💦 กรรมสิทธิ์รวมก็มีสิทธิ์ติดคุก..นะจ๊ะ 🤗
บางที่การเป็นเจ้าของรวมกับผู้อื่นหรือที่เรียกว่ากรรมสิทธิ์รวมกัน ก็ทำให้มีความผิดอาญา ได้เหมือนกันนะครับ.. เออนั้นซิ ก็เรามีความเป็นเจ้าของในทรัพย์นั้นอยู่ด้วยนี่หน่า ..ไม่น่าจะต้องมีความผิดอาญาด้วยนะ..แต่ผมจะเหลา ..เอ้ย..จะเล่าให้ฟังกันครับ..ตามมาครับผม 📢
ในความผิดฐานลักทรัพย์ ถ้าเราไม่ดูให้ครบถ้วนกระบวนความแล้ว ก็จะพลั้งเผลอ..หรือเดินตกกระไดขาหักได้หรืออาจถึงตายถ้าเอาหัวลง 555 เราคิดแต่ว่า ลักทรัพย์ คือเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น แต่แท้จริงแล้ว องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 334 " ผู้ใดเอาทรัพย์ผู้อื่น หรือ ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ " ...📚
😏 สังเกตุว่า เมื่อเราดูฐานความผิดแล้ว ความเป็นเจ้าของในทรัพย์จะมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกความเป็นเจ้าของคนเดียว ส่วนที่ 2 เป็นเจ้าของรวมกับผู้อื่น ซึ่งอาจเป็นตัวผู้ลักทรัพย์เองก็ได้..นะครับ นี่แหละครับทำไม่เจ้าของรวมอาจมีความผิดทางอาญา 😢
🌾 แต่มีหลักอยู่ว่า การที่เจ้าของรวมจะมีความผิดฐานลักทรัพย์ ไปจากเจ้าของรวมคนอื่น เงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งคือ เจ้าของรวมผู้ลักทรัพย์ ต้องไม่ได้ครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ขณะที่กระทำการลักทรัพย์ แต่ทรัพย์นั้นอยู่ในความครอบครองของเจ้าของรวมคนอื่น และมีการเอาไปจากเจ้าของรวมคนนั้น ..
👍 มาดูตัวอย่างกันสักหน่อย ปรีชากับน้องบุ๋ม อยู่กินกันฉันสามีภริยา ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ระหว่างอยู่กิน ก็ร่วมลงทุนเอาเงินมาร่วมกันเปิดร้านอินเตอร์เน็ต ที่บ้านน้องบุ๋ม ต่อมาเลิกกันครับ ..วันดีคืนดี ปรีชาก็มาขนเอา คอมพิวเตอร์ จอคอมพิวเตอร์ เครื่องปริ้นเตอร์ ขณะอยู่ในความครอบครองของ น้องบุ๋มไป 🍁
🌺 น้องบุ๋มแจ้งความซิครับ ไม่สนอดีตรักอันแสนหวานแล้ว เพราะปัจจุบันกินยาขมน้ำเต้าทองทุกวัน เป็นคดีความขึ้นสู่ศาล ..ครับศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นคำพิพากษาฎีกาที่ 502/2563 วินิจฉัยไว้ดังนี้..ขอรับ
ภาพจากpixabay
" จำเลยกับผู้เสียหายอยู่กินกันไม่ได้จดทะเบียนสมรส ระหว่างอยู่กินร่วมลงทุนประกอบกิจการเปิดร้านอินเตอร์เน็ตที่บ้านผู้เสียหาย ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ระหว่างอยู่กินย่อมเป็นกรรมสิทธิ์รวมต่างฝ่ายย่อมมีส่วนเท่า ๆ กัน เมื่อเลิกกันต้องแบ่งคนละครึ่ง การที่จำเลยกับพวกมาขนทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์รวมซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหาย ไปเป็นของตนฝ่ายเดียวทั้งหมด..เป็นการเอาทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ .."🍅
🤫 ความคิดของเรากับกฎหมายบางที่ก็เดินไปด้วยกันไม่ได้ครับ แต่ท่านอาจสงสัยว่า แล้วถ้าเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายละ.. ถ้าชอบด้วยกฎหมายคือจดทะเบียนสมรส จะมีประมวลกฎหมายมาตรา 71 วรรคแรก รองรับอยู่ครับ คือ ความผิด ในมาตรา 334 ถึงมาตรา 336 วรรคแรก ถ้าเป็นการกระทำที่สามีกระทำต่อภริยา หรือภริยากระทำต่อสามี ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ...นะครับ 🌻
🤭 แหม่...ผมนี้ชอบมาตรา 71 วรรคแรกจริง ๆ เลยนะครับเนี้ย 😁
บุญรักษาทุก ๆ ท่าน ดูแลสุขภาพด้วยนะครับผม
🌵ฝากกดไลค์,กดแชร์ ,ติดตามกันด้วยนะครับ 🍂
โฆษณา