8 ก.ค. 2020 เวลา 04:00 • การเมือง
เมื่อใดที่การเมืองไทยมีความผันผวน และในสถานการณ์ของความผันผวนเช่นนี้ กองทัพได้แสดงบทบาทอย่างชัดเจนเป็น “ไม้ค้ำยัน” การดำรงอยู่ของรัฐบาลแล้ว เมื่อนั้นมักจะมีข่าวเรื่องต่ออายุราชการของผู้นำทหารที่กำลังจะเกษียณเสมอ ... ข่าวเช่นนี้เกิดขึ้นทุกครั้งที่การเมืองไทยมีปัญหาเสถียรภาพ และเป็นการเมืองที่อยู่ในภาวะที่ไม่ปกติเท่าใดนัก!
แน่นอนว่า ข่าวการต่ออายุราชการผู้นำทหารนี้ ต้องเป็นตำแหน่งของผู้บัญชาการกองทัพบก เพราะเราแทบไม่เคยได้ยินข่าวถึงความพยายามที่จะเสนอต่ออายุราชการของผู้บังคับบัญชาเหล่าทัพอื่นเลย และทุกครั้งที่ประเด็นนี้ปรากฎเป็นข่าว ก็เป็นตำแหน่ง “ผบ.ทบ.” เท่านั้น ทั้งที่ในปีนี้มีการเกษียณอายุราชการของ ผบ. เหล่าทัพทั้งหมดทุกตำแหน่ง
ข่าวเช่นนี้ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ คงไม่ใช่ประเด็นหลักของบทความนี้ เพราะยังไม่อาจคาดเดาได้ว่า ในท้ายที่สุด นายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมควบคู่ด้วยนั้น จะตัดสินใจอย่างไรในอนาคต เพราะการต่ออายุราชการ ผบ. ทบ. เป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว จนแทบไม่มีรัฐบาลไหนคิดกระทำในเรื่องเช่นนี้อีก จนกระทั่งเกิดเป็นประเด็นข่าวในปัจจุบัน ฉะนั้นบทความนี้จะทดลองสำรวจปัญหาการต่ออายุราชการของผู้นำทหารที่เกิดในอดีต
ทำไมต้องต่ออายุ ผบ. ทบ. ?
การต่ออายุราชการผู้นำทหารนั้น เป็นประเด็นของตำแหน่ง ผบ. ทบ. เท่านั้น และมักไม่ใช่เรื่องของที่เกี่ยวข้องกับเหล่าทัพอื่น ซึ่งปัญหาเช่นนี้สะท้อนให้เห็นประเด็นทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ 3 ประการ คือ
1
1) ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคือ “ศูนย์กลางอำนาจ” ของการเมืองไทย ที่สามารถ “ชี้เป็นชี้ตาย” ต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาล และเป็นการยืนยันในทางภาพลักษณ์ว่า อำนาจที่สำคัญของการเมืองไทยนั้น ยังคงอยู่ในมือของผู้นำทหาร โดยเฉพาะในกรณีของผู้นำทหารบก ซึ่งปรากฎการณ์เช่นนี้เห็นชัดตั้งแต่ยุคหลัง 2475 เป็นต้นมา และยิ่งหลังจากการใช้กำลังทหารบกล้มรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในปี 2476 แล้ว การใช้กำลังจากกองทัพบกเข้าแทรกแซงการเมืองไทยจึงถูกทำให้เป็น “เรื่องปกติ” ในการเมืองไทยมาอย่างยาวนานจวบจนปัจจุบัน
2) ข่าวลือเรื่องต่ออายุราชการผู้นำทหารเป็นสัญญาณของความไม่ปกติของการเมืองไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากย้อนกลับไปพิจารณาถึงการเมืองในรัฐบาลเลือกตั้งตามปกติแล้ว ข่าวลือเช่นนี้ตอบได้ทันทีว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย และรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งมีหน้าที่จัดเตรียมนายทหารระดับสูงที่จะทำหน้าที่รับตำแหน่งต่อจากนายทหารที่เกษียณอายุราชการออกไป การต่ออายุราชการนายทหารระดับสูงเป็นได้มากที่สุดคือเป็น “ข่าวลือ” เพราะหากกระทำเช่นนั้นจริง รัฐบาลไม่เพียงจะถูกวิจารณ์อย่างมากเท่านั้น แต่อาจกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งในกองทัพได้ และอาจขยายตัวเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้นำทหาร (ที่ไม่ได้ขึ้นตามวาระ) กับผู้นำรัฐบาลอีกด้วย และอาจจบลงด้วยการรัฐประหาร
3) การต่ออายุราชการของ ผบ. เหล่าทัพท่านใดท่านหนึ่งนั้น เป็นภาพสะท้อนที่ดีถึงความเชื่อว่า เสถียรภาพของรัฐบาลจะอยู่ได้ด้วยการค้ำประกันจากตัวบุคคล หรือเป็นการสร้างความเชื่อว่า อนาคตของรัฐบาลขึ้นอยู่กับการอยู่ในตำแหน่งนี้ต่อไปของนายทหารท่านนี้เท่านั้น และยังไม่ต้องการให้นายทหารคนอื่นก้าวมาเป็นผู้ค้ำประกันรัฐบาลแทน ซึ่งเป็นดังการสร้าง “ลัทธิตัวบุคคล” ในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ ที่ความไว้วางใจทางการเมืองถูกทำให้เป็นเรื่องตัวบุคคล แต่ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะปัญหาเกิดจากสถานะของความไม่ปกติของรัฐบาลเอง และขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของกองทัพที่มีอยู่สูงในทางการเมือง จนทำให้รัฐบาลต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากกองทัพ และทั้งความสนับสนุนดังกล่าวมีนัยถึงการต้องอยู่ในตำแหน่ง ผบ. เหล่าทัพของนายทหารท่านนี้ต่อไป
บทเรียนจากอดีต
การต่ออายุราชการของนายทหารระดับสูงของกองทัพไทย เกิดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง และในแต่ละครั้งได้ส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการต่ออายุทั้งสี่ครั้งนี้ได้แก่
1) การต่ออายุราชการครั้งแรกในการเมืองไทยสมัยใหม่เกิดในปี 2515 ซึ่งเป็นการต่ออายุราชการให้แก่จอมพล ถนอม กิตติขจร ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ออกไปอีก 1 ปี เพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมกองทัพในขณะนั้น แต่ก็มิได้ต่ออายุราชการให้แก่ พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้นที่เกษียณอายุราชการพร้อมกัน และรัฐบาลได้แต่งตั้งให้พลเอกประภาส จารุเสถียร ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีตำรวจอีกตำแหน่งหนึ่ง (ยศในขณะนั้น) ซึ่งการต่ออายุครั้งนี้ทำให้เกิดรอยร้าวในหมู่ผู้นำรัฐบาลทหาร เพราะพลตำรวจเอกประเสริฐเป็นผู้นำกลุ่มการเมืองหนึ่งในขณะนั้น และความขัดแย้งนี้ต่อเนื่องจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในเวลาต่อมา
2) การต่ออายุครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี 2516 เมื่อพลเอกประภาสได้รับการโปรดเกล้าเลื่อนชั้นยศเป็นจอมพล ยังได้รับการต่ออายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกออกไปอีก 1 ปี การต่ออายุครั้งนี้นำไปสู่การประท้วง และขยายตัวเป็นความเคลื่อนไหวใหญ่เมื่อผนวกเข้ากับปัญหาการเข้าไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวรในตอนกลางเดือนมิถุนายน 2516 และกรณีนี้ได้กลายเป็นการเคลื่อนไหวที่ปูทางไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในอีกไม่กี่เดือนถัดมา
3) การต่ออายุครั้งที่สามเกิดขึ้นในปี 2523 เมื่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีมติให้ต่ออายุพลเอกเปรมในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกออกไปอีก 1 ปี ซึ่งก็คือความพยายามที่นายกรัฐมนตรีต้องการจะควบคุมกองทัพให้ได้ แต่ก็เกิดความไม่พอใจในหมู่ผู้นำทหาร และขยายตัวเป็นความขัดแย้งภายในกองทัพ ในอีกด้านก็กลายเป็นปัญหาระหว่างผู้นำทหารหนุ่ม “จปร. 7” กับพลเอกเปรม จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “กบฏยังเติร์ก ครั้งที่ 1” ในเดือนเมษายน 2524
4) การต่ออายุครั้งที่สี่เกิดขึ้นในปี 2527 เมื่อรัฐบาลพลเอกเปรมมีมติต่ออายุราชการให้พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีก 1 ปี แต่ต่อมาเกิดความขัดแย้งระหว่างพลเอกอาทิตย์และพลเอกเปรมในปัญหานโยบายลดค่าเงินบาท จึงทำให้ในที่สุดรัฐบาลตัดสินใจปลดพลเอกอาทิตย์ และกลายเป็นช่องทางให้ผู้นำทหารรุ่น 7 กลับเข้ามามีบทบาทในการทำรัฐประหารอีกครั้ง และเหตุการณ์นี้คือจุดเริ่มต้นหนึ่งที่นำไปสู่ “กบฏยังเติร์ก ครั้งที่ 2” ในเดือนกันยายน 2528
บทเรียน
การต่ออายุราชการทั้งสี่ครั้ง ล้วนนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองทุกครั้ง การต่ออายุในปี 2515 และ 2516 คือต้นทางหนึ่งที่พาการเมืองไทยไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และการต่ออายุในปี 2523 และ 2527 คือจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจทำรัฐประหารของกลุ่มยังเติร์กทั้งสองครั้ง
การต่ออายุราชการที่ดูเหมือนจะเป็นช่องทางสำหรับรัฐบาลในการ “กระชับอำนาจ” ในกองทัพ และในอีกด้านการต่ออายุดูจะเป็นการสร้างการ “ค้ำประกันเชิงอำนาจ” ให้แก่รัฐบาลได้อย่างดี แต่ผลที่เกิดขึ้นจริงกลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อรัฐบาลนั้นเองอย่างมาก
บทเรียนสำคัญจากอดีตชี้ให้เห็นในท้ายที่สุดว่า การต่ออายุราชการของผู้บังคับบัญชาระดับสูงสุดในกองทัพ มักจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “วิกฤตการเมืองไทย” อย่างที่เคยเห็นมาแล้วในประวัติศาสตร์นั่นเอง !
โฆษณา