13 ก.ค. 2020 เวลา 04:52 • ประวัติศาสตร์
ถ้าจะมีเจ้านายสักพระองค์ที่ภาพลักษณ์ออกแนวนักเลงหน่อย ในสายตาเป้ยก็คงเป็นเสด็จเตี่ย
รู้สึกมานานแล้วว่านี่ผู้ชายไทยแบบพิมพ์นิยมชัด ๆ เลย คือ รูปหล่อ พ่อรวย เจ้าชู้ มนุษย์สัมพันธ์ดี
(เป็นมุมมองผู้เขียนนะคะ)
1
ส่วนที่ใช้คำว่าท่านนักเลง ต้องเข้าใจก่อนว่านักเลงไม่ใช่เอะอะต่อยตี ใช้คำว่าใจถึงพึ่งได้จะเหมาะกว่า
เดี๋ยวเล่าต่อไปนะว่าทำไมท่านนักเลง 🙂
เกริ่นนิด เสด็จเตี่ยที่เราจะคุยถึงในวันนี้คือ
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด และยังเป็นพระราชโอรสรุ่นแรกที่เสด็จไปศึกษาที่ยุโรป วิชาที่ท่านเลือกเรียนคือ ทหารเรือ
เราจะเรียกท่านว่าเสด็จเตี่ยตลอดบทความนะคะ
ทีนี้พอท่านเรียนจบกลับมาอายุ 20 ปี ตอนนั้นกิจการทหารเรือเราเนี่ย อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของต่างชาติ ซึ่งร.5 ท่านโปรดจ้างเข้ามาวางรากฐานทหารเรือสมัยใหม่ เสด็จเตี่ยท่านก็พบว่าฝรั่งต่างชาติผู้ปฏิบัติงานขาดความตั้งใจจริงในการพัฒนากองทัพเรือ หลักสูตรการสอนนักเรียนนายเรือต่ำ
เรียนจบหลักสูตรก็ไม่สามารถปฏิบัติงานอะไรได้
นำเรือออกน้ำลึกเองก็ไม่ได้ ใช้อาวุธสมัยใหม่ก็ไม่ได้ โดยเฉพาะทหารเรือในขณะนั้นเป็นหน่วยทหารที่มีศักดิ์ศรีต่ำกว่าทหารหน่วยอื่นซึ่งมักถูกนำไปใช้ในงานโยธา ไม่ได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้วิชาการเท่าไหร่นัก
เมื่อเสด็จเตี่ยท่านมีโอกาสได้เข้าบริหารงานจึงโปรดปรับปรุงกองทัพเรือใหม่ในทุกด้าน วางหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ เพิ่มวิชาที่จำเป็นสำหรับทหารเรือ ฝึกเพื่อให้เป็นนายทหารเรือที่เก่งกาจ
อุปสรรคต่อมาของท่านคือไม่มีผู้นิยมสมัครเป็นทหารเรือ ท่านแก้ปัญหาด้วยการให้เงินเดือนนักเรียนที่มาเรียน จึงมีผู้มาเรียนมากขึ้น
แต่....
นักเรียนส่วนใหญ่ที่มาเรียนมาเป็นคนยากจนและเป็นนักเลงที่หวังเงินเดือน เมื่อมีนักเลงมากก็มีปัญหา ท่านต้องใช้ความจริงใจตั้งใจอย่างมากในการปลูกฝังความรู้และความภูมิใจในกองทัพเรือ
เสด็จเตี่ยท่านผูกใจนักเลงเหล่านี้ด้วยการเป็นนักเลงที่เหนือกว่า...
ข้อสำคัญคือ อุปนิสัยของท่านซึ่งมีเมตตาต่อคนทั่วไปโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ คือแม้ท่านจะมีฐานันดรในความเป็นเจ้า และมีความรู้สูงกว่าใครอยู่แล้ว แต่ท่านดำเนินชีวิตในแบบที่นักเลงสมัยนั้นนิยม คือ เก่งกาจในการต่อสู้ มีคาถาอาคม ท่านฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า ที่คนสมัยนั้นยอมรับนับถือ ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนเชื่อมั่นในตัวท่าน วางใจว่าท่านพึ่งได้
1
กล่าวคือมีทั้งพระเดชและพระคุณต่อทุกคน
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความไม่ถือตัวของท่านมากมาย เช่นว่าครั้งนึ่ง มีผู้มาทูลว่าทหารเรือชั้นผู้น้อยคนหนึ่งถูกรุมต่อยตีจากคู่ต่อสู้ที่ตลาดนางเลิ้ง เมื่อท่านรู้ข่าวก็เร่งเสด็จไปที่เกิดเหตุทันที ทรงช่วยทหารเรือผู้นั้นให้รอดจากการถูกคู่วิวาทฟันด้วยการเอาตัวท่านเข้ารับคมดาบได้โดยไม่เป็นอันตราย ยิ่งทำให้ชื่อเสียงในทางวิชาอาคมแพร่ออกไปอีก
การที่ท่านไปสู่ขอผู้หญิงให้ลูกศิษย์ ในฐานะอาจารย์ไม่ใช่ในฐานะเจ้า หรือการที่ท่านแทนตัวว่าเตี่ยกับกับนักเรียน จึงเป็นที่มาของคำว่าเสด็จเตี่ยต่อมา
ความนับถือในตัวท่านเพิ่มพูนขึ้นอีกเมื่อครั้งถูกร.6 ให้ออกจากราชการ ท่านทรงเป็น "หมอพร" รับรักษาโรคทั่วไปให้ผู้คนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ บวกกับนิสัยนักเลงของท่านและความเป็นกันเอง ทำให้ใครที่ได้สัมผัสท่านเคารพท่านนัก จนพร้อมใจขนานนามท่านเป็น "หมอพรเทวดา"
เมื่อเสด็จเตี่ยท่านสิ้นพระชนม์ ความเคารพรักที่ผู้คนมีต่อท่านและความอาลัยทำให้คนพูดปากต่อปากไป จนเรื่องราวของท่านถูกแต่งเติมไปจนกลายเป็นผู้วิเศษ ยิ่งเมื่อมีคนบนบานอะไรแล้วสมหวัง ก็ยิ่งทวีความเชื่อในอิทธิฤทธิ์ท่านเพิ่มตามไป
อย่างไรก็ตามเมื่อเป้ยมีโอกาสได้เขียนมาถึงตรงนี้และหลายท่านที่ได้อ่านบทความ เป้ยอยากจะขอให้ทุกคนมองในสิ่งที่ท่านทำ คือการพัฒนากองทัพเรือ
มองจริยวัตรของท่านที่ผูกใจใครต่อใครด้วยความเมตตาไม่ถือตัว มองในความรู้ความสามารถของท่าน มากกว่าจะมองว่าท่านเป็นผู้วิเศษค่ะ
1
น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
เป้ย 13 Jul 20
มีกลอนบทหนึ่งที่เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ทรงแต่งให้พระธิดาคือพระองค์เจ้าทิพย์สัมพันธ์ ซึ่งเป็นพระชายาของเสด็จเตี่ย ในคราวที่น้อยใจทีเสด็จเตี่ยทรงมีหม่อม กลอนบทนี้ไพเราะมาก มีท่อนหนึ่งเป้ยใช้เตือนตัวเองเสมอคือ
"เขาไม่รักเราแล้วก็แล้วไป
จะไปรักเขาใยให้ป่วยการ"
1
โฆษณา