8 ก.ค. 2020 เวลา 11:40 • ธุรกิจ
ธนาคารไทยตอนนี้ มีเงินสำรอง แข็งแกร่งแค่ไหน?
ตอนนี้ประเทศไทยสามารถรับมือกับสงคราม COVID-19 ได้ดี
จนทำให้ความกังวลเรื่องนี้ค่อยๆ ลดลง
แต่สิ่งที่น่ากลัวหลังจากนี้คือ สงครามเศรษฐกิจ ที่ตามมา
ที่ดูเหมือนว่า น่ากังวลมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะหนี้เสียในระบบการเงินที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นมากในอนาคต
หนึ่งในตัวละครสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มากที่สุดคือ
ภาคธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงระบบการเงิน และเศรษฐกิจของประเทศ
แล้วตอนนี้ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรับมือกับเรื่องนี้มากแค่ไหน
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ตัวที่จะชี้วัดว่าธนาคารพาณิชย์ สามารถรับมือกับปัญหาหนี้เสียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เรียกว่า เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio)
เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงคือ สัดส่วนของเงินที่สถาบันการเงินเตรียมไว้เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการนำเงินที่รับฝากจากประชาชนไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ
โดยเงินกองทุนนี้จะประกอบไปด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นและกำไรสะสม หุ้นบุริมสิทธิ ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน และหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ เป็นต้น
Cr. Thairath
สรุปแล้ว ถ้าสัดส่วนดังกล่าวมีค่ามาก หมายถึง ธนาคารได้กันเงินกองทุนไว้สูงเพื่อรองรับกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
หรือถ้าสัดส่วนดังกล่าวมีค่าน้อย หมายถึง ธนาคารได้กันเงินกองทุนไว้น้อยเพื่อรองรับกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
ในปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กำหนดว่า ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศต้องคงสัดส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับผลขาดทุนในภาวะวิกฤติ ที่ 12% สำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
และ 11% สำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็ก
แล้วในช่วงวิกฤติครั้งสำคัญๆ ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่เท่าไร
วิกฤติเศรษฐกิจไทยในปี 2540
ระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั้งหมด 0.47 ล้านล้านบาท
คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 9.2% ของมูลค่าสินทรัพย์เสี่ยง
วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ที่สหรัฐฯ ปี 2551
ระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั้งหมด 0.92 ล้านล้านบาท
คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13.9% ของมูลค่าสินทรัพย์เสี่ยง
สิ้นเดือนเมษายน ปี 2563
ระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั้งหมด 2.6 ล้านล้านบาท
หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 18.9% ของมูลค่าสินทรัพย์เสี่ยง
ดูแบบนี้ก็ต้องบอกว่า วันนี้สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงมีมากกว่าครั้งที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งถึง 2 เท่า
สัดส่วนนี้ไม่เพียงแต่มากกว่าข้อกำหนดขั้นต่ำที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
แต่ถือว่า ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีระดับเงินกองทุนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ มากกว่าอดีตที่ผ่านมาทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่า
ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจาก Covid-19 จะรุนแรงขนาดไหน
ความเสียหายจะมากกว่าต้มยำกุ้งหลายเท่าหรือไม่
ดังนั้นสิ่งที่หลายคนตอนนี้ทำ คือกำลังเฝ้าดูว่า ท้ายที่สุดแล้ว มันจะออกมาในรูปแบบไหน
ถ้าวันนี้ เราไปถามธนาคารหลายแห่งที่ปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ไปแล้ว ว่ามีความมั่นใจแค่ไหนว่าจะได้เงินกู้คืน แม้ว่าจะมีการเลื่อนกำหนดชำระดอกเบี้ยและเงินต้นให้แก่ลูกหนี้
เชื่อว่าจำนวนไม่น้อยก็ไม่แน่ใจว่าจะได้เงินที่ปล่อยกู้คืนไหม
แม้แต่ลูกหนี้หลายรายเองอาจยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ากิจการของเขาจะกลับมาเป็นปกติเมื่อไหร่
เพราะวันนี้ มีจำนวนลูกหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือทั้งหมด 16.3 ล้านราย
คิดเป็นยอดหนี้รวม 6.8 ล้านล้านบาท ที่ขอเลื่อนชำระหนี้ออกไปก่อน
ซึ่งเงินจำนวนนี้มันมีมากกว่าเงินกองทุนทั้งหมดในระบบเสียอีก
Cr. Thairath
ในปัจจุบัน หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีสัดส่วนประมาณ 3% ของมูลค่าสินเชื่อทั้งหมดในระบบ และหลายคนคาดการณ์ว่า NPL จะสูงขึ้นมากหลังจากที่มาตรการพักชำระหนี้ของแต่ละธนาคารได้หมดลง
เรื่องนี้ จึงทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศให้ทุกธนาคารงดการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล งดซื้อหุ้นคืนพร้อมจัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุน เพื่อสำรองเงินไว้เพิ่มสำหรับรองรับผลกระทบจากหนี้เสียที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น
สรุปแล้ว
แม้ว่าวันนี้สถานะทางการเงินของธนาคารในประเทศไทยจะแข็งแกร่งเป็นประวัติการณ์
แต่มันกำลังถูกทดสอบอย่างเข้มข้น
เพราะวิกฤติในครั้งนี้
ก็นับว่าเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์เช่นกัน..
โฆษณา