระหนี้บ้าง ไม่ชำระบ้าง และผู้ให้กู้ก็รับไว้โดยไม่ได้ทักท้วง จะถือว่าผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้เมื่อใด ?
การผิดนัดชำระหนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย เนื่องจากเป็นเรื่องจำเป็นที่เจ้าหนี้จะต้องรับรู้ว่าลูกหนี้ของตนผิดนัดตั้งแต่เมื่อใด
นั่นเป็นเพราะสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมาย เช่น สิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด หรือสิทธิบอกเลิกสัญญาในบางกรณีนั้น จะเกิดขึ้นต่อเมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้นั่นเอง
1
แล้วตอนไหนที่กฎหมายถือว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ล่ะ?
โดยทั่วไป คู่สัญญามักจะกำหนดระยะเวลาให้ลูกหนี้ชำระหนี้เอาไว้อยู่แล้ว
เช่น สัญญากู้ยืมเงิน กำหนดให้ผู้กู้ต้องชำระเงินคืน เป็นงวด ๆ ภายในวันที่ 5 ของทุกเดือนเป็นเวลา 12 งวด หรือ
สัญญาซื้อขาย กำหนดให้ผู้ซื้อจะต้องชำระค่าสินค้าภายใน 60 วันนับแต่วันส่งมอบสินค้า เป็นต้น
กรณีนี้ถือว่าเจ้าหนี้ลูกนี้ “ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน” หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด กฎหมายถือว่าลูกหนี้เป็นฝ่ายผิดนัดชำระหนี้ทันที โดยที่เจ้าหนี้ไม่จำเป็นต้องเตือนก่อน
สำหรับกรณีที่เจ้าหนี้ลูกหนี้ ไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้เอาไว้ตามวันปฏิทิน พูดง่าย ๆ ก็คือ กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ แต่ไม่ได้ถือเอาวันตามปฏิทินเป็นกำหนดเวลาชำระหนี้
เช่น เจ้าหนี้ให้ลูกหนี้กู้ยืมเงิน มีกำหนดคืนเงินเมื่อลูกชายของลูกหนี้เรียนจบปริญญาตรี
กรณีนี้ เมื่อลูกชายของลูกหนี้เรียนจบแล้ว เจ้าหนี้ต้องทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน โดยกำหนดเวลาให้ชำระหนี้ตามความเหมาะสม หากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้จึงจะถือว่าลูกหนี้ผิดนัด
นี่คือหลักกฎหมาย และตัวอย่างคร่าว ๆ เกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้
.
.
มีคดีอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งน่าสนใจ
เจ้าหนี้ให้ลูกหนี้ยืมเงิน โดยในสัญญากู้ยืมข้อ 3 ระบุว่า.. ตกลงผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 8,500 บาท ยกเว้นเดือนสุดท้าย มีกำหนดชำระ 180 งวด เริ่มผ่อนชำระตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 เป็นต้นไป และชำระให้แล้วเสร็จวันที่ 31 ตุลาคม 2568 และ
1
สัญญาข้อ 4 ระบุว่า ถ้าผู้กู้ผิดนัดชำระเงินต้น และ/หรือดอกเบี้ยงวดหนึ่งงวดใด ผู้กู้ยอมถือว่าผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด ยินยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้..
ปรากฏว่าตั้งแต่ทำสัญญา ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตลอดมา จนกระทั่งงวดเดือนกันยายน 2555 และตุลาคม 2555 ลูกหนี้ไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ อันเป็นการผิดสัญญาข้อ 4 ย่อมต้องถือว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้
ต่อมาลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2555 และชำระเรื่อยมา แม้จะชำระไม่ตรงกำหนดตามสัญญาบ้าง หรือไม่ครบบ้าง แต่เจ้าหนี้ก็ยอมรับการชำระหนี้โดยไม่ได้ทักท้วง
ปัญหาก็คือ กรณีเช่นนี้จะถือว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่เมื่อใด (จะถือว่าลูกหนี้ผิดนัดตั้งแต่งวดเดือนกันยายน 2555 หรือเมื่อใดกันแน่)
ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า
แม้ลูกหนี้จะชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดเวลาบ้าง หรือชำระไม่ครบบ้าง แต่เจ้าหนี้ก็ยอมรับชำระไว้โดยไม่ได้ทักท้วง ย่อมแสดงว่าเจ้าหนี้ ไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้ในสัญญาเป็นสาระสำคัญ
ดังนั้น หากเจ้าหนี้มีความประสงค์จะบอกเลิกสัญญา จะต้องบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ให้ชำระหนี้ที่ค้างชำระโดยกำหนดเวลาตามสมควรก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 1279/2562)
.
.
สรุป..
อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่า การผิดนัดชำระหนี้ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด หรือการบอกเลิกสัญญา จึงจำเป็นต้องรู้ว่าลูกหนี้ผิดนัดตั้งแต่เมื่อใดก่อน
เดิมสัญญากู้คดีนี้ เป็นสัญญาที่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันปฏิทิน เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด ต้องถือว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้โดยเจ้าหนี้ไม่ต้องทวงถาม
แต่จุดเปลี่ยนก็คือ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้บางงวด และชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดเวลาบ้าง หรือไม่ครบบ้าง แต่เจ้าหนี้ยังคงรับชำระหนี้ไว้โดยไม่ได้ทักท้วงอะไร
ศาลฎีกาจึงถือว่า เจ้าหนี้ไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้ในสัญญาเป็นสาระสำคัญ
ดังนั้น หากเจ้าหนี้ประสงค์จะบอกเลิกสัญญา จึงต้องทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ (ลูกหนี้ผิดนัด) จึงสามารถบอกเลิกสัญญาได้นั่นเอง
ยังมีช่องทางอื่น ๆ ให้ติดตามกัน 😉
- สำหรับเอาไว้อ่านบทความดีๆ
- สำหรับเอาไว้ดูรูปสวย ๆ กับอินโฟกราฟิก
- สำหรับสายย่อ เอาไว้รับข่าวสารหรือข้อกฎหมายแบบกระชับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา