12 ก.ค. 2020 เวลา 05:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
แบงก์เร่งกันสำรองป้องหนี้เสีย 'ชาติศิริ' ยอมรับรอบนี้หนักกว่าปี 40
“แบงก์กรุงเทพ” ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้เสี่ยงติดลบ 10% ยอมรับวิกฤติรอบนี้หนักกว่าปี 40 ฉุดผลดำเนินงานแบงก์วูบ หนี้เสียส่อพุ่งยาวถึงปีหน้า เร่งกันสำรองเพิ่มต่อเนื่อง มั่นใจบริหารจัดการได้ พร้อมสั่งทุกสาขาช่วยพยุงลูกหนี้ใกล้ชิด
แบงก์เร่งกันสำรองป้องหนี้เสีย 'ชาติศิริ' ยอมรับรอบนี้หนักกว่าปี 40 | กรุงเทพธุรกิจ
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า หากดูประมาณการณ์เศรษฐกิจหรือจีดีพีปีนี้ คาดว่ามีโอกาสติดลบระดับ 10 % ดังนั้นก็น่าจะกระทบต่อภาพรวมของธนาคารปีนี้ด้วย ทั้งนี้ยอมรับว่า วิกฤติครั้งนี้ ลำบากกว่าปี 2540 ที่กระทบต่อทุกเซอกเตอร์
สำหรับภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ยอมรับว่า มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับปลายปี 2562 ที่เอ็นพีแอลอยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านบาท หรือ3.4% มาอยู่ที่ ระดับ 8.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 3.48-3.5% ของสินเชื่อรวม ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ขณะที่แนวโน้มเอ็นพีแอลในระยะข้างหน้า คาดจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ และจะต่อเนื่องไปถึงปี 2564 ด้วย
“แนวโน้มเอ็นพีแอลปีนี้ ยังเห็นเพิ่มขึ้นทั้งปีนี้และปีหน้า ดังนั้นการตั้งสำรองก็ต้องให้สอดคล้องกัน และยอมรับว่าภาวะนี้ ยาก และไม่ง่ายต่อการบริหาร หากเทียบกับสถานการณ์ปกติ แต่ธนาคารก็เชื่อว่า จะสามารถบริหารจัดการสถานการณ์นี้ได้ จากมาตรการที่ทางการเตรีมพร้อมไว้ และปีที่ผ่านมา ธนาคารมมีการสร้าง ขีดความสามารถด้านต่างๆเพิ่มขึ้น ดังนั้นก็น่จะบริหารสถานการณ์นี้ได้”
ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น ในไตรมาส 2 ปี 2563 นี้ จะเห็นธนาคารยังมีการตั้งสำรองสำหรับหนี้ที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอลในStage 2 ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ไว้แล้วระดับหนึ่งด้วย​
นายชาติศิริ ยังกล่าวอีกว่า จากผลกระทบที่เกิดขึ้น ธนาคารให้ทุกหน่วยงานของธนาคารมีการติดตาม ช่วยเหลือลูกหนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารต้องดำเนินการต่อเนื่อง ไปถึงครึ่งปีแรกปี 2564
สำหรับการงดจ่ายปันผลระหว่างการ ตามนโยบายธปท. ธนาคารคงต้องงดการจ่ายปันผล ส่วนปันผลทั้งปีมีโอกาสกลับมาจ่ายหรือไม่ ยังไม่ทราบ ต้องติดตามนโยบายของธปท.ก่อน
ทั้งนี้ปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างปรับระบบ เพื่อให้สอดรับกับยุคดิจิทัล และให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ซึ่งหลังจากนี้จะเห็นธนาคารพัฒนาระบบต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดใช้งบลงทุนด้านเทคโนโลยีราว 4-6 พันล้านบาท
สำหรับ การบินไทย ยอมรับว่า เป็นลูกค้าของธนาคาร ดังนั้นขณะนี้ธนาคารก็มีการติดตามลูกหนี้ และติดตามแผนฟื้นฟูต่างๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งธนาคารได้มีการตั้งสำรองตามเกณฑ์ธปท.ไว้เรียบร้อยแล้ว
ด้านการลงทุนในต่างประเทศ หลังธนาคารมีการซื้อกิจการ ธนาคารพีที เพอร์มาตา ซึ่งเมื่อ20พ.ค. ได้ชำระเงินซื้อหุ้น เพอร์มาตาร์เรียบร้อยแล้ว กว่า 89% แล้ว และปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ สำหรับสัดส่วนหุ้นที่เหลือ ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของ ตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย
1
สำหรับผลกระทบโควิด-19 ยอมรับว่า เพอร์มาตา ก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวระดับหนึ่ง แต่เป็นระดับที่บริหารจัดการได้ ซึ่งแบงก์ได้มีการสำรองหนี้ที่มีปัญหาเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวในงานประชุมผู้ถือหุ้นธนาคารกรุงไทยว่าภาวะเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจลากยาว น่าจะส่งผลไปถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ทำให้การดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบยังต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก ในภาวะที่เผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลให้แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้น รวมถึงการพิจารณาการตั้งสำรองหนี้เสียอาจจะทยอยเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ เพื่อสร้างเสถียรภาพในระยะยาว
ในส่วนของธนาคารเองก็คงจะต้องประเมินกันเป็นระยะ โดยยังให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงเพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่งคงในระยะยาว ควบคู่กับการปรับพอร์ตสินเชื่อให้เหมาะกับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องซึ่งจะเห็นได้ว่าในปี2562 ธนาคารมีการปรับเปลี่ยนทิศทางการให้สินเชื่ออย่างมีนัยสำคัญ เน้นการเติบโตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพมากขึ้น ไปพร้อมกับการลดหนี้เสีย
“ธนาคารยังคงต้องทยอยตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ เป็นต้นไปเพื่อป้องกันความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ จากภาวะเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มชะลอตัว และโควิด-19”
โฆษณา