12 ก.ค. 2020 เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
หัวใจของ 'ยุทธศาสตร์แก้จน' แบบตรงจุด (TPA) ของจีน
เปิดหัวใจยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบตรงจุดของจีน ประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่นอกจากลดความยากจนในประเทศแล้ว แต่ยังช่วยลดความยากจนทั่วโลกลงไปกว่า 70%
บทความโดย ธราธร รัตนนฤมิตศร, ประกาย ธีรวัฒนากุล | คอลัมน์ คิดอนาคต
หัวใจของ 'ยุทธศาสตร์แก้จน' แบบตรงจุด (TPA) ของจีน | กรุงเทพธุรกิจ
จีนถือเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว มีประชากรกว่าพันล้านคน จีนได้ให้ความสำคัญกับการลดความยากจนมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 1949 ผ่านการปฏิรูปและยุทธศาสตร์มาหลายแนวทาง รายงานของสหประชาชาติได้สรุปว่าประเทศจีนมีส่วนทำให้ความยากจนทั่วโลกลดลงไปกว่า 70%
เมื่อเริ่มเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ภาครัฐจีนต้องการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับ 148,000 หมู่บ้านยากจน ซึ่งครอบคลุม 80% ของคนจนทั่วประเทศ จึงได้ใช้ยุทธศาสตร์การลดความยากจนอย่างครอบคลุม (Comprehensive Poverty Alleviation)
ในช่วงปี 2001-2012 รัฐบาลจีน ริเริ่มที่สำคัญที่ส่งผลต่อการลดความยากจนหลายประการ โดยเฉพาะการยกเลิกภาษีภาคเกษตร การสร้างระบบรับประกันมาตรฐานการครองชีพขั้นต่ำในชนบท รวมถึงการสร้างระบบการรักษาสุขภาพและประกันทางสังคมสำหรับชนบท ซึ่งในช่วงปีนี้เอง คนยากจนของจีนได้ลดจำนวนลงจาก 462.2 เหลือ 99.0 ล้านคน
ต่อมาในเดือน พ.ย. 2013 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เดินทางไปเยือนเมืองเจียงซี มณฑลหูหนาน ซึ่งอยู่ตอนกลางของประเทศ ในระหว่างการเดินทางไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ขอให้รัฐบาลท้องถิ่นช่วยติดตามตรวจสอบความยากจนในระดับครัวเรือนและคนยากจนทุกคนเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดที่สุด
ในปี 2014 ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบตรงจุด (Targeted Poverty Alleviation, TPA) จึงได้เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการ ประเด็นหลักของยุทธศาสตร์นี้ คือ การค้นหาปัญหาของคนยากจนในระดับรายบุคคลและครอบครัว
โดยให้ความสำคัญกับปัญหาที่ยังไม่ได้รับการจัดการจากระบบและมาตรการแก้ไขปัญหาความยากจนในอดีต เพื่อให้ความช่วยเหลือ พัฒนาและใช้ทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดที่สุด ผ่านการออกแบบนโยบาย กลไกและสถาบันในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบตรงจุดอย่างมีประสิทธิภาพ
ยุทธศาสตร์ TPA เริ่มจากการกำหนดเป้าหมายการลดความยากจนอย่างชัดเจน ตั้งเป้าหมายจะแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารและเสื้อผ้า การศึกษา สาธารณสุข และที่อยู่อาศัยให้กับคนยากจน มุ่งให้อัตราการเติบโตของรายได้เกษตรกรในพื้นที่ยากจนจะต้องสูงกว่าอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของประเทศ พัฒนาบริการสาธารณะให้เข้าใกล้ค่าเฉลี่ยมาตรฐานของประเทศ และลดความยากจนในพื้นที่ชนบททุกแห่ง
รัฐบาลจีนได้ใช้นโยบายการลดความยากจนไว้ 5 ประการ คือ การพัฒนาอุตสาหกรรม การโยกย้ายถิ่นฐาน การชดเชยด้านสิ่งแวดล้อม (eco-compensation) การพัฒนาการศึกษา และสร้างความมั่นคงทางสังคม และหัวใจสำคัญคือการสร้างระบบเชิงสถาบัน 7 ระบบ (institutional systems) ได้แก่
- ระบบความรับผิดชอบ (accountability system)
- ระบบนโยบาย (policy system)
- ระบบการลงทุน (investment system)
- ระบบการให้ความช่วยเหลือ (assistance system)
- ระบบการเคลื่อนย้ายทางสังคม (social mobilization system)
- ระบบการดูแลที่หลากหลายรอบด้าน (multi-channel, all-around supervision system)
- ระบบการประเมินที่เข้มงวดมาก (the most strict assessment system)
1
นอกจากนี้ นวัตกรรมที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนของจีน คือ การดำเนินการแบบปูพรมลงลึกในพื้นที่ถึงระดับหมู่บ้าน โดยได้ส่งทีมงานหมู่บ้าน (Village work team) 775,000 คน เข้าไปทำงานในหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งในทีมงานประกอบด้วยข้าราชการเจ้าหน้าที่เฉลี่ย 3 คนที่จะเข้าพักที่หมู่บ้านยากจน 1-3 ปี
ในการช่วยวิเคราะห์ความต้องการของครัวเรือน จัดทำแผนการพัฒนากับครอบครัว ประสานทรัพยากรการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งทำให้สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ในระดับรายบุคคล ครอบครัวและชุมชน
ในระบบการลงทุน จีนได้ตั้งงบประมาณผ่านกองทุนพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน (special funds for poverty alleviation) ที่ระดมงบประมาณทั้งจากรัฐบาลกลางและส่วนท้องถิ่น ในปี 2016 ได้จัดสรรทุนกว่า 100 พันล้านหยวน (4.4 แสนล้านบาท) สำหรับเริ่มต้น ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ของจีน (ค.ศ.2016-2020) รัฐบาลได้เพิ่มเงินเข้าไปอีก 250 พันล้านหยวน (1.1 ล้านล้านบาท) เพื่อลงทุนและให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างตรงจุด
นอกจากนี้ สถาบันการเงินยังช่วยเพิ่มการสนับสนุน เช่น การออกพันธบัตรเพื่อสนับสนุนการย้ายถิ่นฐาน 72.6 พันล้านหยวน การให้ไมโครเครดิตกับคนยากจน 283 พันล้านหยวนสำหรับครัวเรือนยากจน 8 ล้านครัวเรือน ส่งผลให้สัดส่วนครัวเรือนยากจนเข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นจาก 2% เป็น 26.7%
แนวทางการลดความยากจนแบบตรงจุดมีลักษณะเฉพาะ คือ ผู้นำให้ความสำคัญและลงมือปฏิบัติการที่เอาจริงเอาจัง ยกให้เป็นวาระสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศ หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ความเป็นผู้นำและเอาจริงเอาจังของรัฐบาล พร้อมกันนั้นก็ดำเนินงานที่ชัดเจนครบวงจร เชื่อมโยงตั้งแต่ระดับมหภาคหรือระบบใหญ่ ไปจนถึงระดับจุลภาคหรือหมู่บ้าน ครัวเรือนและบุคคล
มียุทธศาสตร์การบรรเทาความยากจนที่หลากหลาย ทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมและเกษตรยุคใหม่ การท่องเที่ยว การเพิ่มการลงทุนปริมาณมหาศาล ดึงการมีส่วนร่วมของสถาบันการเงินและธุรกิจขนาดใหญ่ กระตุ้นความกระตือรือร้นและความคิดสร้างสรรค์ของคนยากจน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ทุรกันดาร เชื่อมโยงตลาดกับธุรกิจ E-Commerce และผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น Alibaba สร้างแรงขับเคลื่อนทางสังคมในการลดความยากจน และที่สำคัญคือการประเมินและการกำกับดูแลผู้ปฏิบัติงานอย่างเข้มข้น
1
ดังนั้น การแก้ปัญหาความยากจนของจีนจึงเข้มข้น มีประสิทธิภาพ และเห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยจากข้อมูลในปี 2018 จำนวนประชาชนจีนที่ยากจน หรือมีระดับรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศ เหลืออยู่ 16.6 ล้านคน หรือประมาณ 1.7% ของประชาชนในประเทศ
โฆษณา