9 ก.ค. 2020 เวลา 15:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Square (SQ:NYSE) - Part 1 - ตัวธุรกิจ
บริษัท Square ก่อตั้งขึ้นในปี 2009 ออกผลิตภัณฑ์แรกในปี 2012 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์คในปี 2015
ในช่วงเวลานับตั้งแต่ก่อตั้ง Square เติบโตแบบก้าวกระโดด ในปี 2015 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ บริษัทมีรายได้ $1.2 billion ในขณะที่เมื่อปีที่แล้ว (2019) บริษัทสามารถสร้างรายได้สูงถึง $4.7 billion หรือเติบโตในอัตรา 40% CAGR และเมื่อปีที่แล้วเช่นกันที่บริษัทสามารถสร้างกำไรจากการดำเนินงานได้เป็นครั้งแรก
บทความตอนแรกนี้จะอธิบายถึงตัวธุรกิจของ Square ว่าบริษัทนี้ทำอะไร และมีแหล่งรายได้จากไหนบ้าง
ตัวธุรกิจของ Square สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนหลัก คือ Seller Ecosystem และ Cash App Ecosystem
Seller Ecosystem
ถ้าคุณเป็นผู้ประกอบการร้านค้าขนาดเล็ก เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือร้านขายของเล็กๆ คุณต้องการสิ่งเหล่านี้ใช่หรือไม่
- ระบบและเครื่องรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตที่คิดค่าธรรมเนียมต่ำและไม่ซับซ้อน
- ได้รับเงินอย่างรวดเร็วเพื่อนำไปหมุนต่อในธุรกิจได้เลย
- ระบบ PoS ที่ช่วยให้คุณจัดการคำสั่งซื้อได้อย่างง่าย
- ระบบหลังบ้านที่ช่วยวิเคราะห์และสรุปผลประกอบการของร้าน
- ระบบ payroll, loyalty program, invoice, etc
- บัตรเครดิต (Square Card) ที่ลิงค์เข้ากับร้าน เอาไว้ใช้ซื้อของเข้าร้าน
- การให้เงินกู้สำหรับใช้ในธุรกิจ
- เครื่องมือที่ช่วยให้คุณทำธุรกิจ online ได้อย่างง่ายดาย
บริการทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่ Square พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ให้ร้านค้าขนาดเล็ก เริ่มต้นสร้างธุรกิจ ประกอบกิจการและขยายธุรกิจได้ง่ายขึ้น ในปัจจุบัน Square ให้บริการในตลาด สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น
Square มีจุดตั้งต้นจากการสร้างเครื่องรับชำระบัตรเครดิตที่เชื่อมต่อเข้ากับ iPhone ซึ่งจัดได้ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ไม่มีใครทำมาก่อนในตอนนั้น (เริ่ม launch ปี 2012) จุดเด่นของ Square คือการคิดค่าธรรมเนียมคงที่และชัดเจนที่ 2.75% และไม่มีค่าธรรมเนียมอื่นใดอีกที่เรียกเก็บจากร้านค้า ซึ่งแตกต่างจากสถาบันการเงินที่ออกบัตรเครดิตอย่างสิ้นเชิงที่คิดค่าธรรมเนียมจากรายย่อยในอัตราที่สูงและมีความซับซ้อนมาก
จากปี 2012 จนถึงปี 2019 ยอดการชำระเงิน (Gross Processing Volume - GMV)ในระบบของร้านค้าผ่าน platform ของ Square ก้าวกระโดดจากเพียง $6 billion มาเป็น $106 billion
รายได้ของบริษัทในส่วนของ Seller Ecosystem มีอยู่ 3 ช่องทาง
- Transaction-based fee คือค่าธรรมเนียมในการชำระเงิน
- Subscription-based fee คือค่าธรรมเนียมเรียกเก็บรายเดือน (รายปี) สำหรับบริการอื่นๆ
- Hardware คือ รายได้จากการขายเครื่อง PoS (บริษัทไม่ได้เน้นส่วนนี้)
จุดที่น่าสนใจคือ รายได้เหล่านี้ (ไม่รวม Hardware) มีความเป็น recurring income สูง
Cash App Ecosystem
Cash App คือ Application บนมือถือที่ใช้ในการส่งเงินกันระหว่างบุคคลไปบุคคล และบุคคลไปร้านค้า พูดง่ายๆคือ Cash App เป็น digital wallet แบบนึงนั่นเอง (ในประเทศไทยที่ใกล้เคียงที่สุดคือ Rabbit Line Pay, True Money) นอกจากนี้เรายังสามารถซื้อขายหุ้นแบบไม่เต็มหน่วย (Fractional) และ Bitcoin โดยไม่มีค่าธรรมเนียมการซื้อขาย (ใช่ครับ ฟรีจริงๆ - แล้วทำไมถึงฟรีบทความตอนถัดไปจะมีคำตอบครับ)
นอกจากนี้ Cash App ยังมีบัตร Cash Card (Debit Card ที่ลิงค์กับบัญชี Cash App) ที่สามารถเอาไปใช้จ่ายกับร้านค้าที่รับบัตรได้ทั้ง online และ in-store
รายได้ในส่วนนี้มาจาก
- Interchange fee คือค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากร้านค้าที่รับชำระเงินผ่าน Cash Card
- ค่าธรรมเนียมการฝากและถอนเงินสดเร่งด่วนใน Cash App
- ค่าธรรมเนียมจากการโอนเงินออกจาก Cash App ไปบัญชีธนาคาร ในกรณีที่ต้องการเงินทันที
จำนวนผู้ใช้งานที่ active เติบโตอย่างมากเช่นกัน โดย ณ สิ้นปี 2015 มีจำนวน active user เพียง 1 ล้านคน แต่ ณ สิ้นปี 2019 จำนวน active user เพิ่มเป็น 24 ล้านคน
รายได้ต่อ user ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จากปี 2015 ที่ไม่ถึง $5 ต่อปีต่อ user กลายมาเป็น $30 ต่อปีต่อ user ในปี 2019
ปิดท้ายตอนที่ 1
รู้หรือไม่ว่า ราคา IPO ของบริษัทอยู่ที่ $9 เวลาผ่านมาอีกเกือบ 5 ปี ราคาหุ้นปัจจุบันทะยานขึ้นมาที่ราวๆ $130
#Square
โฆษณา