5 ก.ค. 2020 เวลา 02:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ
SMEs ไทยกำลัง กลั้นหายใจ
รู้ไหมว่า ธุรกิจ SMEs มีมูลค่าเศรษฐกิจถึง 7 ล้านล้านบาท หรือกว่า 43% ของมูลค่า GDP ประเทศไทยและมีการจ้างงานสูงกว่า 16 ล้านคน
เราเคยนึกไหมว่า ถ้าธุรกิจ SMEs ในประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจของไทยจะเป็นอย่างไร
วันนี้ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับคำว่า ธุรกิจ SMEs กันก่อนว่าคืออะไร
SMEs (Small and Medium Enterprises) คือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีทั้งอุตสาหกรรมการผลิต กิจการค้าส่ง ค้าปลีก กิจการบริการ
ธุรกิจขนาดกลาง คือ ธุรกิจที่มีจำนวนแรงงานระหว่าง 50-200 คน และมีเงินลงทุนระหว่าง 20-200 ล้านบาท
ธุรกิจขนาดเล็ก คือ ธุรกิจที่มีจำนวนแรงงานไม่เกิน 50 คน และมีเงินลงทุนไม่เกิน 20 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ ธุรกิจกว่า 90% ในประเทศไทยนั้นเป็นธุรกิจ SMEs
ในปี 2561 ประเทศไทยมีจำนวน SMEs ทั้งสิ้น 3.1 ล้านราย และมีจำนวนแรงงานใน SMEs ถึง 16.3 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 44% ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งประเทศ
ดังนั้น ธุรกิจ SMEs นับได้ว่าเป็นแหล่งการจ้างงานหลักของประเทศ..
นอกจากนั้น SMEs ยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการเติบโตในช่วงที่ผ่านมา
1
ปี 2557 มูลค่า GDP ธุรกิจ SMEs เท่ากับ 5.3 ล้านล้านบาท
หรือ 39% ของมูลค่า GDP ของไทย
ปี 2561 มูลค่า GDP ธุรกิจ SMEs เท่ากับ 7.0 ล้านล้านบาท
หรือ 43% ของมูลค่า GDP ของไทย
Cr. Talus Pay
แต่หนึ่งในปัญหาสำคัญของธุรกิจ SMEs คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคาร ซึ่งเป็นเสมือนกุญแจสำคัญที่ช่วยทำให้ธุรกิจเติบโต ซึ่งอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน แผนธุรกิจไม่ชัดเจน ระบบการจัดทำบัญชีที่ยังขาดมาตรฐาน
พอเป็นแบบนี้ SMEs จำนวนมากจึงต้องมีการกู้หนี้ยืมสินจากแหล่งอื่นโดยเฉพาะสินเชื่อนอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง
ลำพังแค่หารายได้มาจ่ายคืนดอกเบี้ย และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานก็ถือว่าท้าทายอยู่แล้ว โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวหลายปีมานี้
แต่ตอนนี้ ธุรกิจ SMEs จำนวนมากกำลังเดือดร้อนกว่านั้น..
การระบาดของ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับแรงกระแทกอย่างหนัก เราเห็นหลายธุรกิจต้องปลดคนงาน หรือกรณีร้ายแรงถึงขนาดปิดกิจการ
เรื่องนี้จึงทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งธุรกิจ SMEs ให้สามารถเลื่อนกำหนดการชำระหนี้เพื่อช่วยให้มีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น
Cr. แนวหน้า
รู้ไหมว่า นับตั้งแต่มาตรการดังกล่าวออกมา
จำนวนลูกหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือมีทั้งหมด 16.3 ล้านราย
คิดเป็นยอดหนี้รวม 6.8 ล้านล้านบาท
ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นของธุรกิจ SMEs ถึง 1.1 ล้านราย
และมีจำนวนหนี้รวมกันกว่า 2.2 ล้านล้านบาท
แม้ในแง่ของจำนวนรายนั้นจะน้อย แต่ในแง่ของจำนวนหนี้นั้น เป็นของธุรกิจ SMEs ในสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของยอดหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือ
แล้วหนี้จำนวนมากแค่ไหน?
ด้วยยอดหนี้ของ SMEs ที่ขอรับความช่วยเหลือในครั้งนี้จะมีมูลค่าถึง 13% ของมูลค่า GDP
เราลองนึกภาพว่า ถ้าพ้นกำหนดเวลาพักชำระหนี้แล้วมีลูกหนี้ SMEs ไม่สามารถมาชำระหนี้ได้จะส่งผลอย่างไร
หากลูกหนี้ไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้สัก 10%
ก็จะเกิดหนี้เสียถึง 2.2 แสนล้านบาท หรือ 1.3% ของ GDP
หากลูกหนี้ไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้สัก 30%
ก็จะเกิดหนี้เสียถึง 6.6 แสนล้านบาท หรือ 3.9% ของ GDP
ปัจจุบัน มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบอยู่ที่ประมาณ 4.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2.5 แสนล้านบาท เมื่อ 7 ปีที่แล้ว
ตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกโดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังมีแนวโน้มตกต่ำในเวลานี้
แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ
หลังจากพ้นกำหนดมาตรการพักชำระหนี้จากธนาคารต่างๆ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ธุรกิจ SMEs จะสามารถกลับมาชำระหนี้ได้หรือไม่
ลองนึกภาพว่า
ถ้าวันนี้เราทำธุรกิจขับรถตู้รับ-ส่งผู้โดยสาร โดยที่มีภาระผ่อนรถตู้อยู่
ผู้โดยสารที่ขาดหายไปบางส่วน
เราคิดว่าเมื่อไรจำนวนผู้โดยสารจะกลับมาเหมือนเดิม และจะหาเงินที่ไหนมาผ่อนค่ารถตู้
ถ้าวันนี้เราทำธุรกิจร้านอาหาร โดยที่กู้เงินจากธนาคารมาลงทุน
แล้วถ้าจำนวนลูกค้าเข้ามาในร้านน้อยลงกว่าในอดีต ขณะที่ยังต้องจ่ายค่าเช่าสถานที่ ค่าจ้างพนักงาน เราจะหาเงินที่ไหนเพื่อมาใช้จ่ายคืนหนี้
Cr. สยามรัฐ
ในชีวิตของหลายคนน่าจะเคยผ่านช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ
แต่ดูเหมือนว่าครั้งนี้ จะเป็นอีกครั้งที่หนักหนาสาหัสที่สุดครั้งหนึ่ง
วันที่ธุรกิจ SMEs จำนวนมากกำลังขาดแคลนรายได้ ไม่มีเงินสด
หลายธุรกิจต้องปิดตัวลงเพราะไปไม่ไหว
ภาครัฐออกมาตรการต่างๆ มาช่วยเหลือ แต่คงช่วยประคับประคองได้ในระเวลาหนึ่ง
ตอนนี้ถ้าเปรียบไปก็คงคล้ายๆ เวลาที่เรากำลังกลั้นหายใจในน้ำอยู่
ซึ่งก็คงทำได้เพียงชั่วขณะหนึ่ง
เพราะถ้ามันนานเกินไป
สุดท้าย อาจมีคนที่ทนไม่ไหว จนต้องหมดลมหายใจ..
โฆษณา