1 ก.ค. 2020 เวลา 13:12
บันทึกเรื่องราวของ ทหารอาสาชาวโปรตุเกสเพียง 36 คน ปกป้องพระราชวังและสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในค่ำคืนจลาจลก่อนเปลี่ยนแผ่นดิน
ภาพเขียน ทหารอาสาโปรตุเกส
ย้อนไปใน พ.ศ.2054 โปรตุเกสเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา โดยอัลฟองโซ เดอ อัลบูเคอร์ก อุปราชประจำภาคอินเดียตะวันออก
การใช้ทหารอาสาชาวตะวันตกครั้งแรกได้เกิดขึ้นใน พ.ศ.2081 โปรตุเกสได้มีส่วนช่วยเหลืออยุธยาทางด้านอาวุธปืนที่ทันสมัยและการทหารให้กับราชสำนักอยุธยา รวมทั้งส่งทหารอาสาช่วยรบกับพม่าที่ศึกเมืองเชียงกรานในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช เรียกทหารอาสาชาวโปรตุเกสเหล่านี้ว่า "กองอาสาฝรั่งแม่นปืน"
ภาพเขียนทหารฝรั่งแม่นปืน
ความดีความชอบในครั้งศึกเชียงกราน สมเด็จพระไชยราชาธิราชได้มีพระราชานุญาติให้ ชาวโปรตุเกสได้ตั้งภูมิลำเนาในราชอาณาจักรอยุธยา พร้อมพระราชทานที่ดิน รู้จักกันในนาม "หมู่บ้านโปรตุเกส"
พ.ศ.2310 หลังเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ชาวตะวันตกหลายชาติอพยพหนีภัยสงคราม หากแต่ชาวโปรตุเกสร่วมเป็นทหารอาสากอบกู้เอกราชกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครั้นสถาปนากรุงธนบุรีแล้ว พระองค์จึงทรงตอบแทนคุณงามความดีพระราชทานที่ดินให้ตั้งรกรากบริเวณชุมชน "กุฎีจีน"
ภาพเขียน คราเสียกรุงครั้งที่ 2
ในช่วงก่อนสิ้นแผ่นดินกรุงธนบุรี ได้ปรากฏหลักฐานถึงทหารอาสาชาวโปรตุเกสได้ก่อวีรกรรมป้องกันพระราชวังอย่างสุดชีวิต ถวายงานรับใช้สมเด็จพระเจ้าตากสิน อย่างห้าวหาญเมื่อครั้งจลาจลครั้งใหญ่
หลักฐานจากจดหมายเหตุของมองซิเออร์เคดูร์วีแยร์ ระบุว่า
"...ครั้นเวลา ๒ ยาม ข้าราชการกับราษฎรได้ตรงไปล้อมพระราชวังและได้พยายามที่จะเข้าไปในพระราชวังให้จงได้ แต่พวกทหารเข้ารีด ๓๖ คนซึ่งมีหน้าที่รักษาพระราชวัง ได้เอาปืนใหญ่ปืนเล็กและอาวุธต่างๆ ต่อสู้และได้ต้านทานพวกจลาจลไว้จนตลอดสว่าง พวกจลาจลหาได้เข้าไปในพระราชวังได้ไม่..."
"...รุ่งขี้นพระเจ้าตากทรงเห็นว่าจะสู้พวกจลาจลไม่ได้เสียแล้ว จึงได้ทรงขอร้องจะทรงผนวช..."
"...ทรงครองผ้าเหลืองแล้วจึงได้ทรงอนุญาตให้พวกขบถเข้าไปในพระราชวัง..."
จากหลักฐานที่อ้างถึง เหล่าทหารอาสาเข้ารีดนี่ก็คือ ชาวโปรตุเกสนั่นเอง ได้ถวายงานอารักขารอบบริเวณพระราชวังอย่างห้าวหาญเต็มกำลัง ซึ่งมีกำลังเพียง 36 คนเท่านั้น
1
หลักฐานชิ้นนี้ได้แสดงถึงความสามารถของเหล่าทหารอาสาโปรตุเกสได้ชัดเจน ทางด้านอาวุธ และขีดความสามารถในการรบให้เห็นได้เป็นอย่างดี สามารถต้านกองกำลังจลาจล ไว้จนสว่าง แต่เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงคาดการณ์เหตุการณ์ คงจะต้านได้ไม่นานจึงยอมทรงผนวชในที่สุด และเกิดการปราบดาภิเษกในกาลต่อมา
อย่างไรก็ตามหลักฐานทางฝั่งมิชชันนารีได้ระบุถึงปัญหาความเดือดร้อนหลายสิ่งที่กระทบต่อผู้ที่นับถือคริสต์ศาสนา รวมทั้งการบริหารราชการแผ่นดินของกรุงธนบุรีที่ฝืดเคือง ซึ่งกระทบต่อเบี๊ยหวัดยังชีพของเหล่าทหารอาสา แต่สุดท้ายแล้วทหารอาสาโปรตุเกสยังคงถวายงานอย่างสุดกำลังจนกระทั่งสิ้นแผ่นดินกรุงธนบุรี
ปัจจุบันนี้ ชาวชุมชนกุฎีจีนส่วนใหญ่ จึงมีเชื้อสายมาจากชาวโปรตุเกส นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก โดยมีวัดซางตาครูสเป็นศาสนสถาน
3
ภาพเก่า บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้า ชุมชน กุฎีจีน
ส่วนคำว่า "กุฏีจีน" ได้ชื่อมาจากศาลเจ้า"เกียนอันเก๋ง" เนื่องจากชุมชนชาวจีนที่พำนักอาศัยอยู่ก่อนหน้านี้แล้วในสมัยกรุงธนบุรี คำเรียกกุฏีจีนจึงมีที่มาจากอาคารศาสนถานทรงตึกมีศิลปะแบบจีน
ศาลเจ้าเกียนอันเก๋ง: http://www.bangkoktourist.com/index.php/top-attractions/index?top_id=228
ซางตาครูส เป็นภาษาละติน แปลว่า กางเขนศักดิ์สิทธิ์ สถาปัตยกรรมของวัดซางครูสเดิมนั้น เป็นศิลปะแบบผสมระหว่างไทยจีนและตะวันตก ต่อมาใน พ.ศ.2459 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โบสถ์หลังเดิมทรุดโทรมมาก จึงได้สถาปนาพระอารามใหม่โดยบาทหลวงกูลเยลโม คินห์ ดา ครูซ (Gulielmo Kinh Da Cruz) เป็นอาคารใหม่ชั้นเดียวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าศิลปะสไตล์อิตาลีปัจจุบัน
ภาพเก่า วัดซางตาครูส
สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นตระหง่านหันหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ได้แฝงไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ของเหล่าทหารอาสาชาวโปตุเกส ผู้กล้าหาญ ผู้จงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินของสยามมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่อยุธยา ธนบุรี ตราบ รัตนโกสินทร์
ผ่านเรื่องราว กาลเวลา ที่หลายท่านอาจไม่ทราบ.....
วัดซางตาครูส ปัจจุบัน
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
อ้างอิง:
- หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทุมาศ(เจิม)
- จดหมายเหตุของมองซิเออร์เคดูร์วีแยร์
- งานวิจัยเรื่องตามรอยเสด็จ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ศึกษาจากพงศาวดารและสถานที่จริง โดย ร.ศ.วัชรา คลายนาทร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา