9 ก.ค. 2020 เวลา 03:10
Unknown unknown
เมื่อวานได้ฟังเรื่องสองเรื่องต่างกรรมต่างวาระ เรื่องหนึ่งตอนเช้า เรื่องหนึ่งตอนบ่าย เรื่องบ่ายเป็นคำถาม เรื่องเช้าเป็นคำตอบของกันและกันในความเห็นของผม เลยเอามาเล่าสู่กันฟังครับ..
1
ตอนบ่ายเมื่อวานผมได้มีโอกาสฟังมืออาชีพชาวฮ่องกงท่านหนึ่งเล่าถึงสมัยที่ถูกสัมภาษณ์งานตอนจะเข้าทำงานใหม่ๆในบริษัทระดับโลก ผู้สัมภาษณ์ในตอนนั้นถามเขาถึงความรู้สี่แบบ แบบที่รู้ว่าตัวเองรู้ (known known) รู้ว่าตัวเองไม่รู้ (known unknown) ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ (unknown unknown) และไม่รู้ว่าตัวเองรู้ (unknown known) ว่ามีความเห็นอย่างไรในแต่ละองค์ความรู้ โดยเฉพาะเรื่องที่สามคือ ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ หรือ unknown unknown ว่าเราจะมีทางแก้ไข รับมือหรือทำให้รู้มากขึ้นในเรื่องนี้ได้อย่างไร
ตอนที่มืออาชีพท่านนี้ถูกสัมภาษณ์เมื่อหลายสิบปีก่อน โลกสมัยนั้นก็ยังไม่ได้วุ่นวายเท่านี้ ยิ่งเมื่อเจอเรื่องโควิดก็ยิ่งทำให้เราเห็นชัดเจนว่า เรื่องที่เราไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้นั้นมีจริงและอันตรายเป็นอย่างยิ่ง ลองนึกถึงช่วงเวลาก่อนโควิด เราไม่มีความรู้และไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ในเรื่องโควิดและผลกระทบที่ตามมาในด้านต่างๆอย่างมากมาย จนเมื่อเกิดเรื่องแล้วจึงเริ่มเข้าใจ เหตุการณ์ลักษณะที่เรียกว่า black swan นั้นน่าจะเกิดมาขึ้นเรื่อยๆนับจากนี้เป็นต้นไป
แต่ที่เป็นคำถามสำคัญในการเลือกคนทำงานของบริษัทระดับโลกซึ่งมองหาคนเก่งมาทำงานด้วย เขาต้องการทักษะอะไรกันแน่ถึงถามคำถามนั้น ทำไมถึงให้ความสำคัญกับเรื่องที่ไม่รู้ว่าเราไม่รู้เป็นหลักในการเลือกคน…
เช้าเมื่อวาน ผมก็ได้ฟังรายการ mission to the moon ตอนเช้าของคุณแท้ป รวิศ ซึ่งพูดถึงทักษะสามประการที่คนทำงานยุคนี้จะต้องมี โดยอ้างอิงมาจาก mckinsey report โดยทักษะประการแรกก็คือทักษะด้าน hard skill ที่เราเข้าใจกันอยู่แล้ว เป็นองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เช่น โปรแกรมเมอร์ วิศวกรรม ฯลฯ ส่วนทักษะประการที่สองเป็นเรื่องของ soft skill เป็นด้านความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาในรูปแบบต่างๆ การทำงานร่วมกัน การสื่อสาร ฯลฯ
แต่ที่น่าสนใจคือทักษะที่สามที่ mckinsey บอกว่าสำคัญที่สุดในยุคสมัยนี้ ก็คือทักษะที่เรียกว่า meta skill เป็นความสามารถในการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง สนใจใคร่รู้ในเรื่องต่างๆ มี growth mindset ที่พร้อมที่จะเรียนรู้จากความล้มเหลวได้อย่างรวดเร็ว
2
……..
ทักษะสองประการแรกทั้ง hard และ soft skill นั้นสามารถเอามาประยุกต์ใช้กับความรู้สามแบบได้ ก็คือ known known การคิดวิเคราะห์และตัดสินใจนั้นอยู่บนข้อมูลที่มีอยู่แล้ว known unknown คือรู้ว่าตัวเองไม่รู้ก็ใช้วิธีตั้งสมมติฐาน ทดสอบและวิจัยหาข้อมูลได้ และในส่วนของ unknown known การไม่รู้ว่าตัวเองรู้นั้น การสุมหัวระดมสมอง brainstorm ก็เป็นเทคนิคที่ใช้ได้ดีในความรู้ส่วนนั้น
แต่ในยุคที่ unknown unknown เริ่มมีบทบาทและน่ากลัวขึ้นทุกวันในโลกที่ผันแปรไปอย่างรวดเร็ว การพัฒนา meta skill ที่เป็นทักษะที่สามจึงจำเป็นและมีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะเรื่องการพัฒนา growth mindset ที่สร้างความกระหายใคร่รู้ ไม่เก่งก็ฝึกได้ ไม่รู้ก็เรียนได้ ล้มเหลวก็ลุกได้ ตระหนักดีว่าอาจจะมีความไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อยู่ในโลกนี้เสมอ จึงจะรับมือกับความรู้แบบ unknown unknown ได้ดีกว่าคนอื่น
2
และอย่างที่คุณบุญคลี ปลั่งศิริ อดีตซีอีโอมือต้นๆของประเทศ ตอบคำถามผมบนเวทีว่าคนเก่งสมัยนี้วัดกันตรงไหน ในยุคสมัยแห่ง VUCA (volatility, Uncertainty, Complexity, Ambiguity) ที่มีเรื่องที่ unknown unknown เราไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ทยอยกันมาเรื่อยๆนั้น…
คุณบุญคลีบอกว่า คนเก่งสมัยนี้วัดกันที่ ability to learn ไม่ว่าในอดีตเก่งแค่ไหน มีประสบการณ์อะไรมาก่อน แต่วัดความสามารถกันเดี๋ยวนี้ ในยุคสมัยที่ประสบการณ์เดิมใช้แทบไม่ค่อยได้นั้น ความสามารถในการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆคือตัววัดความเก่งของผู้บริหารในยุค post covid นี้..
ก็น่าจะเป็นคำตอบว่าทำไมบริษัทระดับโลกถึงถามคำถามเกี่ยวกับความรู้แบบ unknown unknown เพื่อตัดสินใจรับคนครับ..
โฆษณา