3 ก.ค. 2020 เวลา 13:59 • กีฬา
โรจน์ พุทธคุณ : กฎหมายควบคุมเกม-สตรีมเมอร์ ควรออกมาให้วงการเติบโต ไม่ใช่ตาย
"เกมมีกฎหมายที่ควบคุมส่วนนี้ตั้งนานแล้ว ในเรื่องของการจัดเรตติ้ง และความเหมาะสมกับช่วงอายุของผู้เล่น แต่ในกรณีของ อีสปอร์ต มันเป็นคนละเรื่องกับเกม"
"อีสปอร์ต ถือเป็นกีฬาประเภทหนึ่ง มีโครงสร้างอุตสาหกรรมกีฬาที่ได้รับการยอมรับ การทำทีมอีสปอร์ต โดยหลักการก็เปรียบเสมือนการทำสโมสรกีฬาประเภทอื่นๆ"
"ส่วนเรื่องการห้ามสตรีมเกมติดต่อเกิน 2 ชั่วโมงต่อวันนั้น ผมมองว่า เป็นเรื่องที่ไม่ควรถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นด้วยซ้ำ การสตรีมเกม เป็นเรื่องของการทำเพื่อความบันเทิงส่วนบุคคล"
"เพราะการสตรีมเกม มีคนที่ทำเป็นอาชีพ แบบ Full-Time จำนวนชั่วโมงยังแปรผันตามจำนวนเงินค่าตอบแทนอีกด้วย ผมก็อยากตั้งคำถามเช่นเดียวกันว่า มันสมเหตุสมผลหรือไม่ที่จะกำหนดเวลาตามข้อเรียกร้องดังกล่าว"
"โดยหลักการการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ ควรเน้นที่การส่งเสริมเพื่อให้อุตสาหกรรมนั้น เติบโต ไม่ใช่ เป็นการออกกฎหมายเพื่อให้อุตสาหกรรมนั้นตาย"
ส่วนหนึ่งในความเห็นจาก โรจน์ พุทธคุณ ผู้บริหารของ MS Chonburi สโมสรอีสปอร์ตชั้นนำของไทย ที่มีต่อประเด็นใหญ่ที่ผู้คนในสังคม กำลังให้ความสนใจ อย่างเรื่อง "ร่างกฎหมายควบคุมเกม" ที่อาจส่งผลให้มีการแบนเกมแนว FPS (ยิงปืนจากมุมมองบุคคลที่หนึ่ง), เกมที่มีเนื้อหารุนแรง ไปจนถึงการจำกัดเวลาสตรีมเมอร์ ไม่ให้เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน
ในฐานะคนที่คลุกคลีกับวงการกฎหมายและอีสปอร์ต ทำไมเขาจึงไม่เห็นด้วยเนื้อหาบางส่วนในร่างฉบับนี้ และเขาอยากส่งเสียง ฝากอะไรไปถึงผู้เกี่ยวข้อง ให้มีการออกกฎหมายควบคุม เพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมนี้เติบโต
ร่างกฎหมายควบคุมเกม คืออะไร ?
"จริงๆ สำหรับร่างพระราชบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับอีสปอร์ต เป็นเรื่องที่มีการดำเนินการกัน มาตลอดช่วงระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา" โรจน์ พุทธคุณ ซีอีโอของ MS Chonburi กล่าวเริ่ม
"โดยทางคุณ สันติ โหลทอง นายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย และหน่วยงาน รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พยายามช่วยกันร่างขึ้นมานั้น เนื้อหาค่อนข้างประนีประนอม และยึดความเป็นเหตุเป็นผล ความเป็นธรรมต่อคนที่อยู่ในวงการเกม อีสปอร์ต รวมถึงสตรีมเมอร์เป็นสำคัญอยู่แล้ว"
"มีการกำหนดขอบเขตของการควบคุมที่เป็นเหตุเป็นผล เช่น การกำหนด เรตติ้งเกม, อายุของผู้เล่น และผู้เข้าแข่งขันในฐานะกีฬาอีสปอร์ต ที่ต้องมีอายุเกิน 18 ปี ซึ่งผมคิดว่า คนในวงการอีสปอร์ตรับได้ เพราะเข้าใจถึงเหตุผล"
แม้จะมีการพูดคุยหารือเกี่ยวกับ ร่างพระราชบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับอีสปอร์ต มาเป็นระยะกว่า 2 ปีแล้ว แต่จุดที่ทำให้เรื่องนี้ ถูกนำมาขยายเป็นประเด็นของสังคม ที่สั่นสะเทือนวงการเกมไทย เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
เริ่มจากการที่ "พี่แว่น" ชนิกนันท์ ทิพย์ไพโรจน์ ผู้ก่อตั้งทีม MiTH (Made In Thailand) สโมสรอีสปอร์ตชื่อดัง ออกมาเปิดเผยว่า ภาครัฐเตรียมผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้เกิดขึ้น เนื่องจากมี 85 องค์กรสนับสนุน
หากกฎหมายควบคุมเกมผ่าน จะส่งผลกระทบในหลายด้าน เช่น การจัดอีสปอร์ตจะต้องได้รับอนุญาต, เกมแนว FPS, เกมที่มีความรุนแรงจะถูกห้ามจัดแข่งขัน และสตรีมเมอร์ สามารถสตรีมได้วันละไม่เกิน 2 ชั่วโมงเท่านั้น
"ต่อมา มีภาคีเครือข่ายหลายๆ องค์กร ได้เข้ามายื่นหนังสือเรียกร้องกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ โดยบอกว่า ต้องการผลักดันให้มีกฎหมาย ควบคุมเกมคอมพิวเตอร์และเกมออนไลน์ โดยให้มีการจัดเรตติ้ง ควบคุมเวลา กำหนดอายุ เพื่อการป้องกันไม่ให้เด็กเข้าสู่การพนันออนไลน์ที่อยู่ในเกม"
"และยังเรียกร้องอีกหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเกมและอีสปอร์ต เพราะมองว่า เป็นเรื่องไม่เหมาะสม เน้นเจาะจงไปที่เกมที่มีความรุนแรงว่าไม่ควรให้มี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ ส่วนตัวผมอยากให้มองออกแยกกันเป็นส่วนๆ" โรจน์ พุทธคุณ แสดงความเห็น
เกมรุนแรงควรถูกแบนจากอีสปอร์ตไหม ?
"ข้อเรียกร้องที่ให้มีการแบนเกมที่มีความรุนแรง ผมมองว่าต้องแยกก่อน ระหว่างเกม กับอีสปอร์ต ตัวเกมมีกฎหมายที่ควบคุมส่วนนี้ตั้งนานแล้ว ในเรื่องของการจัดเรตติ้ง และความเหมาะสมกับช่วงอายุของผู้เล่น แต่ในกรณีของ อีสปอร์ต มันเป็นคนละเรื่องกับเกม"
"อีสปอร์ต ถือเป็นกีฬาประเภทหนึ่ง มีโครงสร้างอุตสาหกรรมกีฬาที่ได้รับการยอมรับ เช่น ระบบการแข่งขัน, ระบบนิเวศของอุตสาหกรรม"
"การทำทีมอีสปอร์ต โดยหลักการก็เปรียบเสมือนการทำสโมสรกีฬาประเภทอื่นๆ เช่นเดียวกัน จะต้องมีการบริหารจัดการองค์กร, มีที่พัก สวัสดิการ เงินเดือน โค้ช และอื่นๆ อีกมากมายหลายเรื่อง การฝึกซ้อมที่มีตารางแน่นอน การทำการตลาด เป็นต้น"
โรจน์ พุทธคุณ ผู้บริหารสโมสร MS Chonburi ขยายภาพให้เห็นว่า ในปัจจุบัน อีสปอร์ต เป็นกีฬาประเภทหนึ่งไปแล้ว ที่มีโครงสร้างทางธุรกิจชัดเจน ทีมอีสปอร์ต ก็มีสถานะไม่ต่างกับ ทีมกีฬาอาชีพทั่วไป
อีสปอร์ต เติบโตกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีผู้ที่ให้คนสนใจมาลงทุนเป็นจำนวนมาก แม้แต่สโมสรกีฬาดั้งเดิม อย่างเช่น ทีมฟุตบอล ก็ลงมาจับตลาดอีสปอร์ต ซึ่งเป็นแบบนี้ทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย
ดังนั้นการแบนเกมที่มีเนื้อหารุนแรงออกจากอุตสาหกรรมกีฬาอีสปอร์ต จึงไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด โดย โรจน์ พุทธคุณ มองว่าควรใช้วิธีอย่างเช่น กำหนดอายุผู้เข้าแข่งขัน รวมถึงยังตั้งคำถามถึง องค์กรต่างๆ ที่ออกมาเรียกร้องว่า มีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับอีสปอร์ตมากแค่ไหน?
"การแบนเกมรุนแรง ออกจากการแข่งขันอีสปอร์ตนั้น มันไม่สมเหตุสมผล? ที่ผ่านมา เกมมักถูกมองเป็นผู้ร้ายก่อนเสมอ เมื่อมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น หลายครั้งที่ข้อกล่าวหาเหล่านั้น ไม่เป็นความจริง สิ่งที่มีผลต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น มักเกิดจากเหตุส่วนบุคคลมากกว่า"
"ผมจึงมองว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่า เกมที่มีเนื้อหารุนแรงจะสัมพันธ์กับความรุนแรงด้านอาชญากรรม อย่างที่กล่าวหากัน มันเป็นเพียงแค่ข้ออ้างของผู้ใหญ่บางคนเท่านั้นเอง"
"ในทางกลับกัน ผมมองว่า สภาพบริบทของสังคมคือตัวแปรสำคัญมากกว่า เช่น ผู้ปกครองดูแล ให้ความรู้ ความเข้าใจ เวลา กับ เด็กๆ น้องๆ เยาวชน มากน้อยแค่ไหน การแบนเกมจึงไม่ใช่คำตอบอย่างแน่นอน"
"อย่างไรก็ตาม ผมเห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องการกำหนดอายุของผู้เล่นที่เข้ามาทำการแข่งขันในระดับโปรฯ หรือระดับอาชีพ ที่ต้องมีอายุมากกว่า 18 ปี เพราะผมมองว่า นี่คือช่วงวัยที่สามารถการตัดสินใจในการเลือกอาชีพได้ เหมือนกับนักกีฬาประเภทอื่นๆ"
จำกัดเวลาสตรีมเมอร์ = จุดจบ ?
อีกหนึ่งประเด็นที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน อย่างการจำกัดเวลาสตรีมของเหล่า สตรีมเมอร์ ที่อนุญาตให้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ด้วยความกังวลด้านปัญหาสุขภาพ
เรื่องนี้มีความเห็นจาก สตรีมเมอร์หลายท่าน ออกมาแสดงความรู้สึกไม่เห็นด้วย พร้อมชี้แจงเหตุผล อย่างเช่น "เอก" Heartrocker สตรีมเมอร์แถวหน้าของไทย ที่ชี้ว่า เกมบางเกมต้องใช้เวลาในการเล่น, ทำภารกิจนานกว่า 2 ชั่วโมงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การจะสตรีมในกรอบเวลาแค่ 2 ชั่วโมง ย่อมขัดต่อวิถีในการประกอบอาชีพของพวกเขา
ผู้บริหารของ MS Chonburi ที่มีนักกีฬาและสตรีมเมอร์อยู่ในสังกัดด้วย มองในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ ไม่ควรมีการจำกัดเรื่องระยะเวลาในการสตรีมของผู้ที่ประกบอาชีพนี้
"การห้ามสตรีมเกมติดต่อเกิน 2 ชั่วโมงต่อวันนั้น สำหรับผม มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นด้วยซ้ำ" โรจน์ พุทธคุณ กล่าวเริ่ม
"เกมเป็น Entertainment (ความบันเทิง) รูปแบบหนึ่ง การสตรีมเกม ก็เป็นเรื่องของการทำเพื่อความบันเทิงส่วนบุคคล การหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา เท่ากับว่าผู้เรียกร้อง ไม่ได้มีความเข้าใจในเรื่องเกม และ อีสปอร์ต เลย การสตรีมเกม เป็นเรื่องของการทำเพื่อความบันเทิงส่วนบุคคล"
"เพราะการสตรีมเกม มีคนที่ทำเป็นอาชีพ แบบ Full-Time จำนวนชั่วโมงยังแปรผันตามจำนวนเงินค่าตอบแทนอีกด้วย คนที่ทำอาชีพ สตรีมเมอร์ ย่อมต้องรู้จักกำหนดตารางการทำงานของตัวเอง และเข้าใจในวิธีการทำแบบของงานนั้นๆ ดีอยู่แล้ว"
"โดยหลักการการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ ควรเน้นที่การส่งเสริมเพื่อให้อุตสาหกรรมนั้นเติบโต ไม่ใช่ เป็นการออกกฎหมายเพื่อให้อุตสาหกรรมนั้นตาย"
อนาคตอีสปอร์ตไทย
ต้องยอมรับว่าเกมแนว FPS หลายๆ เกม เป็นเกมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ, ก่อให้เกิดอาชีพ และเป็นเกมที่ผู้คนจำนวนมากให้ความสนใจ ติดตามการแข่งขัน
รวมถึงอาชีพสตรีมเมอร์ เป็นความบันเทิงของใครหลายๆ คน และเป็นอาชีพทางเลือก สำหรับคนรุ่นใหม่ ที่ปรารถนาอยากเลี้ยงชีพด้วยงานด้าน สตรีมเมอร์
ดังนั้น กฎหมายควบคุมเกม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่ออนาคตวงการอีสปอร์ตไทย ว่าเดินต่อไปในทิศทางไหน?
"ความจริง มีโมเดลจากหลายประเทศ เป็นตัวอย่างให้เราเห็นมาแล้ว อย่างเช่น ญี่ปุ่น ที่มีการออกกฎหมายควบคุมว่า การเล่นเกมเป็นเพียงงานอดิเรก ทำให้อุตสาหกรรมอีสปอร์ต ค่อนข้างเติบโตช้า จนต้องมีการปรับเปลี่ยนเมื่อไม่นานมานี้"
"ในขณะที่ เกาหลีใต้ เปิดรับ และมองว่า การแข่งขัน อีสปอร์ต เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมอีสปอร์ตในเกาหลีใต้เติบโต และระบบนิเวศของอุตสาหกรรมอีสปอร์ตในประเทศเข้มแข็ง"
"ผมจึงมองว่า ในช่วงที่เกิด New Normal ขึ้นมากมาย กีฬาบางประเภทไม่สามารถจัดการแข่งขัน แต่อุตสาหกรรมอีสปอร์ตกลับเติบโต ประเทศที่มีความเข้าใจ จึงผลักดันและใช้จุดนี้มาเป็นจุดแข็งที่จะขับเคลื่อนเศรฐกิจของประเทศ"
เสียงสะท้อนจากมุมมองจาก โรจน์ พุทธคุณ ผู้บริหารสโมสร MS Chonburi จึงต้องการให้มีการศึกษาร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ดี และทำความเข้าใจเกี่ยวกับ อุตสาหกรรมอีสปอร์ตในบ้านเรา อย่างถ่องแท้
รวมถึงอยากให้มีการนำคนที่มีประสบการณ์ องค์ความรู้และเข้าใจด้านอีสปอร์ต ไปช่วยกันผลักดันกฎหมาย เพื่อให้ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
"ผมอยากให้มีการชั่งน้ำหนัก ทำการศึกษา ร่างกฎหมายอีสปอร์ตนี้ และทำความเข้าใจกับ อุตสาหกรรมอีสปอร์ตให้มากกว่านี้"
"เพราะยังมีข้อเรียกร้อง ที่ไม่สะท้อนถึงความเป็นจริงของอุตสาหกรรม และบางข้อเรียกร้องที่อยู่บนพื้นฐานของความไม่เข้าใจ บวกกับ สมมติฐานของทฤษฎีที่ยังไม่สมบูรณ์"
"การที่ใครสักคนจะเรียกร้อง หรือออกกฎหมายอะไร เขาควรต้องถามผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือไม่? ผมเชื่อว่ามีคนที่มีประสบการณ์ องค์ความรู้ และมีความเข้าใจ ในอุตสาหกรรมนี้ อีกเป็นจำนวนมาก พร้อมจะเข้ามาช่วยทำงานร่วมกัน และผลักดันให้เกิดการกฎหมายที่ตอบโจทย์กับทุกคนอย่างแท้จริง"
บทความโดย อลงกต เดือนคล้อย
โฆษณา