5 ก.ค. 2020 เวลา 09:16 • ธุรกิจ
ชวนคุยเรื่อง CPTPP กันต่อสักหน่อย ช่วงนี้ถึงข่าวเกี่ยวกับ CPTPP จะเงียบไปจากหน้าสื่อ แต่ในหน้างานนั้นยังคงมีการผลักดัน การขบเขี้ยวกันระหว่างฝ่ายต่างๆทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านอยู่อย่างเข้มข้นทุกวันนะครับ
1. อย่างล่าสุดก็เมื่อ 3 วันก่อน ทางคณะกรรมการ กกร (กรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน) เขาก็เพิ่งจัดเสวนาทำเวทีระดมความคิดเห็นกันเพื่อสนับสนุนแนวคิดการเข้าร่วมเจรจาข้อตกลง CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership)
2. โดยมีผู้เข้าร่วมในงานกว่า 200 คน ในนั้นมีทั้งเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพาณิชย์ประเทศไทย สื่อมวลชนไทย ตัวแทนจากภาคเอกชนกลุ่มต่างๆของไทย และยังมีตัวแทนทางการค้าจากทั้งเวียดนาม ออสเตรเลีย และญี่ปุ่นเข้ามาร่วมอีกด้วย
3. หัวข้อเวทีเสวนาครั้งนี้ชื่อว่า "ความตกลง CPTPP ประโยชน์ ผลกระทบ และประสบการณ์จากประเทศภาคี" ซึ่งภายในงานก็อย่างที่ทราบกันดีครับ งานนี้เป้าหมายหลักคือจัดขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นประโยชน์และข้อดีของการเข้าร่วมเจรจาในข้อตกลง CPTPP
4. ธีมและบรรยากาศหลักภายในงานจึงออกมาในลักษณะของการพยายามช่วยกันผลักดันประเด็น CPTPP ให้ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมมองเห็นถึงข้อดี และโอกาสความเป็นไปได้หากไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก CPTPP
5. จะเรียกว่าเป็นเวทีอวย CPTPP ก็คงไม่เชิง เพราะสารที่แต่ละฝ่ายซึ่งสนับสนุนประเด็น CPTPP นั้นแสดงออกมาก็เป็นไปในทำนองให้ข้อคิด และย้ำเตือนถึงโอกาสที่ไทยอาจเสียหรือหลุดลอยไปจากการปฏิเสธการเข้าเจรจา CPTPP
6. อย่างมุมมองที่ได้จากสภาหอการค้าไทยในการเปิดเวทีเสวนาครั้งนี้ เขาก็พยายามชี้ว่า ยิ่งรัฐบาลเข้าร่วมเจรจาในข้อตกลง CPTPP ช้าเราก็ยิ่งเสียโอกาสที่จะสามารถเจรจาให้ฝ่ายเราได้กำไรไปมากขึ้น เพราะตอนนี้สมาชิกในกรอบ CPTPP มันมีตั้ง 11 ประเทศแล้วที่จ่อจะเข้าร่วม
7. การเจรจาการค้าในกรอบ FTA หรือเขตการค้าเสรีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลา ยิ่งไทยมัวประวิงเวลามากเท่าไร ไทยก็เสียโอกาสมากขึ้นเท่านั้น ถ้าไทยเข้าไปร่วมเจรจาตอนนี้ อย่างเลวที่สุดไทยก็จะได้เป็นสมาชิกหมายเลข 12
8. แต่ถ้าไทยไม่เข้าร่วมเจรจา แล้วปล่อยให้เวลาล่วงเลย มัวยื้อยุดกันอยู่อย่างนี้ มีประเทศอื่นแซงคิวไทยเข้าไปร่วมเจรจาแล้วแย่งเก้าอี้หมายเลข 12 ไปจากไทยขึ้นมา วันข้างหน้าถ้าบังเอิญไทยเกิดเปลี่ยนใจอยากจะเข้า CPTPP ขึ้นมา
9. ไทยอาจจะได้เก้าอี้หมายเลข 13 หมายเลข 14 หมายเลข 15 ไปเลยนะครับ ตัวเลขนี้มีความหมายที่ร้ายแรงมาก คือ ยิ่งเราเข้าช้า อำนาจการเจรจาต่อรองของไทยเรายิ่งน้อยลง เพราะมันจะมีตัวหารบนโต๊ะเจรจามากขึ้น คิดง่ายๆว่าถ้าเราเข้าไปเจรจาตอนนี้ เราต้องดีลกับคนแค่ 11 คน แต่ถ้าเราเข้าหลังจากนี้ สมมติตัดสินใจช้าไปเข้าตอนปี 2022 เราอาจจะต้องดีลกับคนมากถึง 12 คน 13 คน หรือแม้แต่ 14 คน
10. ส่วนทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยนั้น เท่าที่ดูเขาก็ดูจะทราบดีถึงข้อกังวลที่ฝั่งภาคประชาสังคม NGO และประชาชนคนไทยเขากลัวกัน ไม่ว่าจะเรื่องเมล็ดพันธุ์พืช เรื่อง CL ยา หรือการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
11. เขาก็ยืนยันว่าโอเคถ้าไทยยังกังวลอยู่ ยังไม่อยากให้เข้าก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวทาง กกร. เขาจะพยายามตั้งทีมวิจัย ทีมศึกษาข้อดีข้อเสียเกี่ยวกับ CPTPP เพื่อหาข้อมูลมาให้แก่สาธารณะเพิ่ม จะได้ช่วยสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน (และคาดว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีด้วยที่จะได้ทำการศึกษาในสภาพแวดล้อมที่บวกปัจจัยด้านไวรัส COVID-19 เข้าไป)
12. ส่วนทางด้านเจ้าหน้าที่จากสถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทย กล่าวว่าการเข้าร่วม CPTPP นั้นทำให้เวียดนามสามารถส่งออกสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่เวียดนามเคยขาดดุลการค้าใน 9 ประเทศสมาชิก CPTPP ก็กลายมาเป็นได้ดุลการค้าภายใน 1 ปีหลัง
13. สำหรับทางทูตจากออสเตรเลียนั้นเสนอว่า CPTPP เป็นข้อตกลงที่ช่วยทำให้ GDP ของออสเตรเลียโตขึ้นมาเกินกว่า 5% สินค้าออสเตรเลียที่ส่งออกไปขายยังประเทศคู่ค้าในกลุ่ม CPTPP ก็ได้รับการยกเว้นภาษีถึง 98%
14. ทูตออสเตรเลียยังพยายามชี้ชวนอีกด้วยว่า CPTPP ในวันนี้ถือว่ามีความอลุ่มอล่วย ยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ถ้าเป็นสมัยที่สหรัฐอเมริกาเคยเป็นภาคีสมาชิกของกลุ่ม CPTPP (สมัยนั้นเรียกกันว่า TPP) ข้อกำหนดจะมีมากกว่านี้ และเข้มงวดเคร่งครัดกว่าปัจจุบันนี้อีก
15. ตอนนี้ทำอะไรก็ง่ายขึ้น จะเจรจาต่อรองทำอะไรก็ทำได้มากขึ้น เพราะตอนนี้อเมริกาไม่ได้อยู่ในกลุ่มด้วยแล้ว หากไทยสนใจจะเข้าร่วม CPTPP ทางออสเตรเลียก็พร้อมที่จะสนับสนุนไทยเต็มที่
16. อนึ่ง ไฮไลท์ของงานมันอยู่ตรงที่ข้อมูลของทางฝั่งญี่ปุ่นครับ ทาง JETRO (องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น) เขายกผลสำรวจทัศนคติของนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีต่อ ASEAN ในปี 2019 จำนวน 1,000 คนออกมาอ้าง
17. ข้อมูลนั้นชี้ว่ามีนักลงทุนญี่ปุ่นในปริมาณมากกว่า 40% ของนักลงทุนญี่ปุ่นนั้นเห็นเวียดนามดีกว่าไทย น่าไปลงทุนมากกว่าไทย ในขณะที่มีเพียง 23% เท่านั้นที่เห็นว่าไทยน่าลงทุนมากกว่าเวียดนาม
18. ทาง JETRO ยังบอกอีกว่า สาเหตุที่เวียดนามมีความดึงดูดใจ และน่าลงทุนมากกว่าไทยเป็นเพราะเวียดนามเขามี CPTPP ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นเขาก็ใช้ CPTPP เป็นเกณฑ์หนึ่งในการตัดสินใจ พิจารณาเลือกว่าจะไปลงทุนทีประเทศไหน
19. ถ้าไทยสามารถเข้าร่วม CPTPP ได้ ทางกลุ่มทุนญี่ปุ่น และนักลงทุนญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มที่จะหันกลับมาสนับสนุนไทยเช่นเดิมในระยะยาวต่อไป (แต่ถ้าไม่มี CPTPP ก็คงอาจจะหันไปหาเวียดนามแทน)
20. ซึ่งทางสภาหอการค้าไทยก็มีการพูดในทำนองที่ส่งเสริมไปทางญี่ปุ่นว่า ทางสภาหอการค้าไทยได้ปรึกษาหารือกับนักลงทุนจากหอการค้าญี่ปุ่นในประเทศไทยแล้ว สามารถยืนยันได้ว่าญี่ปุ่นเห็นไทยเป็นศูนย์กลางของการลงทุนใน ASEAN มาโดยตลอด
21. แต่ตอนนี้สถานการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว ตั้งแต่ที่เวียดนามตัดสินใจเข้า CPTPP ภูมิทัศน์การลงทุนของฝั่งญี่ปุ่นก็หันไปสนใจเวียดนามมากกว่า นักลงทุนบางส่วนเริ่มตัดสินใจเทงบไปลงทุนในเวียดนามมากขึ้น
22. ถ้าหากไทยยังต้องการที่จะโน้มน้าวให้ญี่ปุ่นเก็บเงินไว้ลงทุนแต่ที่ไทยเป็นหลักแบบเมื่อก่อน ก็ต้องมีปัจจัยส่งเสริมอื่นๆมาเป็นเครื่องดึงดูดให้กับนักลงทุน (ซึ่งนั่นก็คือข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA)
23. ทั้งนี้ที่ว่าญี่ปุ่นขู่ว่าจะหนีจากไทยไปลงทุนในเวียดนามนั้น ไม่ได้มีแค่ฝั่ง JETRO ที่ออกมาแสดงท่าทีกดดันไทยเพียงอย่างเดียวนะครับ เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาทางเอกอัครราชทูตของญี่ปุ่นก็แอบเดินทางเข้าไปที่รัฐสภาเพื่อติดต่อพูดคุยกับ ส.ส. ภายในบอร์ด CPTPP ไปรอบหนึ่งแล้ว
24. ประมาณช่วงวันที่ 18 มิถุนายน ช่วงที่ไทยเราเพิ่งตั้งบอร์ด CPTPP ของรัฐสภาขึ้นใหม่ๆนั้น ทางทูต Nashida Kazuya เขาก็รีบเดินทางเข้ามาที่รัฐสภาเพื่อพยายามทำการโน้มน้าวคณะ ส.ส. ของไทยเลย
25. ในวันนั้นทูต Kazuya ได้เข้ามาคุยกับทั้ง ส.ส. วีระกร คำประกอบ, ศุภชัย ใจสมุทร, วาโย อศวรุ่งเรือง, และกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ด้วย ทูตญี่ปุ่นพยายามบอกว่า CPTPP จะเป็นประโยชน์กับไทย บริษัทญี่ปุ่นในไทยก็มีเกือบ 6,000 บริษัทที่พร้อมจะขยายการลงทุนเพิ้่ม
26. ทูตญี่ปุ่นยังได้ทำการบ่นด้วยว่า คนไทยกลัวเรื่องพันธุ์พืช และประเด็นด้านเกษตรมากจนเกินไป ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมการเกษตรคล้ายๆไทย แต่เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ของญี่ปุ่นไม่เห็นกังวลเรื่อง UPOV1991 แบบเกษตรกรไทยเลย
27. ทูตญี่ปุ่นยังบอกอีกด้วยว่า NGO ไทยนั้นค่อนข้างสุดขั้ว หัวรุนแรง เลยทำให้คนไทยกลัว CPTPP กลัวเรื่องการผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชจาก UPOV กันไปหมด ซึ่งตรงนี้ทางญี่ปุ่นเขาก็เสนอขึ้นมาว่า สถานทูตญี่ปุ่นยินดีที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยให้ข้อมูลกับคนในบอร์ด CPTPP ของไทย (จะได้เลิกกังวล)
28. จริงๆฝ่ายญี่ปุ่นที่เข้ามากดดันไทยไม่ได้มีแค่ฝ่าย JETRO หรือสถานทูตญี่ปุ่นแต่เพียงอย่างเดียวนะครับ ญี่ปุ่นมีการจัดประชุมร่วมกับทางรัฐบาลไทย เพื่อพยายามส่งเสริม ผลักดัน (และกดดัน)ให้ไทยรีบเข้าร่วม CPTPP มานานหลายปีแล้ว
29. ตอนปี 2018 ที่ อ.สมคิดบินไปญี่ปุ่นก็ไปคุยเรื่อง CPTPP ทีนึง ล่าสุดเมื่อช่วงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาของปี 2020 นี้ทางที่ปรึกษาของรัฐบาลญี่ปุ่นก็เข้ามาล็อบบี้ อ.สมคิดเรื่อง CPTPP ไปอีกรอบหนึ่ง เพื่อกดดันให้คณะรัฐมนตรีนำเรื่องเข้าสู่วาระ
30. เมื่อเดือนมกราคม ปี 2020 คณะทำงานด้านการทูตของรัฐบาลญี่ปุ่นที่นำโดยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ Toshimitsu Motegi ก็บินมาไทยทีหนึ่ง เพื่อหารือเรื่อง CPTPP แถมยังประกาศด้วยว่าญี่ปุ่นจะคอยให้การสนับสนุนประเทศไทยเต็มที่
31. จะเห็นว่าการทำงานของฝั่งญี่ปุ่นนั้นมีหลายระดับมากที่เข้ามากดดันไทย ตั้งแต่ระดับเอกชน ระดับวิชาการ ระดับนโยบาย ไปจนถึงระดับการเมืองและการทูต แต่ละฝ่ายต่างะากันผลัดกันเข้ามาผลักดัน หารือ และกดดันไทยอยู่ตลอดอย่างไม่ขาดสาย
32. น่าสนใจมากว่าถ้าในเมื่อญี่ปุ่นเขาสนใจ และผลักดัน กดดันให้ไทยเราเข้าซะขนาดนี้ แสดงว่าไทยเราก็ต้องมีความสำคัญในทางด้านยุทธศาสตร์การค้ากับญี่ปุ่นอยู่มาก ตรงนี้ถ้าไทยเราสามารถสร้างเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ในการต่อรองระหว่างไทย-ญี่ปุ่นได้ ก็คงจะเป็นนิมิตหมายที่ดีในอนาคตได้นะครับ
References
1. บทความจากกรุงเทพธุรกิจ ชื่อ "ญี่ปุ่นชี้ CPTPP จุดเปลี่ยนลงทุน"
2. บทความจากประชาไท ชื่อ "ทูตญี่ปุ่นชวนไทยเข้า CPTPP ชี้ข้อดีบริษัทญี่ปุ่นในไทยพร้อมขยายการลงทุน UPOV1991"
3. บทความจาก Bangkok Post ชื่อ "Japan keeps CPTPP bid at the fore"
4. บทความจาก Kyodo News ชื่อ "Japan pledges support for Thailand joining Pacific trade pact"
5. บทความจาก The Nation ชื่อ "Japan to back Thai entry to trade body"
โฆษณา